SpringNews สัมภาษณ์เจาะลึกแนวคิดและแนวทางทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนเท่ากันของวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล
ด้วยลีลาการอภิปรายที่ดุเดือดดุดัน แต่เต็มเปี่ยมด้วยข้อมูลเชิงลึก ทำให้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล เป็นอีกหนึ่งผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ โดยเขาได้ขยี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำใน กทม. จนกลายเป็น “12 นโยบายกรุงเทพ เมืองที่คนเท่ากัน” และเปิดโอกาสให้ SpringNews สัมภาษณ์อย่างเจาะลึก เพื่อให้เห็นตัวตนและนโยบายต่างๆ ของเขาอย่างครบถ้วนทุกมิติ ดังต่อไปนี้
SpringNews : ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีโรงเรียนประถมและมัธยมในสังกัดรวมกัน 437 โรงเรียน คุณมีแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาอย่างไร เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งผู้ปกครองและนักเรียน ?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : 1. การศึกษาต้องตอบโจทย์พ่อแม่ก่อน คือพ่อแม่ที่ทำงานในกรุงเทพฯ ต้องทำงานดิ้นรน หลายคนกลับบ้านดึก ทำไมโรงเรียน ห้องสมุดชุมชน หรือห้องสมุดต่างๆ ถึงไม่มีบริการในการดูแลเด็กหลังเลิกเรียน ที่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนให้กับเด็ก หากตอนเรียนตรงไหนไม่เข้าใจ ก็ซ่อมเสริม มีกิจกรรมเสริมทักษะต่างๆ เพราะเวลาที่มีน้อย มันไม่ได้สำคัญเท่ากับเวลาที่มีคุณภาพ
2. การศึกษาต้องตอบโจทย์เด็กด้วย ต้องคืนเวลาให้กับเด็ก ทำไมต้องเรียนเยอะ ทำไมต้องสอบเยอะ ถ้าการศึกษาของ กทม. ยังขโมยเวลาของเด็กไปแบบนี้ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ จะเอาเวลาไหนไปพัฒนาอาชีพ โรงเรียน กทม. เป็นสาธิตในตัวเองอยู่แล้ว อย่าเอาข้อจำกัดของกระทรวงศึกษาฯ มาตีกรอบ เป็นกะลาครอบตัวเองอีกต่อไป
3. การศึกษาจะต้องไว้วางใจคุณครูมากกว่านี้ ทุกวันนี้คุณครูไม่มีอิสระ ไม่มีอำนาจอธิปไตย สั่งหนังสือเรียนเองยังไม่ได้เลย บอร์ดบุคคลสำคัญยังต้องติดรูป พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าครูไม่ได้รับการไว้วางใจ แล้วครูจะจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้อย่างไร
บทความที่น่าสนใจ
เปิดที่มา ป้ายหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สไตล์ชัชชาติ เกิดจากการเอ๊ะ
นอกจากนั้น โรงเรียนของ กทม. ต้องกล้าประกาศว่า เป็นโรงเรียนที่ปราศจาการบูลลี่ เคารพสิทธิเด็ก เคารพความเท่าเทียมกันทางเพศวิถี ปรับปรุงเรื่องอนามัย ห้องน้ำห้องท่า น้ำดื่ม โภชนาการ
และ กทม. ต้องจัดทำงบประมาณด้านออนไลน์ที่มีคุณภาพ ที่เด็กทุกคนเข้าถึงได้ ยกตัวอย่าง ช่วงโควิด ปล่อยให้สอนออนไลน์กันตามยถากรรม ห้องสมุดต่างๆ ต้องเข้าถึงไวไฟได้ฟรี เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กทุกคน ที่สำคัญ กรุงเทพฯ จะต้องทำตั๋วอุดหนุน ที่เรียกว่าคูปองตาสว่าง ให้เด็กได้เข้าไปเปิดโลกทัศน์ ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อให้เด็กค้นหาตัวเองและเสริมทักษะในสิ่งที่เขาสนใจ
SpringNews : ปัญหาเกี่ยวกับรถเมล์ อยู่คู่กับกรุงเทพฯ มาเนิ่นนาน ที่ผ่านมาแทบจะไม่เห็นการจัดการแก้ไขอย่างชัดเจนนัก หากคุณได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเกี่ยวรถเมล์อย่างไรบ้าง ?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสอันดีที่ปัจจุบันมติ ครม.ปี 2559 ได้ยกเลิก มติ ครม. ปี 2526 แล้ว การเดินรถในกรุงเทพฯ บริษัทเอกชนสามารถขออนุญาตโดยตรงได้จากกรมขนส่งทางบก ไม่จำเป็นต้องวิ่งภายใต้ใบอนุญาตของ ขสมก.อีกต่อไป คราวนี้ในเส้นทางการเดินรถที่เรียกว่าฟันหลอ มีบ้านพักเยอะ แต่ไม่มีรถเมล์วิ่ง กทม.ก็สามารถจัดจ้างการเดินรถเมล์ในราคาถูกได้ เพื่อเอาคนจากย่านพักอาศัยป้อนเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า
แล้วก็เป็นรถเมล์ชานต่ำ ที่ผู้พิการ ผู้สูงอายุขึ้นได้สะดวก เป็นรถเมล์ EV โดยเราสามารถทำตั๋วอุดหนุนได้ เช่นค่าตั๋ว 70 บาท แต่จ่ายค่าโดยสารได้ 100 บาท เป็นต้น เดี๋ยวดูอีกทีว่า สามารถอุดหนุนได้ขนาดไหน เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนที่ใช้รถเมล์ 7 แสนคนใน กทม.
