เปิดใจ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มองปัญหากรุงเทพ ไม่ใช่เรื่องของไสยศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และนโยบาย ที่จะแก้ไขได้
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชื่อนี้เป็นที่รู้จักของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เมื่อปรากฎภาพของ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ในสมัยของ อดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใส่เสื้อกล้ามและกางเกงขาสั้นสีดำ ไม่สวมใส่รองเท้า พร้อมกับถือถุงแกงในมือ ขณะกำลังไปทำบุญที่วัด
ณ เวลานั้นชาวเน็ตฯมอบฉายาให้เขาว่า "รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี" จนกลายเป็นมีม หรือมุกตลกออนไลน์และทำให้เขาเป้นที่รู้จักและถูกพูดถึงมากในหมู่คนรุ่นใหม่ตั้งแต่นั้น
ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หลังจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ครบวาระ ทำให้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ในนามผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8
ดังกับชาวเน็ต แต่ไม่ได้ดังในชุมชน
ชัชชาติ ยอมรับกับ SPRiNG ว่า จุดอ่อนหนึ่งที่พบเลยคือ เนื่องจากว่าตนเองลงในนามอิสระ ทำให้ไม่มีฐานเสียง ส.ก. ในพื้นที่ ไม่มีฐานเสียงจากพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ของชุมชน เพราะแม้จะมีกระแสในสื่อสังคมออนไลน์แต่ยังมีเสียงอีกเป็นแสน ๆ ในชุมชนที่ยังไม่รู้จัก ชัชชาติ
"บางทีเราสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นสื่องเหล่านั้น แต่ยังมีคนในชุมชนอีกมากที่ไม่ได้เข้าถึงสิ่งที่เราสื่อสารออกไป"
จุดแข็งหนึ่งที่ ชัชชาติ ย้อนมองตัวเอง คือ การที่มีการลงพื้นที่ ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านมากว่า 2 ปี ทำให้รับรู้ปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันข้อได้เปรียบหนึ่งคือการลงสมัครในนามอิสระทำให้มีคนที่อยากเข้ามาร่วมงานกับตนเองเป็นจำนวนมาก เพราะบางครั้งพวกเขาก็ไม่อยากไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง แต่อยากพัฒนาเมือง
อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มี ส.ก. เป็นของตนเอง ก็เชื่อว่าหากได้เป็น ผู้ว่าฯ การทำงานก็จะไม่สะดุด เพราะเมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้วก็ต้องทำงานกับ ส.ก. ได้ทุกคน เพราะ ทั้ง 2 ตำแหน่งเป็นตำแหน่งที่ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะเป้นเสียงที่ประชาชนเลือกเราเข้ามา
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เมืองที่ดีไม่ใช่แค่อัจฉริยะแต่ต้องฉลาดพอสำหรับคนอยู่
SPRiNG ถามว่า "ถ้าชัชชาติเป็นผู้ว่าจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหาในเมืองได้อย่างไร ?" กลายเป็นหนึ่งในคำถามที่ไม่มีใครเคยถามมาก่อน เขาระบุว่า Smart City(เมืองอัจฉริยะ) เป็นคำที่คนใช้กันบ่อยแต่เมืองที่ฉลาดพอสำหรับคนอยู่ต่างหากเป็นสิ่งที่จะช่วยคนกรุงได้ โดยได้แรงบัลดาลใจจากการอ่านหนังสือชื่อ The Smart Enough City ของ Ben Green
ที่ผ่านมาเทคโนโลยีแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนโดยคนขาย กับ เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนจากปัญหาของคน ดังนั้นโจทย์ของคนกรุงเทพฯ คือ การนำเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์คน ได้ใช้จริง และลงทุนไม่มาก ดีกว่าความหรูหราแต่ไม่ได้ใช้
ส่วนตัวมองว่านโยบาย 9 ด้าน 9 ดีของตนเอง สามารถใช้เทคโนโลยีมานำได้ทั้งหมดเลย เช่น เรื่องความปลอดภัย ที่สามารถนำเทคโนโลยีการตรวจจับใบหน้ามาใช้กับกล้องวงจรปิด การขอดูกล้องที่ง่ายขึ้น หรือแม้กระทั้งการรวบรวมข้อมูลอาชญากรรมมาทำเป็นแผนที่จุดเสี่ยง ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้
ชัชชาติ มองต่อไปถึงเรื่องสุขภาพ หากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ การดูแลเรื่งอสาธารณสุขในชุมชนจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาทันที กทม.อาจพัฒนารถที่มีระบบการแพทย์ทางไกล(Telemedicine) ไปในชุมชนแล้วให้ชาวบ้านสามารถพบหมอได้โดยที่หมอไม่ต้องลงพื้นที่ด้วยตนเอง จะเป็นการประหยัดเวลาและทรัพยากรต่าง ๆ ได้ ซึ่งจากการทดลองของตนเอง พบว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และหากได้ทำจริงในฐานะผู้ว่าฯ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีกับคนกรุ'
"แนวคิดหนึ่งที่อยากทำคือ อาสาเทคโนโลยีประจำชุมชน(อสท.) ทำหน้าที่ในการสอนคนในชุมชนใช้เทคโนโลยี สอนลงแอปฯ รายงานข้อมูลต่าง ๆ กลับมายัง กทม. ในการดูแลชุมชน"
ชัชชาติ มองว่า หากในอนาคตมีการสร้างแฟลตฟอร์มในการพาผู้ขายของร้านในชุมชนมาขายบนโลกออนไลน์ อสท. ก็จะเป็นคนสอนชาวบ้านใช้งาน ที่ผ่านมามีแอปฯดีๆมากมาย แต่น่าเสียดายที่เข้าไม่ถึงชุมชน
การเดินทางของคนกรุงในยุค ชัชชาติ ต้องสะดวกขึ้นและถูกลง
แม้ ชสมก. จะไม่ได้อยู่ในการดูแลของ กทม. แต่ชัชชาติ มองว่า กทม. เองก็ควรจะเริ่มมีการเดินรถเมล์สายย่อย ๆ เองเพื่อสนับสนุนขนส่งมวลขนสายหลัก เช่า ย่านรมเกล้า-ราชพฤกษ์ ด้วยรถที่รักษ์โลกและราคาถูก ซึ่ง กทม. เองก็ต้องเสนอทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชน
"รถไฟฟ้าเองแม้จะอยู่ในการดูแลของ กทม. สายเดียว คือ สายสีเขียว ซึ่งที่ผ่านมาคนใช้ก็บ่นว่า ราคาแพง ในฐานะเจ้าของทำอย่างไรที่จะต่อรองกับผู้ให้บริการได้บ้าง"
แม้สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวจะมีการต่อไปถึงปี 2572 แล้วหลังปี 2572 กทม. จะคิดค่าโดยสารอย่างไรก็ได้ แต่ กทม. ก็ติดสัญญาที่ลงนามไปแล้วว่าจะจ้างเดินรถไปถึงปี 2585 ซึ่งจ้างถูกแพงเท่าไหร่ ไม่มีข้อมูล ดังนั้นเมื่อเราเข้าไปแล้ว จะต้องเร่งเปิดข้อมูลสัญญาดังกล่าว ดูว่าเป็นธรรมหรือไม่ แล้วปรับปรุงให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด ชัชชาติ กล่าวเสริม
สงครามฝุ่น ทวงคืนอากาศดีให้คนกรุง
ในวันที่ SPRiNG ได้พูดคุยกับ ชัชชาติ ถือเป็นวันหนึ่งที่สภาพฝุ่นไม่เหมาะสมต่อการอยู่ภายนอก เขามองว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ต้องเริ่มจากการประกาศสงครามกับฝุ่นอย่างจริงจัง "อากาศดี เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน"
