svasdssvasds

เส้นชัยคือเป้าหมาย? องค์กรที่ประสบความสำเร็จต้องเพอร์เฟกต์ขนาดไหน

เส้นชัยคือเป้าหมาย? องค์กรที่ประสบความสำเร็จต้องเพอร์เฟกต์ขนาดไหน

องค์กรแบบไหนที่เหมาะสมกับคนทำงานที่เต็มไปด้วยความหลายหลายมาทำงานร่วมกัน ภายใต้สภาวะที่สภาพแวดล้อมสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

องค์กรที่ประสบความสำเร็จต้องเพอร์เฟกต์ขนาดไหน

ในยุคสมัยที่คนในสังคมมีความหลากหลายทั้งเพศ วัย ศาสนา และความเชื่อทางการเมือง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในองค์กรก็มีพนักงานที่หลากหลายไม่ต่างกัน หลาย ๆ องค์กร ประสบปัญหาเรื่องการสื่อสาร การทำงานร่วมกับ Gen Z  หลายองค์กรมีปัญหาใกล้วัยเกษียณจำนวนมาก ทำให้ถ่ายโอนความรู้และความชำนาญให้พนักงานรุ่นใหม่ ๆ ไม่ทัน  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น กฎระเบียบ นโยบาย และวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมๆ จึงไม่สามารถตอบโจทย์การบริหารงานบุคลากรที่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความหลากหลายอีกต่อไป

แล้วองค์กรแบบไหนที่เหมาะสมกับคนทำงานที่เต็มไปด้วยความหลายหลายมาทำงานร่วมกัน ภายใต้สภาวะที่สภาพแวดล้อมสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

วันนี้ผู้เขียนได้เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนจากบทความของ Harvard Business Review ที่เล่าถึงลักษณะสถานที่ทำงานช่วยสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการบริหารความหลายหลายในสถานที่ทำงาน

1. ยอมให้ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง

การเป็นตัวของตัวเองทำให้กล้าคิด กล้านำเสนอไอเดียใหม่ ๆ สำหรับการทำงาน ปราศจากความกลัว ความกังวล และความกดดัน บรรยากาศการทำงานแบบนี้ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

2. กฎระเบียบต้องสมเหตุสมผล

กฎระเบียบที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผล ไม่สามารถบอกที่มาได้ ย่อมไม่สามารถสร้างการยอมรับในกับพนักงานในองค์กร และมีแนวโน้มว่าจะเป็นกฎระเบียบที่ล้าสมัย ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน การมีกฎระเบียบที่เข้มงวดและไม่สมเหตุสมผลเป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์ ทำให้พนักงานไม่มีพื้นที่ได้ทดลองทำอะไรใหม่ จึงยากที่จะเกิดนวัตกรรม

3. สามารถโต้แย้งหรือแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ แม้ไม่สอดคล้องกับความคิดของผู้บริหาร

การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ผู้บริหารควรให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อให้พนักงานกล้าแสดงให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ กล้าแจ้งข่าวร้ายโดยผู้ปฎิบัติงานระดับล่าง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือต่อว่า ช่วยให้องค์กรได้รับประโยชน์จากการสื่อสารที่รวดเร็วและได้แนวทางการแก้ปัญหาจากผู้ปฎิบัติงานจริง

4. ส่งเสริมให้พนักงานได้ค้นหา เติบโต พัฒนาความสามารถของตนเอง

พนักงานทุกคนต่างต้องการความก้าวหน้าในชีวิต หากองค์กรส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนรู้ ค้นหาตัวเอง การได้ค้นพบศักยภาพใหม่ๆ ของตนเองและนำมาใช้ในการทำงาน นอกจากจะทำให้พนักงานพัฒนาตนเองแล้ว ย่อมส่งผลดีและเป็นประโยชน์กับองค์กรไปในเวลาเดียวกัน

5. งานต้องมีความหมายและอยู่ในองค์กรที่รู้สึกภาคภูมิใจ

มนุษย์ทุกคนต่างต้องการความภาคภูมิใจในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ได้รับการยอมรับ จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องสื่อสารถึงคุณค่าของธุรกิจว่าส่งผลกระทบในทางบวกกับสังคมอย่างไร เพื่อให้พนักงานเห็นว่างานที่ตนเองทำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนสังคมไปในทิศทางบวก

6. ให้ความสำคัญกับระบบการประเมินผลงาน

ระบบประเมินผลงาน (Performance-Measurement Systems) จะผลักดันให้พนักงานทำงานได้ดียิ่งขึ้นตามเป้าหมายที่ได้รับมาและได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสม ช่วยให้เกิดกำลังใจในการทำงาน อย่างไรก็ตามระบบการประเมินผลงานควรให้ความสำคัญต่อเป้าหมายของงานเป็นหลัก ส่วนวิธีการทำงานให้บรรลุเป้าหมายนั้นเป็นความรับผิดชอบของตัวพนักงาน หัวหน้างานและ HR มีบทบาทเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้พนักงานทำงานได้ตามผลลัพธ์ที่ตั้งเป้าหมายไว้เท่านั้น

7. การให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาแม้จะเป็นข้อมูลทางลบ

การให้ข้อมูลที่ชัดเจน โปร่งใสกับพนักงานเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้พนักงานรับรู้ถึงสถานการณ์ขององค์กร เป็นการส่งสัญญาณถึงความเชื่อใจในตัวพนักงานเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่พร้อมจะร่วมทุกข์ฝ่าฟันอุปสรรค และร่วมสุขเมื่อองค์กรประสบความสำเร็จ

ทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมาล้วนแต่ให้ความสำคัญต่อการดึงศักยภาพจากความหลากหลายของพนักงานออกมาใช้ให้เต็มที่ โดยการสร้างวัฒนธรรม กฎระเบียบ และระบบการทำงานที่เหมาะสมเกื้อหนุนให้พนักงานแต่ละคนได้ทุ่มเททำงานผ่านศักยภาพของตนเอง นำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร

จริงๆ แล้ว แม้การดึงศักยภาพของพนักงานจะเป็นกลไกสำคัญที่สุด แต่พนักงานเองก็ต้องเข้าใจองค์กรด้วยเช่นกัน ไม่มีเรือลำไหนจะถึงเส้นชัยได้ ถ้าตัวเรือมีแต่รูรั่วมากมาย ต่อให้ออกแรงพายเรือมากแค่ไหน สุดท้ายก็จมได้อยู่ดี

หมายเหตุ: เนื้อหาของบทความเป็นส่วนหนึ่งของ Generation Workforce Diversity Management ของผู้เขียน และเรียบเรียงจากบทความ Harvard Business Review

บทความอื่นที่น่าสนใจ

บทความ : เพชร ทิพย์สุวรรณ

อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ

ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant

 

related