SpringNews สัมภาษณ์ 4 ตัวเต็ง ถ้าชนะเลือกตั้ง ค่าตั๋วรถไฟฟ้าในยุคที่เขาเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ รวมถึงอธิบายถึงวิธีที่จะทำให้ตั๋วรถไฟฟ้าถูกลงได้อย่างไร
ราคาค่าตั๋วรถไฟฟ้า เป็นอีกไฮไลต์ที่คนกรุงเทพฯ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดย 4 ตัวเต็งผู้ว่าฯ กทม. ก็ได้ระบุถึงเรตราคา และได้แจกแจงถึงวิธีบริหารจัดการที่จะทำให้ค่าตั๋วรถไฟฟ้าถูกลง กับ SpringNews ดังต่อไปนี้
1. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์
“การที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะกลัดกระดุมเม็ดแรกก็ผิดแล้ว ไปบอกว่าค่าเสาตอม่อ 88,000 ล้านบาท ต้องเป็นค่าใช้จ่ายของ กทม.และประชาชน แบบนี้ค่าโดยสารจะถูกได้อย่างไรครับ เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องดูแลประชาชน
“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ค่าวางท่อประปาหน้าบ้านเรา เราจ่ายค่าวางท่อประปาไหมครับ ไม่ต้องจ่าย แต่เราจ่ายค่าใช้น้ำประปา ฉันใดฉันนั้น เรื่องของการโครงสร้างขั้นพื้นฐาน รัฐต้องรับไป แต่เรื่องของค่าเดินรถฯ ประชาชนรับได้
“ผมเสนอค่าตั๋วรถไฟฟ้า 20 – 25 บาท เพราะถ้าค่าตั๋วรถไฟฟ้าถูก คนก็จะขึ้นเยอะ จะขึ้นเป็นล้านคนต่อวัน วันหนึ่งได้ 20 ล้านบาท ปีหนึ่งได้ 7,000 - 8,000 ล้านบาท เพียงพอต่อค่าบริหารจัดการการเดินรถฯ
“ดังนั้น กทม. ต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก แล้วประชาชนก็จะได้จ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ส่วนค่าโดยสารรถเมล์อยู่ที่ 10 – 12 บาท รวมกันแล้วเที่ยวหนึ่ง 30 บาท ไปกลับ 60 บาท 20 % ของค่าแรงขั้นต่ำ เป็นระบบขนส่งมวลชนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้”
บทความที่เกี่ยวข้อง
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ไม่ได้ ถ้าเป็นเมืองที่คนไม่เท่ากัน
เจาะลึกวิธีคิดสกลธี ภัททิยกุล จะทำให้กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ ได้อย่างไร ?
"ชัชชาติ" มองปัญหากรุงเทพ ไม่ใช่เรื่องของไสยศาสตร์ ที่นโยบายจะแก้ไขไม่ได้
แก้ปัญหาแบบเดิม ผลลัพธ์ก็เหมือนเดิม ! กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนด้วยวิธีคิดใหม่ๆ
2. สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ
“ข้อดีของผมคือการที่เคยบริหารมาก่อน ทำให้รู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ซึ่งผมก็พูดได้ว่าค่าตั๋วรถไฟฟ้าจะลดเหลือ 5 บาท แต่มันทำไม่ได้ มันจึงต้องดูความเป็นจริงด้วย
“เอาเป็นว่าตามข่าวสารที่ออกมา 65 บาท ขึ้นอยู่กับว่าใครขึ้น ถ้าถามผมในฐานะที่เป็นคนชั้นกลาง ก็มองว่าสมเหตุสมผล เพราะว่าวิ่งตั้งแต่คูคต ปทุมธานี ผ่านกรุงเทพฯ ไปสมุทรปราการ ประมาณ 50 กว่ากิโลเมตร เฉลี่ยกิโลเมตรละ 1 บาทกว่าๆ ซึ่งผมคิดว่าถูกที่สุดในบรรดาการขนส่งมวลชนทั้งหมด
“แต่สำหรับคนรายได้น้อย อาจจะแพง ก็ต้องไปดูว่า สามารถลดราคาได้ไหม ซึ่งผมเชื่อว่ามันสามารถลดได้อีก เพียงแต่จะไปลดตรงไหน เพราะมีอยู่ 2 ส่วน คือ กทม. กับเอกชนที่ดำเนินโครงการ ก็ต้องไปแบสัญญาดูว่าเขาสามารถลดราคาลงได้หรือไม่ แล้วอาจให้งานของ กทม. ตัวอื่นสนับสนุนเขาแทน
“แต่ในส่วนของ กทม. เอง เงินที่จะได้ก็อีก 30 ปีข้างหน้า (ในกรณีต่อสัมปทาน) ยกตัวอย่างเป็นตัวเลขกลมๆ 2 แสนล้านบาท แบ่งใช้หนี้ครึ่งหนึ่ง เหลือแสนล้านบาท ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าสามารถเอามาช่วยประชาชน ทำให้ค่ารถไฟฟ้าถูกลงได้ แต่ต้องดูว่าถูกลงได้เท่าไหร่ เพราะว่าเงินที่ กทม. จะได้ เป็นเงินอนาคตในอีก 30 ปีข้างหน้า
