svasdssvasds

ขยี้แนวคิด 4 ตัวเต็ง หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ อีกไหม ?

ขยี้แนวคิด 4 ตัวเต็ง หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ อีกไหม ?

แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ อย่ายั่งยืน ของ 4 ตัวเต็งผู้ว่าฯ กทม. ทั้งในแง่นวัตกรรม การบริหารจัดการ และการใช้งบประมาณที่โฟกัสอย่างถูกจุด

“น้ำท่วม” ถือว่าเป็นปัญหาของกรุงเทพมาอย่างยาวนาน และเป็นอีกไฮไลต์ที่คน กทม. อยากรู้ว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคน มีแนวทางแก้ปัญหานี้แบบเจ๋งๆ อย่างไรบ้าง เพื่อทำให้ กทม.หลุดออกจากวังวนที่ซ้ำซากนี้สักที  โดยตัวเต็งทั้ง 4 ก็ได้ทำการบ้านในเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี และอธิบายแนวคิดแนวทางของตัวเองได้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้

1. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

 ผมอยากจะย้ำว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ทำแบบเดิม ถ้าเกิดมันแก้ได้ น้ำก็คงไม่ท่วมจนถึงทุกวันนี้

กทม.ใช้งบฯ ปีละหมื่นล้าน 20 ปี ก็เท่ากับ 2 แสนล้าน แต่น้ำก็ยังท่วม แสดงว่าคิดแบบเดิม ทำแบบเก่าไม่ได้แล้ว เพราะกรุงเทพฯ เป็นแอ่งกะทะ ท่อต่ำกว่าคลอง ต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งฝนใน กทม. ตกหนักมาก 15 นาทีแรกตูมเลย ยังไงก็เอาไม่อยู่ ดังนั้นต้องเอาน้ำท่วมรอระบายลงใต้ดินก่อน ที่เรียกว่า “แก้มดินใต้ดิน” ลักษณะเป็นบ่อใต้ดินขนาดใหญ่

โดยผมจะทำที่ใต้สวนจตุจักรเป็นแห่งแรก ขนาด 50 x 100 เมตร ลึก 20 เมตร คูณกันแล้วได้พื้นที่ 1 แสนลูกบาศก์เมตร จตุจักรเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซากอันดับ 1 ใน กทม. เวลาฝนตกจะลงมาอยู่ที่ใต้สวนจตุจักรก่อน พอฝนหยุดตกก็ค่อยปั๊บออกไป ทำได้ง่าย ไม่แพง แล้วเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ส่วนคำถามที่ว่า อุโมงค์ยักษ์ยังใช้งานได้ดีหรือไม่นั้น หลักการอุโมงค์ยักษ์ เป็นหลักการที่ตั้งใจจะเพิ่มพื้นที่ระบายน้ำให้ไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเร็ว เพราะคลองมันน้อยลง มันแคบ ต้องไปเพิ่มพื้นที่ใต้ดิน

แต่ปัญหาก็คือ ลักษณะการตกของฝนมันเปลี่ยนแปลงไป ถ้าตกไปเรื่อยๆ เบาๆ มันระบายทัน แต่การตกของฝนในปัจจุบัน มันเป็นห่าใหญ่ อุโมงค์ยักษ์ก็ไม่รอด วิธีแก้ปัญหาก็คือ เมื่อฝนตกห่าใหญ่ในช่วง 15 – 30 นาที ยังไงไม่มีทางไปถึงอุโมงค์ยักษ์ได้ ต้องนำมาเก็บในแก้มลิงใต้ดินก่อนครับ

ซึ่งผมมีความมั่นใจครับว่า ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก น้ำรอระบายจะดีขึ้นแน่นอน ด้วยวิธีระยะสั้นและระยะกลาง ระยะสั้นแทนที่จะรอคนไปเปิดปิดประตูน้ำ เครื่องสูบน้ำ ซึ่งไม่มีทางทัน แต่เราจะใช้ระบบอัตโนมัติผ่าน WIFI ที่จะติดตั้งทั่ว กทม. เปิดปิดประตูน้ำ ให้สอดประสานกับเครื่องสูบน้ำ ตรงนี้จะทำให้น้ำรอระบายดีขึ้น

ส่วนระยะกลางก็คือการทำแก้มลิงใต้ดิน ซึ่งวันนี้ที่วัดเล่งเน่ยยี่ ทำแล้ว ตรงนี้จะทำให้น้ำไม่รอระบายที่ในซอยบ้านท่าน ถนนหน้าบ้านท่าน แต่มารอระบายไว้ใต้ดินก่อน เหมือนเมืองอื่นๆ ที่เขาทำสำเร็จมาแล้วครับ