แต่ถ้าบริการสาธารณะทั้งหมดหวังจะเอากำไรจากประชาชน มันดูดเม็ดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ คุณตั้งเป้าขาดทุนได้ คุณตั้งเป้าอุดหนุนได้ แต่ต้องแลกมากับการได้รถเมล์ที่ดี
เพราะถ้ามีรถเมล์ที่ดี การใช้รถยนต์ส่วนตัว ปัญหารถติด ปัญหามลพิษ อุบัติเหตุก็จะลดลง และที่สำคัญเส้นทางการเดินรถเมล์ที่ดี ยังเป็นกลไกในการพัฒนาย่านการค้าอีกด้วย ไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจของเมืองจะถูกดูดเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีที่จอดรถ นั่นก็คือห้างสรรพสินค้า ที่มีนายทุนเป็นเจ้าของ
สมมติง่ายๆ ถ้าคุณมีฝีไม้ลายมือในการประกอบอาหาร คุณเป็นเสน่ห์ของย่านได้เลยนะ อย่างข้าวขาหมูตรอกซุง ข้าวหมูแดงสีมรกต ร้านก๋วยเตี๋ยวต่างๆ ข้าวมันไก่ประตูน้ำ เศรษฐกิจตามตึกแถวย่านการค้าที่ดี จากเส้นทางการเดินรถเมล์ที่ดี ก็จะดึงดูดร้านค้าร้านรวงต่างๆ อีกมากมาย
แต่ถ้าไม่มีเสน่ห์ของย่าน คุณจะเป็นได้แค่ส่วนประกอบของห้างฯ ถูกขึ้นค่าเช่า แล้วสุดท้ายคุณก็อยู่ไม่ไหว ทำมาเท่าไหร่ คุณก็ต้องจ่ายค่าเช่าหมด แล้วโอกาสหลุดพ้นจากความยากจนมันมีตรงไหนล่ะ คุณจะมีคุณภาพชีวิต มีรายได้ มีความมั่นคั่งที่มากขึ้นได้ไหมล่ะ
เมืองที่คนเท่ากันมันจึงเป็นจุดเริ่มต้น ถ้ากติกายุติธรรม การจัดสรรยุติธรรม มีการเติมสวัสดิการให้กับคนอย่างเป็นธรรม สุดท้ายคนที่อยู่ในเมืองจะมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น เพราะรายจ่ายเขาลดลง
คุณไม่ต้องเอาเงินที่คุณหามาได้อย่างยากลำบาก ไปสำรองกับค่าหมอแพงๆ คุณไม่ต้องเอาไปจ่ายค่าผ่อนบ้านแพงๆ แล้วต้องจ่ายค่าเดินทางวันละ 200 บาท สุดท้ายคุณแทบไม่มีเงินเหลือ แล้วความมั่นคงในชีวิตก็ไม่มี เกิดคุณป่วย ต้องไปหาหมอ ก็เป็นหนี้อีก
แล้วเมืองที่ไม่มีกำลังซื้อแบบนี้ มันก็จะไม่มีการบริโภค นี่ผมพูดถึงคนที่อยากลงทุนด้วยนะ เวลาเราพูดถึงเมือง เราต้องพูดถึงทั้งคนอยู่และนักลงทุน เมืองที่ไม่มีกำลังซื้อ เมืองที่คนไม่กล้าบริโภค มันเป็นเมืองที่น่าลงทุนตรงไหน
แต่ถ้าเมืองมีสวัสดิการที่ดี คนก็กล้าบริโภค ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เกิดการจ้างงานใหม่ๆ คนก็อยากลงทุนเพิ่มขึ้น จากเมืองที่คนเท่ากัน กลายเป็นเมืองที่มีโอกาส เมืองที่คนตั้งตัวได้ กลายเป็นเมืองที่มีความหวัง กลายเป็นเมืองแห่งอนาคตของทุกๆ คน
SpringNews : การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ เรื่องตั๋วรถไฟฟ้า เป็นอีกประเด็นที่คนกรุงเทพให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ถ้าคุณได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหารถไฟฟ้า คือการมีตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วม เพราะปัญหาที่ทำให้ค่าตั๋วรถไฟฟ้าแพง คือ ค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน
คนขึ้นรถไฟฟ้าเขาไม่สนใจหรอกว่าต้องสลับจากสายไหนไปสายไหน เขารู้แค่ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเดินทางจากต้นทางไปปลายทางเช่น 5 สถานี ไม่ว่าจะสลับสายหรือไม่สลับ เขาต้องจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งปัญหาก็คือการจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน
แต่ตราบใดที่เราไม่รู้ข้อตกลงในการต่ออายุสัมปทาน แล้วสิ่งที่เสนอไปมันจะเป็นไปได้เหรอ ? นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ขอดูรายละเอียดในบันทึกข้อตกลงต่างๆ ร่างสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ซึ่งเป็นสายที่มีคนใช้เยอะที่สุด แล้วถ้าตั๋วร่วมกับค่าโดยสารร่วมไม่เกิดขึ้นที่สายนี้ สายอื่นๆ ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้
ผมคิดว่าโจทย์สำคัญวันนี้ เราต้องเสนอทางออกบนพื้นฐานข้อเท็จจริงก่อน ต้องเปิดเผยรายละเอียดการต่ออายุสัมปทานว่ามี “เงื่อนไขตั๋วร่วม” และ “ค่าโดยสารร่วม” อยู่ในนั้นหรือไม่ ไม่เช่นนั้นในการแก้ปัญหาก็ต้องใช้จินตนาการหมดเลย เพราะถ้าไม่รู้รายละเอียดในร่างสัญญา ข้อเสนอที่เราพูดๆ กัน มันก็ต้องใช้จินตนาการอย่างเดียว