"ที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นมาเป็นฤดู ถ้าทนคำด่าได้หน่อย เดี๋ยวคนก็ลืมแล้วมันก็ผ่านไป ดังนั้นผู้ว่าฯ กทม. จะต้องจริงจัง ต้นตอปัญหามันก้มีไม่กี่อย่าง คือ โรงงานอุตสาหกรรม ควันรถ และ การเผาชีวมวล ซึ่งการแก้ปัญหาของ กทม. เองก็ต้องรวมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ แก้ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่แค่มานั่งจับควันดำ"
ชัชชาติ มองว่าหากจะแก้ปัญหาฝุ่น ต้องจับมือกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมการขนส่งทางบก แต่ไม่ใช่แค่จับมือที่กลางทางคือ จับควันดำ แต่จับมือที่ต้นทางคือ รถคันนั้นมาจากโรงงานไหน มาจากไซด์งานก่อสร้างใด ซึ่ง กทม. เองก็ต้องมีเครื่องตรวจเอง มีมาตรฐานของตนเอง
ชัชชาติ เชื่อว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นควันใน กทม. ไม่ได้มาจากแค่ กทม. คนเดียว แต่มาจากการเผาขยะในจังหวัดรอบ ๆ ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก้ต้องไปร้องเรียนและทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และต้องมีการเตือนภัยประชาชนที่เหมาะสม มีการแจ้งเตือนว่าฝุ่นวันนี้เท่าไหร่ มีการพยากรณ์ที่แม่นยำเพื่อให้คนเตรียมตัวได้ถูก
น้ำท่วมกรุงไม่ใช่เรื่องของไสยศาสตร์ ที่จะใช้วิทยาศาสตร์แก้ไขไม่ได้
"ที่ผ่านมาปัญหาน้ำท่วมกรุง เกิดจากน้ำที่ระบายไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ทัน แม้จะมีการลงทุนอุโมงระบายน้ำ แต่ถ้าไม่เคยมีการขุดลอกคลองและท่อระบายน้ำเลย ก็ทำให้น้ำส่งไปไม่ถึงอุโมงไม่ทัน" ชัชชาติ ระบุ
ท่อระบายในกรุงเทพมหานครมีกว่า 6,000 กิโลเมตร ชัชชาติ ตั้งข้อสังเกตุว่า แล้วเราลอกปีละกี่กิโลเมตร ? เขาตั้งสันนิฐาน ว่า ถ้าเราตั้งนโยบาย ขุดลอกสักปีละ 3,000 กิโลเมตร ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้และใช้งบประมาณราว 300 ล้านบาท/ปี เท่านั้น
คลองในกรุงเทพมหานครมีราว 2,700 กิโลเมตร ชัชชาติ มองว่า ถ้าขุดลอกคลองให้ลึกลงไปอีกราว 50% เราก็จะจุน้ำได้เพิ่ม ที่ผ่านมา เขามองว่าแต่ละปี กทม. ขุดลอกได้ไม่ถึง 10% เสียด้วยซ้ำ
ปัญหาทางเท้า ป้องกันได้ด้วยมาตรฐานการทำต้องดี
ชัชชาติ มองว่า ในกรุงเทพมหานคร ปัญหาทางเท้าเริ่มจากมาตรฐานที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้ยั่งยื่นตั้งแต่แรก ตั้งแต่ทางเท้ายุคที่ใช้อิฐตัวหนอน จนมาเป็นกระเบื้องต่าง ๆ ประกอบกับระบบสาธรณูปโภคที่อยู่ใต้ทางเท้าทำให้มีการขุด-ทำทางเท้าจนพังเสียหาย
ปัญหาหลัก ๆ ของทางเท้าที่ชัชชาติมอง คือ การสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน , การขุดซ้ำซาก และ การดูแลรักษาที่ไม่ได้คุณภาพ
"การแก้ปัญหาทางเท้าอาจต้อวเริ่มจากการกลับมาออกแบบมาตรฐานให้ดี มีอารยสถาปัตย์ ซึ่งถูกกว่ามาแก้ไขทีหลัง ผู้รับเหมาเองก็ต้องมีการตามงาน-คุมงานที่ดี นอกจากนี้ต้องไม่มีการขุดมั่วซั่วและต้องไม่มีการขับรถบนทางเท้า ผมว่าที่ผ่านมาเรามีงบดูแลทางเท้าแค่ปีละ 3-4 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นถ้าเอางบประมาณลงมาก็จะสามารถทวงคืนสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องการเดินให้ประชาชนได้"
ปากท้องคน กทม. กับเรื่องที่ผู้ว่าฯ จัดการได้