โดยผมมีความตั้งใจครับ หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. หลังวันที่ 22 พฤษภาคม ถ้าฝนมา ผมจะลงพื้นที่ด้วยตัวเอง ลงไปกำกับดูแลเรื่องประตูน้ำ เครื่องสูบน้ำ ในปีแรกจะค่อยๆ เปลี่ยน เพราะผมเป็นช่าง ผมรู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ผมมีความรู้ทางด้านนี้ แล้วจะเห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปีแรกแน่นอนครับ 

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

บทควาทที่เกี่ยวข้อง

2. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล

“พอดูงบการบริหารจัดการน้ำท่วมแล้ว ความรู้สึกของผมคือ อกอีแป๋นจะแตก งบที่ประเคนให้กับผู้รับเหมาที่ทำอุโมงค์ใหญ่ ปีหนึ่ง 2,000 ล้านบาท แทบไม่ถูกตัด

“แต่พอไปดูงบเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ นั่นก็คือการแก้ปัญหาน้ำท่วมในตรอกซอกซอย น้ำท่วมตามถนนที่ใช้สัญจร ผมยกตัวอย่าง งบซ่อมบำรุงสถานีสูบน้ำ ตั้งไว้ 5,000 ล้านบาท ตัดเหลือ 136 ล้านบาท งบที่เอาไว้ทำเขื่อนเวลาที่น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน ป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้าบ้านประชาชน ตั้งไว้ 3,800 ล้านบาท ตัดเหลือ 600 ล้านบาท

“งบในการบริหารดูแลท่อระบายน้ำถนนสายหลัก พอตัดเงินเดือนข้าราชการออก เหลือแค่ 177 ล้านบาททั่วกรุงเทพฯ งบที่จะซื้อเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ ตั้งไว้ 1,000 ล้านบาท ตัดเหลือ 0 แต่คลองช่องนนทรี 980 ล้านบาท ขยันทำจังเลย

“การจัดงบแบบนี้ คือไม่เห็นหัวประชาชน งบที่เอาภาษีประชาชนไปประเคนให้กับผู้รับเหมา มันไม่ใช่เรื่องของเส้นเลือดใหญ่หรือเส้นเลือดฝอย คุณคิดว่าเขาไม่รู้เหรอว่า ต้องดูเรื่องท่อระบายน้ำ เรื่องระบบย่อยต่างๆ คุณคิดว่าเขาโง่เหรอ ผมว่าไม่ใช่หรอก ผมไม่เคยคิดว่าใครโง่ แต่เป็นความจงใจหรือเปล่า ที่เอาภาษีไปประเคนให้กับผู้รับเหมา นายทุนใหญ่ มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องจัดสรรงบประมาณใหม่ ดึงออกจากปากนายทุนแล้วเอามากระจาย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชน

“แต่พอถึงเวลาที่มันต้องปรับงบ แทนที่จะตัดงบของนายทุนผู้รับเหมารายใหญ่ ซึ่งจะอยูในเครือข่ายอุปถัมภ์หรือเปล่า ไม่รู้นะ แต่ไม่ตัด แต่มาตัดงบย่อยที่มันเกิดประโยชน์กับประชาชน ที่สำคัญคือ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเข้าไปตรวจสอบว่า การบำรุงรักษาระบบระบายน้ำเนี่ย มันเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาการประมูลงานแล้วไปจ้างช่วงต่อ เพื่อฟันหัวคิวหรือเปล่า ? สุดท้ายจึงได้แต่งานไร้คุณภาพ มีการเสนอผลประโยชน์ เพื่อให้งานที่ไร้คุณภาพผ่านหรือไม่ ? ต้องมีการตรวจสอบบริษัทผู้รับเหมาแต่ละรายว่า มีศักยภาพในการทำงานนั้นๆ จริงหรือไม่ บางทีปัญหามันอาจจะไม่ได้อยู่ในเส้นเลือดใหญ่ เส้นเลือดฝอย แต่มันอาจอยู่ที่กระดูกดำๆ ก็ได้นะ”

ขยี้แนวคิด 4 ตัวเต็ง หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ อีกไหม ?

3. สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ

“ภูมิประเทศของ กทม. ทางกายภาพเป็นแอ่งกระทะ แล้วก็มีความต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง น่าจะร่วม 90 % เพราะฉะนั้นการที่เราอยู่ได้โดยที่น้ำไม่ท่วมเนี่ย มันก็เหมือนกับที่ฮอลแลนด์ ที่อัมสเตอร์ดัม เพราะว่าเรามีเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่คอยกั้นระดับน้ำ

“เขื่อนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะสูงต่ำไม่เท่ากันทั้งแนว ปกติจะสูงประมาณ 2.8 เมตร หรือ 2.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ก็เลยกั้นน้ำทะเลไม่ให้ท่วมในกรุงเทพได้ ระดับน้ำที่เคยท่วมมากสุด คือในปี 2554 ตอนนั้นประมาณ 2.5 เมตร เขื่อนกั้นได้อยู่ แต่ที่ท่วมเพราะมันมีช่วงฟันหลอของเขื่อน ช่วงที่เป็นพื้นที่ของเอกชนบ้าง ที่ที่ไม่ได้รับการซ่อมแซมบ้าง ซึ่งในส่วนนี้คนที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องเข้าไปดูแล และใช้กฎหมายที่มีในการทำแนวเขื่อนทั้ง 2 ฝั่ง ให้ครอบคลุมไม่ให้มีช่องโหว่ง