SpringNews : ราคาค่าตั๋วรถไฟฟ้า ถือว่าเป็นอีกไฮไลต์ในการหาเสียงครั้งนี้ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หลายคนบอกว่า สามารถทำให้ราคาถูกลงได้อีก เช่น 20 ตลอดสาย ในประเด็นนี้คุณมีความคิดเห็นอย่างไร ?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : จะให้เหลือ 0 บาทก็ยังได้ ก็คือเอาเงินภาษีไปอุดหนุนไง แต่คุณจะอุดหนุนแต่รถไฟฟ้าอย่างเดียวเหรอ ? ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนอีก 7 แสนคนที่ขึ้นรถเมล์ด้วยซิ เวลาเราพูดถึงระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดมันไม่ใช่แค่รถไฟฟ้านะ ยังมีรถเมล์ ยังมีเรือ มันจะต้องบริหารจัดการ สร้างความสมดุลในเรื่องนี้ให้ดี
แต่เบื้องต้น ค่ารถไฟฟ้าจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มันต้องแก้ก่อน ก่อนที่จะคุยถึงการอุดหนุน ถ้าสัญญาไม่เป็นธรรม แต่เราคิดถึงการอุดหนุน ก็เท่ากับเอาเงินภาษีที่อุดหนุนไปป้อนเข้าปากนายทุน
SpringNews : น้ำท่วม คือปัญหาเรื้อรังที่ชาวกรุงเทพต้องประสบทุกปี ทำไมที่ผ่านมาแก้ปัญหาไม่ได้สักที แล้วถ้าคุณชนะเลือกตั้ง จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : พอดูงบการบริหารจัดการน้ำท่วมแล้ว ความรู้สึกของผมคือ อกอีแป๋นจะแตก งบที่ประเคนให้กับผู้รับเหมาที่ทำอุโมงค์ใหญ่ ปีหนึ่ง 2,000 ล้านบาท แทบไม่ถูกตัด
แต่พอไปดูงบเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ นั่นก็คือการแก้ปัญหาน้ำท่วมในตรอกซอกซอย น้ำท่วมตามถนนที่ใช้สัญจร ผมยกตัวอย่าง งบซ่อมบำรุงสถานีสูบน้ำ ตั้งไว้ 5,000 ล้านบาท ตัดเหลือ 136 ล้านบาท งบที่เอาไว้ทำเขื่อนเวลาที่น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน ป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้าบ้านประชาชน ตั้งไว้ 3,800 ล้านบาท ตัดเหลือ 600 ล้านบาท
งบในการบริหารดูแลท่อระบายน้ำถนนสายหลัก พอตัดเงินเดือนข้าราชการออก เหลือแค่ 177 ล้านบาททั่วกรุงเทพฯ งบที่จะซื้อเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ ตั้งไว้ 1,000 ล้านบาท ตัดเหลือ 0 แต่คลองช่องนนทรี 980 ล้านบาท ขยันทำจังเลย
การจัดงบแบบนี้ คือไม่เห็นหัวประชาชน งบที่เอาภาษีประชาชนไปประเคนให้กับผู้รับเหมา มันไม่ใช่เรื่องของเส้นเลือดใหญ่หรือเส้นเลือดฝอย คุณคิดว่าเขาไม่รู้เหรอว่า ต้องดูเรื่องท่อระบายน้ำ เรื่องระบบย่อยต่างๆ คุณคิดว่าเขาโง่เหรอ ผมว่าไม่ใช่หรอก ผมไม่เคยคิดว่าใครโง่ แต่เป็นความจงใจหรือเปล่า ที่เอาภาษีไปประเคนให้กับผู้รับเหมา นายทุนใหญ่ มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องจัดสรรงบประมาณใหม่ ดึงออกจากปากนายทุนแล้วเอามากระจาย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชน
แต่พอถึงเวลาที่มันต้องปรับงบ แทนที่จะตัดงบของนายทุนผู้รับเหมารายใหญ่ ซึ่งจะอยูในเครือข่ายอุปถัมภ์หรือเปล่า ไม่รู้นะ แต่ไม่ตัด แต่มาตัดงบย่อยที่มันเกิดประโยชน์กับประชาชน ที่สำคัญคือ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเข้าไปตรวจสอบว่า การบำรุงรักษาระบบระบายน้ำเนี่ย มันเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาการประมูลงานแล้วไปจ้างช่วงต่อ เพื่อฟันหัวคิวหรือเปล่า ? สุดท้ายจึงได้แต่งานไร้คุณภาพ มีการเสนอผลประโยชน์ เพื่อให้งานที่ไร้คุณภาพผ่านหรือไม่ ? ต้องมีการตรวจสอบบริษัทผู้รับเหมาแต่ละรายว่า มีศักยภาพในการทำงานนั้นๆ จริงหรือไม่ บางทีปัญหามันอาจจะไม่ได้อยู่ในเส้นเลือดใหญ่ เส้นเลือดฝอย แต่มันอาจอยู่ที่กระดูกดำๆ ก็ได้นะ
SpringNews : ที่ผ่านมาคุณได้เปิดประเด็นความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บขยะ อยากให้คุณอธิบายให้เห็นถึงปัญหานี้อย่างชัดเจน รวมถึงถ้าคุณเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีการแก้ปัญหาอย่างไร ?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : ปัญหาขยะที่ประชาชนเจอ คือรถเก็บขยะไม่มาเก็บตามกำหนด ทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดข้อสงสัยว่า รถขยะ กทม. ไปดูแลการเก็บขยะให้ห้างใหญ่ๆ นายทุนห้างสรรพสินค้าหรือเปล่า ? ดังนั้นเราก็ต้องกลับมาดูว่า ค่าธรรมเนียมการเก็บขยะมันเป็นธรรมไหม ?
ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ผลิตขยะออกมาเป็นตันๆ เนี่ย บางทีจ่ายค่าเก็บขยะแค่ไม่กี่หมื่นบาท ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผล ดังนั้นค่าเก็บขยะจะต้องถูกปรับ สำหรับนายทุนห้างฯ ขนาดใหญ่ ที่ผลิตขยะออกมาเป็นจำนวนมาก ค่าเก็บขยะต้องเพิ่มขึ้นอย่างสมเหตุสมผล เราจะได้เอาเงินก้อนนี้มาปรับปรุงจุดทิ้งขยะให้กับบ้านเรือน แล้วต้องดำเนินการเก็บขยะตามกำหนดให้ได้ ปรับปรุงการเก็บขยะให้กับครัวเรือน เคหะต่างๆ ให้สมเหตุสมผล ไม่ใช่ไปดูแลแต่นายทุนห้างสรรพสินค้า
ถ้ากติกามันเป็นธรรม เช่น หากค่าธรรมเนียมการเก็บขยะของห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้น แต่เขาสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ หรือถ้ามีคัดแยกขยะ ค่าธรรมเนียมลดลง ก็จะสร้างแรงจูงใจให้คนตัวใหญ่ที่มีศักยภาพในการช่วยบริหารเมือง ในการช่วยจัดการขยะ คนตัวใหญ่กับคนตัวเล็กก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก
ไม่ต้องนำภาษีของประชาชนไปแบกค่าเก็บขยะให้กับนายทุน งบประมาณค่าจัดการขยะของกรุงเทพฯ 12,000 ล้านบาทต่อปี แต่เก็บค่าเก็บขยะได้แค่ 500 ล้านบาท มันไม่สมเหตุสมผล อย่างเขตปทุมวัน ศูนย์กลางทุนนิยมของกรุงเทพมหานคร มีห้างฯ มีโรงแรมเต็มไปหมด เก็บค่าขยะได้ 11 ล้านบาท แต่เขตคลองสามวา เขตเกษตรกรรม เก็บค่าขยะได้ 14 ล้านบาท เขตประเวศ เก็บค่าขยะได้ 15 ล้านบาทเศษ บึงกุ่ม เก็บค่าขยะได้ 16 ล้านบาท พอกติกามันไม่เป็นธรรม มันก็บริหารจัดการไม่ได้ไง
การบริหารเมืองมันไม่ใช่การบริหารบริษัทเอกชน คุณจะคิดแต่การบริหารจัดการไม่ได้ คุณต้องคิดถึงการบริหารงบประมาณด้วย ถ้าคุณจัดสรรงบประมาณไม่ลงไปที่ประชาชน ไม่เกิดประโยชน์ทางตรงกับประชาชน มันก็ไม่เป็นธรรม คุณต้องคิดถึงกติกาที่เป็นธรรม เพราะถ้ากติกาไม่เป็นธรรม คุณจะบริหารเมืองได้อย่างไร
รู้หรือไม่ว่า ขยะเปียกที่เกิดจากอาหาร มันเกิดจากห้างฯ ใหญ่ประมาณ 40 - 50 % แต่ปรากฏว่ากลับไปรณรงค์กับครัวเรือนก่อน ทำไมไม่เริ่มต้นจากกลุ่มนายทุนเพียงไม่กี่คนที่ผลิตขยะเปียก หรือขยะจากเศษอาหารมากถึง 40 - 50 % ของขยะทั้งหมดล่ะ เว้นวรรคให้นายทุนทำไม
ถ้าไม่กล้าสร้างกติกาที่เป็นธรรม ก็จะไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้คนตัวใหญ่มาร่วมกันพัฒนาเมืองได้ มาร่วมแก้ปัญหาของเมืองได้ หากทำแต่โครงการรณรงค์ผิวๆ สุดท้ายก็จะเป็นการผลักภาระให้ประชาชน ทั้งการอาสาและการบริจาคต่างๆ สร้างกฎกติกามาใช้บังคับกับประชาชน แต่ละเลยที่จะจัดการกับนายทุนคนตัวใหญ่ๆ
เมืองแบบนี้ ความไม่เป็นธรรมอย่างนี้ ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ความยั่งยืนคืออะไรครับ กติกาที่เป็นธรรมกับทุกๆ คนใช่หรือเปล่า แต่ถ้าเกิดกติการมันเว้นวรรคสำหรับบางคน ให้อภิสิทธิ์สำหรับบางคน ให้คนบางกลุ่มเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ อย่างนี้ผมไม่เรียกว่าความยั่งยืน ยิ่งอยู่ยิ่งถูกเอาเปรียบ ยิ่งอยู่ก็ยิ่งสิ้นหวัง
SpringNews : แล้วปัญหาเรื่องทางเท้าชำรุดทรุดโทรมสุ่มเสี่ยงให้เกิดอันตรายในหลายๆ พื้นที่ ทำไมยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเสร็จสิ้นเสียที
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : ผมขอตั้งคำถาม ทำไมทางเท้าหน้าบ้านเรามักจะเป็นปัญหาเสมอ แต่ทางเท้าหน้าห้างใหญ่ๆ มักจะเรียบ แล้วทางเท้าในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อย่างวัดพระแก้ว ก็จะเรียบ ทั้งๆ ที่สเปคเดียวกัน ราคาเท่ากัน วัสดุที่ใช้ก็อยู่ในสเปกเดียวกัน แล้วทำไมทางเท้ามันเรียบเท่ากันทั้งกรุงเทพฯ ไม่ได้ ?