ชัชชาติ ระบุว่า แม้เรื่องของปากท้องคนกรุงเทพ รัฐบาลจะดูแลเป้นหลัก แต่ ผู้ว่าฯ เองก็มีส่วนที่จะสามารถเข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้ กทม. สามารถทำระบบสาธารณสุขในชุมชนให้ดีได้ กำกับให้บริการสิทธิการรักษาพยาบาลในดรงพยาบาลสังกัด กทม. ให้ครบตามสิทธิ์ที่ประชาชนควรจะได้ กำหนดให้โรงเรียนสังกัด กทม. เรียนฟรีจริง ๆ จัดสรรให้ประชาชนได้มีพื้นที่ในการขายของ
การขายของบนทางเท้าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน ชัชชาติ มองว่า หาก กทม. เข้าไปจัดสรรพื้นที่ให้ขาย อย่างเช่นย่านอารีย์ที่มีการย้ายผู้ขายไปอยู่ในตึก-ซอยย่อย ก็ลดปัญหาทางเท้าลงได้ โดยขั้นแรกต้องมีข้อมูลว่าใครขายบ้าง แล้วจึงหาพื้นที่ ทั้งที่ของเอกชนหรือที่ของรัฐบาล
ตัวอย่างในต่างประเทศที่เห็นได้ชัดคือที่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีการปรับให้ผู้ค้าเข้าไปอยู่ในตึกแถวหรือศูนย์รวมร้านค้าต่าง ๆ แต่ถ้าหากทำไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องมาจัดสรรพื้นที่ทางเท้าที่พอขายได้แล้วไม่เบียดเบียนคนเดินเท้า ซึ่งก็ต้องมีการจัดระเบียบด้วย ต่อมาคือ พัฒนาผู้ขายหาบเร่-แผงลอย พัฒนาชีวิต ทั้งให้ความรู้ สนับสนุนเงินทุนให้พวกเขาได้พัฒนาชีวิต
นอกจากนี้ในแต่ละพื้นที่ก็ต้องมีการปรับให้เข้ากับพื้นที่นั้น ๆ ด้วย ชัชชาติ เล่าว่า จากการลงพื้นที่ตลาดราชวัตร ผู้ค้าที่นี่เองก็อยากขายวันจันทร์ ดังนั้นหากมีการปรับให้เข้าแต่ละพื้นที่ก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างเหมาะสม
"ไอ้พวกผู้ว่าฯ มา 4 ปีหน พอเลือกตั้งแล้วก็ไม่เคยเห็นหัวเลย"
ชัชชาติ เล่าให้ SPRiNG ฟังว่า ตอนที่เขาไปลงพื้นที่ก็ถูกชาวบ้านตำหนิมาว่า "ไอ้พวกผู้ว่าฯ มา 4 ปีหน พอเลือกตั้งแล้วก็ไม่เคยเห็นหัวเลย" เขามองว่า สิ่งที่เป้นอยู่ปัจจุบัน ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นทุก 4 ปี แต่เกิดขึ้นได้ทุกวัน ถ้าเรามีแพลตฟอร์มในการรับฟังประชาชนที่เหมาะสม
ที่ผ่านมา สวทช. พัฒนาแพลตฟอร์มชื่อ “Traffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ที่จะให้ประชาชนแจ้งปัญหาเข้ามายังระบบ เพื่อให้หน่วยงานรัฐนำข้อมูลมาแก้ไขปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมาได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย ชัชชาติ ระบุว่า ที่ผ่านมาต่างจังหวัด อย่าง อุบลราชธานี เริ่มใช้แล้ว กทม. มีคนแจ้งเหตุมาแล้วกว่า 2,000 คน ซึ่งเมื่อข้อมูลมาแล้ว กทม. ก้ต้องจริงจังกับการแก้ปัญหาจากข้อมูลเหล่านั้นด้วย
ชัชชาติ ระบุว่า หลังจากนี้อาจมีการทำแพลตฟอร์มประเมินผู้ว่าฯ หรือ ผอ.เขต เพื่อให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้โดยตรง ผมว่าแนวคิดหันหลังให้ผู้ว่าฯ แล้วหันหน้ารับฟังประชาชนให้เยอะ จะแก้ไขปัญหา กรุงเทพได้
ชัชชาติ มอง กรุงเทพจะดีกว่านี้ได้อย่างไร ?
ชัชชาติ มองว่า กรุงเทพจะดีกว่านี้ได้ ต้องถูกขับเคลื่อนด้วยนโยบายที่ตอบโจทย์คนกรุง ทั้งในส่วนของการแก้ไขปัจจุบันและแก้ไขปัญหาในอนาคต ดังนั้นผู้ว่าฯ กทม. จะต้องเป็นทั้ง CEO ในการวางอนาคตกรุงเทพฯ และ Manager ที่จัดการปัญหาปากท้องรายวัน ซึ่งถ้าทำ 2 สิ่งนี้ควบคู่กันไปได้ กรุงเทพฯ จะดีกว่านี้ได้