“เพราะฉะนั้นมันต้องบริหารจัดการให้ดี เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับ กทม. แต่ถามว่าลดได้ไหม ลดได้ แต่เหลือ 20 บาท เป็นไปได้ยาก คือบางทีคนที่ไม่เคยมาบริหาร อาจจะไม่ทราบตรงนี้"
3. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ
ค่าตั๋วรถไฟฟ้าไม่สามารถพูดโดยภาพรวมได้ เพราะ กทม. เป็นเจ้าของเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนสายสีอื่นๆ อยู่เหนือการควบคุม ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ผมไปดูต้นทุนมา คิดว่าราคาค่าตั๋ว 25 -30 บาท น่าจะทำได้
แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสัญญา ซึ่งจากตอนนี้ถึงปี 2572 ราคาขึ้นอยู่กับเอกชนผู้ได้รับสัมปทาน (สัมปทาน 30 ปี หมดอายุปี 2572) แต่หลังจากปี 2572 รถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดเป็นของ กทม. แล้ว กทม. จะเก็บราคาเท่าไหร่ก็ได้ แต่ปัญหาก็คือ กทม. ต้องจ้างเอกชนเดินรถเท่าไหร่
ดังนั้นก็ต้องดูว่าสัญญาจ้างเดินรถเป็นธรรมไหม แล้วมีตรงไหนที่จะปรับปรุงเพื่อคืนประชาชนให้กับประชาชนนได้ ในปี 2565 ถ้าผมได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องเจรจาแล้ว เพื่อที่จะหาวิธีว่าจะทำอย่างไรเพื่อคืนประโยชน์ให้กับประชาชนได้มากที่สุด อาจไม่รอจนถึงสัมปทานหมดอายุในปี 2572 แต่ดูภาพรวมว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนเดินทางได้ถูกที่สุด
4. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครพรรคก้าวไกล
“เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหารถไฟฟ้า คือการมีตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วม เพราะปัญหาที่ทำให้ค่าตั๋วรถไฟฟ้าแพง คือ ค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน
“คนขึ้นรถไฟฟ้าเขาไม่สนใจหรอกว่า ต้องสลับจากสายไหนไปสายไหน เขารู้แค่ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเดินทางจากต้นทางไปปลายทางเช่น 5 สถานี ไม่ว่าจะสลับสายหรือไม่สลับ เขาต้องจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งปัญหาก็คือการจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน
“แต่ตราบใดที่เราไม่รู้ข้อตกลงในการต่ออายุสัมปทาน แล้วสิ่งที่เสนอไปมันจะเป็นไปได้เหรอ ? นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ขอดูรายละเอียดในบันทึกข้อตกลงต่างๆ ร่างสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ซึ่งเป็นสายที่มีคนใช้เยอะที่สุด แล้วถ้าตั๋วร่วมกับค่าโดยสารร่วมไม่เกิดขึ้นที่สายนี้ สายอื่นๆ ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้
“ผมคิดว่าโจทย์สำคัญวันนี้ เราต้องเสนอทางออกบนพื้นฐานข้อเท็จจริงก่อน ต้องเปิดเผยรายละเอียดการต่ออายุสัมปทานว่ามี “เงื่อนไขตั๋วร่วม” และ “ค่าโดยสารร่วม” อยู่ในนั้นหรือไม่ ไม่เช่นนั้นในการแก้ปัญหาก็ต้องใช้จินตนาการหมดเลย เพราะถ้าไม่รู้รายละเอียดในร่างสัญญา ข้อเสนอที่เราพูดๆ กัน มันก็ต้องใช้จินตนาการอย่างเดียว
“ส่วนราคาค่าตั๋วนั้นจะให้เหลือ 0 บาทก็ยังได้ ก็คือเอาเงินภาษีไปอุดหนุนไง แต่คุณจะอุดหนุนแต่รถไฟฟ้าอย่างเดียวเหรอ ? ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนอีก 7 แสนคนที่ขึ้นรถเมล์ด้วยซิ เวลาเราพูดถึงระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดมันไม่ใช่แค่รถไฟฟ้านะ ยังมีรถเมล์ ยังมีเรือ มันจะต้องบริหารจัดการ สร้างความสมดุลในเรื่องนี้ให้ดี
“แต่เบื้องต้น ค่ารถไฟฟ้าจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มันต้องแก้ก่อน ก่อนที่จะคุยถึงการอุดหนุน ถ้าสัญญาไม่เป็นธรรม แต่เราคิดถึงการอุดหนุน ก็เท่ากับเอาเงินภาษีที่อุดหนุนไปป้อนเข้าปากนายทุน”