ในวงเสวนามักจะพูดกันว่า มาจากปัญหาวิศวกรรมบดอัดไม่ได้จำนวนรอบ ใช้ทรายผิดประเภท ขุดบ่อล้อมต้นไม้ไม่ลึกพอ ผมขอตั้งคำถามเถอะ งานทางเท้ามันเป็นงานขั้นพื้นฐานทางวิศวกรรม มันไม่ใช่สร้างตึกสูง 40 -50 ชั้น ไม่ใช่สร้างอุโมงค์ยักษ์ ลึกลงไปใต้ดิน 20 - 30 เมตร
ผมจึงคิดว่าปัญหามันไม่ได้อยู่ที่งานวิศวกรรม ปัญหามันอยู่ที่การตรวจรับหรือเปล่า ? การรับงานไปแล้วก็ไปฟันหัวคิวหรือเปล่า ? สุดท้ายก็ส่งมอบทางเท้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
ฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าเรารู้ปัญหาที่ตรงจุด เราจะแก้ได้ตรงจุด ถึงเวลาที่ต้องใช้หน่วยงานอิสระในการตรวจรับงาน หน่วยงานที่เป็นบุคคลที่สาม ที่เข้าใจหลักวิศวกรรมเข้ามาตรวจรับงาน ดังนั้นผมคิดว่ามันต้องแก้ที่ขบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
SpringNews : ปัญหาที่ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของชาวกรุงเทพเป็นอย่างมาก ก็คือมลพิษทางอากาศ อาทิ ฝุ่น PM 2.5 ถ้าคุณเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เนี่ย ผมคิดว่าเราต้องเจาะให้ลึกนะ คนที่ได้รับผละกระทบมากที่สุดคือ คนตัวเล็กตัวน้อย คนที่ต้องตรากตรำทำงานกลางแจ้ง คนเหล่านี้สร้างมลพิษน้อยที่สุด เพราะไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัว ใช้พลังงานน้อยที่สุด ค่าไฟที่บ้านก็ถูกที่สุด แต่ปรากฏว่าเขาต้องมาดมฝุ่นดมควันกลางแจ้ง กลับได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด
นี่คือสภาพที่ Unfair อยุติธรรม เรื่องนี้ผมคิดว่าต้องเริ่มแก้ที่ขั้นพื้นฐาน ได้แก่ โรงงานในกรุงเทพฯ ทั้งมลพิษทางอากาศและทางน้ำ หากมีการปล่อยควันพิษเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด (ไม่มีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำ) เริ่มต้นด้วยการตักเตือนให้ปรับปรุง แต่ถ้าไม่ปรับปรุง ก็ต้องปิดชั่วคราว จนกว่าจะมีการปรับปรุง
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ เราก็ต้องพูดถึงเรื่องกลิ่นขยะจากโรงกำจัดขยะอ่อนนุช ที่สร้างปัญหาให้กับคนในเขตประเวศ สวนหลวง และบางส่วนของเขตลาดกระบัง ทั้งๆ ที่อยู่ในอำนาจการกำกับดูแลของบริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทของกรุงเทพมหานคร แต่ทำไมสร้างมลพิษได้ขนาดนี้ ทำไมคุณไม่ตามผู้รับเหมามาจัดการ หรือมาซ่อมแซมแก้ไขระบบบำบัดกลิ่นล่ะ ทำให้ประชาชนสงสัยว่าบริษัทที่รับเหมาฯ หรือกรรมการในบริษัทดังกล่าว เป็นนายทหารระดับสูง รู้จักกับ พล.อ.อนุพงษ์ รู้จัก พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.ประยุทธ์ หรือเปล่า คือเขาอาจจะรู้จักกัน หรือไม่รู้จักกันก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่สาระ แต่สาระก็คือถ้าปัญหาเป็นของคุณ คุณก็ต้องมาแก้ ดังนั้นผมคิดว่า ผู้ว่าฯ กทม.ต้องมีความกล้าหาญ ตรงไปตรงมา กับโรงงานที่สร้างมลพิษเกินค่ามาตรฐาน
และปัญหา PM 2.5 ส่วนหนึ่งมาจากรถบรรทุก แล้วรถบรรทุกเหล่านี้ก็มีบริษัทนายทุนต่างๆ ครอบครองอยู่ ผมคิดว่าผู้ว่าฯ กทม.จะต้องตัดสินใจได้แล้วว่า มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะห้ามรถบรรทุกที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนด Euro 4 และไม่ยอมติดเครื่องกรองเขม่า ห้ามเข้ามาในเมืองช่วงเวลา 6.00 – 21.00 น.