“ส่วนที่บอกว่ากลัวกรุงเทพฯ จะจม ทุกวันนี้จมอยู่แล้วครับ แต่ว่ามีเขื่อนจึงช่วยไว้ได้ เพราะฉะนั้นต้องคอยไปดูในเขื่อน ส่วนประตูระบายน้ำ การทำอุโมงค์ในการช่วยระบาย ก็ต้องใช้ประกอบกันด้วยครับ

“ส่วนคำถามที่ว่า ‘อุโมงค์ยักษ์’ ป้องกันน้ำท่วม ทุกวันนี้ยังใช้ประโยชน์ได้อยู่ไหม ใช้ได้ครับ แต่ปัญหาคือ อุโมงค์ยักษ์จะอยู่ใต้ดิน อยู่ใต้คลอง การทำงานก็คือ คลองอยู่ข้างบน อุโมงค์อยู่ข้างล่าง เวลาน้ำคลองเยอะก็จะให้ไหลลงมาข้างล่าง เพื่อให้น้ำไปได้เร็วขึ้น

“ปัญหาคือ ท่อทั้งหมดใน กทม. 6,400 กิโลเมตร มันเป็นท่อขนาดเล็กและรุ่นเก่า บางท่อก็มีการตื้นเขิน ทำให้น้ำจากหมู่บ้านไปยังคลองไม่ได้ ต่อให้มีอุโมงค์ช่วย เพราะมันไม่มีน้ำในคลองจะให้ไป

“ทางแก้ก็คือ ต้องบริหารจัดการงบฯ เพราะถ้าท่อ 6,400 กิโลเมตร ใช้งบขุดทุกปี มันเป็นไปไม่ได้ มันอยู่ที่การบริหารว่า ต้องอันนี้ก่อน อันนี้ทีหลัง เรียงๆ กันไป มันต้องทำในส่วนท่อเล็กให้มันไหล ให้มัน flow ก่อน อุโมงค์พวกนี้จึงจะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ต่อให้เรามีอุโมงค์ 20 อุโมงค์ แต่ท่อเล็กๆ ในหมู่บ้านตัน ยังไงมันก็รอระบายแน่นอน”

ขยี้แนวคิด 4 ตัวเต็ง หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ อีกไหม ?

4. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

“น้ำท่วมมันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์นะ หลักการง่ายๆ ก็คือ ฝนตกลงมา น้ำต้องไปลงที่คลอง หรือที่อุโมงค์ (ยักษ์) แต่ที่น้ำท่วม เพราะว่าระบบพวกนี้มันระบายไม่ทัน เพราะฉะนั้นถ้าเราไปลงทุนเฉพาะอุโมงค์ยักษ์ แต่ทางระบายน้ำ คลอง ไม่เคยขุดลอกเลย อย่างนี้น้ำก็ไม่มีทางไปถึงอุโมค์ระบายน้ำได้  

“ท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ มี 6 พันกว่ากิโลเมตร หากขุดลอกปีละ 3 พันกิโลเมตร 50 % ใช้เงินประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี และถ้าใช้เวลา 2 ปี ก็จะขุดลอกได้ครบทั้ง 6 พันกิโลเมตร

“ส่วนคลอง 2.7 กิโลเมตร ปัจจุบัน กทม. ขุดลอกไม่ถึง 10 % ต่อปี ซึ่งถ้ามีการขุดลอกคลองให้ลึกลงไปอีก 50 เซนติเมตร ก็จะเพิ่มความจุน้ำได้เพิ่มอีกหลายล้านลูกบาศก์เมตร เราก็ใช้คลองนี่แหละ ทำเป็นแก้มลิง

“พอคลองดีปุ๊บ ท่อระบายน้ำดีปุ๊บ ก็ต้องมาดูว่าเครื่องสูบน้ำทำงานได้ 100 % ไหม ถ้าไม่ ก็ต้องมีการแก้ไข ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์น่ะ บางทีท่อระบายน้ำเล็กไป ปัจจุบันมีขนาด 60 เซนติเมตร ก็อาจจะต้องมีการขยายท่อ หรืออย่างจุดเสี่ยง 54 จุดที่ท่วมซ้ำซาก ที่มีข้อมูลอยู่แล้ว ก็ต้องลงไปแก้ไขในทันที ขณะเดียวกันก็ต้องเตือนภัยด้วย เช่นช่วงนี้ฝนจะตกหนัก มีโอกสน้ำจะท่วม ก็ต้องแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนครับ”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

related