การพัฒนาจุดเด่น เสริมจุดแข็ง และลบจุดอ่อน เราจำเป็นต้องรู้จักตัวเองแบบจริงจัง การใส่ใจกับเรื่องนี้ทำให้เราไม่ผิดพลาดเรื่องเดิมซ้ำ สามารถรับมือกับสิ่งที่เราไม่ถนัดและพัฒนาตัวเองได้เร็ว
อาทิตย์ที่แล้วเขียนเรื่อง “3 (สิ่งที่ต้อง)รู้ เชื่อมต่อความสำเร็จเล็กๆ ให้บรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่” (อ่านตอนเดิมได้ที่นี่) หนึ่งใน 3 รู้ที่ว่าคือ “การรู้จักตัวเอง” อาทิตย์นี้เรามาลงลึกถึงวิธีทำความรู้จักตัวเองกันดีกว่าค่ะ
ใช่ค่ะ การพัฒนาจุดเด่น เสริมจุดแข็ง และลบจุดอ่อน เราจำเป็นต้องรู้จักตัวเองแบบจริงจัง การใส่ใจกับเรื่องนี้ทำให้เราไม่ผิดพลาดเรื่องเดิมซ้ำ สามารถรับมือกับสิ่งที่เราไม่ถนัดและพัฒนาตัวเองได้เร็ว ใครที่สนใจเครื่องมือสำรวจตัวเองแนะนำให้ใช้เทคนิค AAR (After Action Review) ซึ่งเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง “รู้งี้ ไม่น่าเลย” คำพูดสุดคลาสสิค เมื่อทำอะไรผิดพลาดไม่ได้ดังใจ (อ่านตอนเดิมได้ที่นี่) ถ้าทำแบบนี้เรื่อยๆ สม่ำเสมอจะทำให้เห็นแนวโน้มว่า เราทำอะไรได้ดี ได้เก่งและอะไรที่เราไม่ชำนาญ ผิดพลาดบ่อย และการเขียน AAR จะช่วยให้เราหาทางพัฒนาปรับปรุงตัวเองทุกครั้งที่เราเขียน
นอกจากนี้เราควรสำรวจตัวเองผ่านมุมมองของคนอื่นรอบๆ ตัวเพิ่มเติม ถามว่าทำไมเราถึงต้องทำแบบนั้น? คำตอบคือเพื่อให้มองตัวเองได้ครบถ้วนรอบด้านมากยิ่งขึ้น อย่างคำโบราณว่าไว้ “เส้นผมบังภูเขา” เราก็ไม่เห็นบางมุมของตัวเอง รู้จักตัวเองในมุมเดิมๆ ที่เราคิด เราเชื่อ เกิดจากประสบการณ์ในอดีต สิ่งที่เราเคยเผชิญ คำพูดติชมของคนอื่น
ซึ่งก็อาจจะจริงแต่ต้องไม่ลืมว่าเราในวันนี้และเราในอดีตนั้นไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว สิ่งที่เราเคยเป็นหรือเคยล้มเหลวมาก่อน วันนี้เราอาจจะเก่งขึ้นแล้ว สามารถหาทางรับมือแก้ไขเรื่องเหล่านั้นได้แล้ว โดยเฉพาะคนที่ทบทวนความสำเร็จและความล้มเหลวอย่างสม่ำเสมอหรือใช้เทคนิค AAR เป็นประจำจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนมาก
การประเมินตัวเองจากมุมมองของคนอื่นสามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านการขอฟีดแบคจากคนรอบตัว ถ้าเป็นการบริหารงานในองค์กรจะเรียกว่าการประเมินแบบ 360 องศา เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาตัวเองแนะนำให้เลือกคนรอบๆ ตัว 3 – 5 คน ขอให้ฟีดแบคเราแบบง่ายๆ เน้นเรื่องที่เป็นเรื่อง Top of Mind หรือเรื่องเขาคิดได้ทันทีเกี่ยวกับเรา สาเหตุที่ต้องเป็นเรื่องที่คิดออกอย่างรวดเร็วนั้นเป็นเพราะเรื่องนั้นเป็นจุดเด่นหรือจุดด้อยของเราอย่างชัดเจน คนอื่นสังเกตเห็นเรื่องนี้เป็นประจำจึงถือว่าเรื่องนี้มีนัยสำคัญต่อการนำมาพิจารณาเพื่อให้เห็นตัวเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เพื่อให้การประเมินเป็นไปอย่างรอบด้านไม่ได้มีแค่ข้อดี ข้อเสียเพียง 2 ด้าน อยากแนะนำเครื่องมือ PMI ของดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Dr. Edward de Bono) แพทย์นักเขียนชื่อดังในยุค 90 กูรูด้านความคิด ผู้ริเริ่มการคิดแบบ Lateral Thinking เจ้าของผลงานชื่อดังอย่าง Six Thinking Hats และมีผลงานเขียนตลอดชีวิตถึง 85 เล่ม ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 40 ภาษา
การรีวิวหรือประเมินตัวเองและให้คนรอบข้างประเมินเราด้วยเครื่องมือ PMI ทำให้เราเห็นภาพในมุมกว้างมากกว่าข้อดี ข้อเสียหรือจุดเด่น จุดด้อย โดยเฉพาะประเด็น I หรือ Interesting ที่ทำให้เราฉุกใจคิดและสามารถสำรวจตัวเองเพิ่มเติมได้ถ้าต้องการ
ส่วนการเลือกคนที่เราของฟีดแบคให้เลือกจากคนที่เราสนิทสนมหรือร่วมงานด้วยบ่อยๆ รวมถึงคนที่คอยรับฟังปัญหา เป็นที่ปรับทุกข์ให้เราเป็นประจำ โดยถ้าเป็นไปได้ให้เลือกหลายๆ เจนเนอเรชั่น เลือกหลายๆ สถานะคละกันไป เช่น เพื่อน คนในครอบครัว เพื่อนที่ทำงาน สาเหตุที่ต้องมีหลายคนและหลากสถานะหลายบทบาท เพื่อที่เราจะได้เห็นมุมมองรอบด้านและเห็นค่าเฉลี่ยของฟีดแบคในแต่ละเรื่อง หรือแม้กระทั่งเรื่องเดียวกันอาจจะมีให้ความเห็นไปกันคนละด้าน สามารถประเมินค่าเฉลี่ยของฟีดแบค และเห็นมุมมองได้รอบด้านครบถ้วนมากกว่า เพราะหลายครั้งเรื่องเดียวกันแต่เมื่ออยู่คนละสถานะหรือคนละช่วงวัยอาจจะมีความเห็นตรงข้ามกัน การมีข้อมูลจากคนรอบข้างประกอบในลักษณะนี้ช่วยลดอคติจากการประเมินตัวเองเพียงลำพังลงไปได้มาก และเห็นตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งสัปดาห์หน้าเราจะมาดูกันว่า “การรู้จักตัวเองดีพอ” จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นอย่างไร
เพชร ทิพย์สุวรรณ
อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ
ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant
บทความที่เกี่ยวข้อง