ผมคิดว่ามันไม่ยากเกินไปหรอกสำหรับบริษัทต่างๆ ที่จะติดอุปกรณ์กรองเขม่า (Diesel Particulate Filter) ราคาแค่หมื่นกว่าบาท หรือ 2 หมื่นบาท คุณลงทุนเถอะ เพื่อให้คนที่เดินถนน เขาได้มีอากาศที่ดี
SpringNews : ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการพูดถึงการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม มาพัฒนาและแก้ปัญหาให้กับกรุงเทพฯ เยอะมาก และถ้าคุณได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากน้อยอย่างไร ?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : ในวันนี้สิ่งสำคัญที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ คือบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ดี ถ้าเกิดสิ่งสำคัญที่สุดยังดีไม่ได้ แล้วคุณใส่เทคโนโลยีเข้าไป ผมคิดว่ามันจะเป็นผักชีโรยหน้า
ถ้าทางกายภาพมันยังไม่ดี เรื่องพื้นฐานมันยังไม่ดีเลย คุณเติมเทคโนโลยีเข้าไป ก็จะเสียงบประมาณ ผมว่า ณ วันนี้คนกรุงเทพฯ กลัวและขยายกับคำว่าอัจฉริยะมากนะ เพราะมันไม่อัจฉริยะจริง เหมือนกับเครื่องจักรคุณเก่ามากๆ จะพังอยู่แล้ว และคุณไปใส่เซ็นเซอร์ มันจะมีประโยชน์อะไร
ดังนั้นผมจึงคิดว่าโครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณะต้องทำให้ดีก่อน แต่เทคโนโลยีมันต้องทำอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การเพิ่มสิทธิในการรู้ให้กับคนกรุงเทพ เช่น ปัญหาการเกิดมลพิษในเขตต่างๆ มันต้องมีระบบสารสนเทศที่เข้าไปตรวจสอบได้ เขาจะได้รู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร
หรือเรื่องของข้อมูลด้านการจราจร ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วม การระบายน้ำ คือผมช็อกมากๆ นะ เมื่อเห็นงบสารสนเทศที่ขอเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม ขอไป 300 ล้านบาท ถูกตัดเหลือ 60 ล้านบาท
ดังนั้นเนี่ยเทคโนโลยีเบื้องต้นคือ สิทธิที่จะรู้ ทั้งปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาน้ำท่วม ท่วมแล้วจะระบายภายในกี่นาที การจราจร รถเมล์กำลังจะมาภายในกี่นาที ต้องมีความแม่นยำตรงนี้
นี่คือเบื้องต้นก่อน แล้วหลังจากนี้ ค่อยใช้ระบบ IoT หรือ Internet of Things ในการบริหารจัดการที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การระบายน้ำ ในการบริหารเปิดปิดประตูน้ำ ให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด จะเปิดจุดไหน จะปิดจุดไหน เพื่อระบายน้ำให้เร็วที่สุด จะต้องลงทุนในเรื่องพวกนี้ด้วยครับ
SpringNews : แนวทางการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสร้างเมืองที่ทุกคนเท่ากัน ด้วยการกระจายงบประมาณให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด จะสามารถสร้างรายได้ให้กับ กทม. ได้หรือไม่ ?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : จาก 12 นโยบายของผม จะเน้นเรื่องกระจายงบประมาณ ผมคิดว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเอาภาษีของเราไปปรนเปรอนายทุน เพื่อแลกกับโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เช่น คลองช่องนนทรี หรือ งบทำอุโมงค์ยักษ์ปีละ 2,000 กว่าล้านบาท แต่ต้องกระจายงบลงมาในโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชน
การจัดสรรงบประมาณใหม่ยังไม่พอ แต่เราต้องทำให้ประชาชนมีอำนาจเพิ่มขึ้นด้วย โดยดึงเอาจากงบราชการรวมศูนย์ ที่ฝังตัวอยู่กับสำนักงานเขต หรืองบกลางผู้ว่าฯ กทม. กระจายลงมา เป็นงบที่ให้ประชาชนเลือกเองได้ ให้ประชาชนได้โหวตว่าจะใช้งบแก้ปัญหาอะไร จะทำโครงการอะไรเพื่อตอบโจทย์ของพวกเขา
ซึ่งจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เขาอยู่ในเมืองนี้ในฐานะเจ้าของเมือง ปัญหาที่เห็นชั่วนาตาปีได้รับแก้ไขพร้อมกันทั้งที่ 50 เขต 2 พันชุมชน เพราะเขามีอำนาจแล้ว เพราะเขามีงบประมาณ เพราะงบประมาณมันถูกกระจายจากรัฐราชการรวมศูนย์มาสู่เมือง คือประชาชนอย่างแท้จริง
ประชาชนก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นในฐานะผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ผู้ถูกปกครองในเมืองนี้ มีความเป็นเจ้าของเมืองมากขึ้น เมืองก็มีความหวังมากขึ้น อยากจะอยู่เมืองนี้มากขึ้น นี่คือการเรียกความเชื่อมั่นให้กับคนในเมือง
และผมเชื่อว่า ถ้าผู้ว่าฯ กทม. ที่ชื่อวิโรจน์ สามารถกระจายงบจากส่วนกลางไปที่ประชาชนได้เมื่อไหร่ ในอนาคตจะไม่มีผู้ว่าฯ หน้าไหน กล้าสูบกลับจากประชาชนเข้าไปที่ส่วนกลางอีก นี่คือกระดุมเม็ดแรกที่ต้องกลัดให้ถูกต้อง
เรื่องต่อมา ทำไมเราถึงพูดถึงสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มภาษีที่ดิน แล้วเอาไปสมทบเพิ่มให้กับสวัสดิการ เบี้ยผู้สูงอายุ ค่าเลี้ยงดูบุตร ดูแลคนพิการ เช่น ผู้สูงอายุ เราก็จะเติมให้ครบ 1,000 บาทต่อเดือน สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 1 ปี จะเติมให้ครบ 1,200 บาทต่อเดือน เพราะการกระจายอำนาจ คือการกระจายงบประมาณมาที่มือประชาชน ประชาชนก็จะเชื่อมั่นมากขึ้น มีหวังกับเมืองเมืองนี้มากขึ้น
และต้องเข้าใจก่อนว่า สวัสดิการกับการสงเคราะห์มีความแตกต่างกัน อย่างนโยบายฉีดวัคซีนปอดอักเสบให้กับผู้สูงอายุ (1 ใน 12 นโยบายของวิโรจน์) ถ้าคุณอยู่ในวัยทำงาน พอคุณรับรู้ว่า พ่อแม่จะได้รับการดูแลที่ดี คุณก็กล้าวิ่งตามความฝัน คุณก็กล้าอัพสกิล กล้าบุกเบิกงานของคุณอย่างเต็มที่ ยิ่งถ้าคุณมั่นใจว่า เมื่อแก่ตัวลง คุณจะได้รับการดูแลจากเมืองเมืองนี้ คุณก็ยิ่งมีแรงบันดาลใจทำตามความใฝ่ฝัน
และที่สำคัญที่สุด คือ บ้านคนเมือง (1 ใน 12 นโยบายของวิโรจน์) คุณไม่ต้องเอาเงินที่คุณหามาได้ด้วยความยากลำบาก ไปจ่ายค่าผ่อนบ้าน ไปหมดกับค่าเดินทาง บางคนไปอยู่ตั้งไกล แล้วยังต้องเสียค่าเดินทางวันละ 200 บาท เงินที่คุณหาได้ด้วยความเหนื่อยยาก คุณต้องเอาไปผ่อนบ้าน 30 ปี คุณต้องเอาไปจ่ายค่าเดินทาง
หรืออย่างนโยบายอุดหนุนรถเมล์ ก็เพราะเราต้องการทำให้ค่าครองชีพของคนกรุงเทพถูกลง พอค่าครองชีพถูกลง คนก็มีสิทธิที่จะอยู่ในเมือง รายได้คุณก็เพิ่มขึ้น กำลังซื้อก็เพิ่มขึ้น การบริโภคก็เพิ่มขึ้น ยิ่งเมืองมีสวัสดิการที่ดี ความกล้าที่จะบริโภคก็เพิ่มขึ้นด้วย
แล้วเมืองแบบนี้ก็จะเป็นเมืองที่มีโอกาสในการลงทุน เงินออมที่มากเพียงพอก็จะถูกแปรเอามาเป็นเงินลงทุน พอการลงทุนเกิดขึ้น ก็จะเกิดธุรกิจสร้างสรรค์ใหม่ๆ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มีซัพพลายเออร์ใหม่ๆ มีคู่ค้าใหม่ๆ มีแหล่งลงทุนใหม่ๆ
อย่างกรณีคนมีเงินขนเงินไปลงทุนต่างประเทศ ก็เพราะมันไม่มีธุรกิจที่น่าสนใจใหม่ๆ เกิดขึ้นในประเทศ ดังนั้นเมื่อมีการลงทุนใหม่ๆ ก็จะมีการจ้างงานใหม่ๆ มีการจ้างแรงงานทักษะสูงใหม่ๆ เมืองแบบนี้คือเมืองที่มีความหวัง เมืองที่น่าลงทุน ทุกคนรู้สึกว่าได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการดูแล เมืองที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นคนเหมือนกัน เป็นคนเท่ากัน มีโอกาสที่จะตั้งตัวได้ มีโอกาสที่จะมั่งคั่งได้ มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากความยากจนได้ นี่แหละคือเมืองแห่งอนาคต ที่ผมและ ส.ก.ก้าวไกล ต้องการทำให้เป็นจริง
ดังนั้นผมอยากให้มองว่า เรื่องการจัดสวัสดิการ ไม่ใช่เรื่องของการสงเคราะห์ แต่เป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเมืองได้อีกด้วย ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำ มันสูบกำลังซื้อออกไปเรื่อยๆ ผู้บริโภคก็คือประชาชน แบกแต่หนี้เต็มไปหมด ไม่มีกำลังการบริโภค
และถ้าไม่มีสวัสดิการ ในอนาคตก็จะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่ไม่มีเงิน เด็กตาดำๆ ที่อยู่ตามตรอกตามซอย ถ้ายังอยู่ในระบบนิเวศน์แบบนี้ เขาต้องโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดศักยภาพที่จะทำตามความฝัน ขาดศักยภาพในการแข่งขัน
เมืองแบบนี้ มันเป็นเมืองที่น่าลงทุนเหรอ ต่อให้คุณมีเงิน ต่อให้คุณเป็นคนรวย คุณก็ไม่อยากที่จะอยู่ใช่ไหม คุณอยากจะเอาเงินไปลงทุนที่อื่นที่คุณมีโอกาส แล้วทำไมคุณไม่สร้างโอกาสในเมืองเมืองนี้ซะเองล่ะ ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ แล้วคืนเมืองที่คนเท่ากัน คืนความเสมอภาค คืนความเป็นธรรมให้กับคน เมืองที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน ทั้งคนจนและคนรวย
SpringNews : หากให้ประเมินตัวเอง คุณคิดว่าจุดแข็งและจุดอ่อนของคุณในการสมัครผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้คืออะไร ?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : ผมว่าจุดอ่อนจุดแข็งของผม คือจุดเดียวกัน แล้วแต่มุมมอง ผมเป็นคนที่อดรนทนไม่ได้ เมื่อเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้น ผมอดรนทนไม่ได้ ที่เห็นประชาชนตกอยู่ในสภาพที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ แล้วผมพร้อมที่จะแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่หวั่นเกรงกับผู้มีอำนาจ และไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใคร
คนที่เป็นผู้แทนของประชาชนต้องกล้าหาญที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ผมไม่ใช่คนที่จะอ้างความเป็นกลางแล้วลอยตัวเหนือความขัดแย้ง เพราะผมเชื่อว่า การลอยตัวเหนือความขัดแย้ง แล้วอ้างความเป็นกลาง มันไม่ใช่เป็นกลางจริงๆ แต่เป็นการไม่ใส่ใจ เป็นการปล่อยให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ แกล้งหลับตาข้างเดียว ไม่แยแส ไม่ใส่ใจใยดี รักตัวกลัวตาย
ในช่วงเวลาที่ประชาชนอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผ่านการจัดสรงบประมาณที่มันไม่แฟร์ ผมคิดว่า ประชาชนต้องการผู้ว่าฯ กทม. ที่ยืนเคียงข้างเขา พร้อมที่จะแก้ปัญหาในสิ่งที่เขาแก้ไม่ได้ ที่ต้องเจอกับเครือข่ายอุปถัมภ์ นายทุนใหญ่ เขาจึงฝากอำนาจให้กับผู้ว่าฯ กทม. ในการแก้ปัญหาที่เขาแก้ไม่ได้
ผมคิดว่านี้คือจุดแข็งของผมนะ ที่พร้อมจะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน บริหารจัดการงบประมาณทั้งหมด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่มีนายทุนคนไหนมีบุญคุณกับผม ผมจึงทำงานได้อย่างสบายใจ ทำงานได้อย่างตรงไปตรงมา
ส่วนจุดอ่อนน่าจะเป็นจุดเดียวกัน บางคนก็อาจบอกว่า ไม่ชอบที่ผมเป็นแบบนั้น แต่ผมก็อยากชวนคิดว่า เรายอมรับได้จริงๆ เหรอ กับการที่ผู้แทนที่ประชาชนฝากอำนาจไว้ แล้วเว้นวรรคให้กับนายทุน เว้นวรรคให้กับกลุ่มอภิสิทธิ์ชน แล้วทนเห็นประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ มันไม่ใช่สำหรับผม ผมก็เป็นคนแบบนี้ นี่คือตัวตนของผม
SpringNews : สุดท้ายนี้คุณคิดว่า กรุงเทพจะดีกว่านี้ได้อย่างไร ?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : ผมคิดว่า ต้องเอาเงินภาษีมาสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับคนกรุงเทพ สามารถจัดสร้างงบประมาณ ให้มันยุติธรรมได้กว่านี้ ให้ปัญหาของคนกรุงเทพได้รับการแก้ไข
มันไม่ใช่เหตุผล ที่คนกรุงเทพต้องมาฟังคำว่า งบไม่มี แต่สามารถเอางบไปประเคนให้กับผู้รับเหมาที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือโครงการคุณภาพต่ำ แต่ทำไมคุณไม่เอางบต่างๆ เหล่านั้นมากระจายให้กับประชาชน มาทำประโยชน์ให้กับประชาชน
ผมขอตั้งคำถามกลับว่า งบประมาณกรุงเทพมหานคร ปีหนึ่งแสนล้านบาท สิบปีที่ผ่านมา 1 ล้านล้านบาท 4 ปีที่ผ่านมา 4 แสนล้านบาท คนกรุงเทพ ควรได้อะไรที่ดีกว่านี้ไหม ?
ถ้าเราคืนเมืองที่คนเท่ากัน เมืองที่เป็นธรรม จัดสรรงบอย่างเป็นธรรม มีกติกาที่เป็นธรรม บริหารอย่างตรงไปตรงมา คนกรุงเทพก็จะได้เมืองที่ดีกว่านี้ได้ กรุงเทพจะเป็นชีวิตดีๆ สำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ เฉพาะคนที่มีเงิน