พาเจาะเบื้องลึก! อาชีพไม่ธรรมดา: วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง – เส้นเลือดฝอยของคนเมือง ผ่าเบื้องลึกที่หลายคนไม่รู้ กับการปรับตัวในยุคสังคมดิจิทัล
วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของระบบขนส่งในเมืองไทย โดยมีรากฐานมาจากยุคที่การเดินทางในเมืองใหญ่ของไทยเริ่มประสบปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2524 นายทหารเรือกลุ่มหนึ่งได้รวบรวมคนในแฟลตที่มีรถมอเตอร์ไซค์มาตั้งเป็นชมรมมอเตอร์ไซค์เพื่อให้บริการรับส่งคนตอนเช้าและเย็น
โดยคิดค่าบริการ 2-3 บาทต่อคนเพื่อแก้ปัญหาการเดินทางในตอนนั้น ในไม่ช้าบริการนี้ก็เริ่มเป็นที่นิยม โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ประชาชนต้องพึ่งพาการเดินทางระยะสั้นอย่างเร่งด่วน แม้จุดเริ่มต้นของอาชีพนี้จะมาจากความต้องการแก้ไขปัญหาการเดินทางในชุมชน แต่ปัจจุบันวินมอเตอร์ไซค์มีความท้าทายจากระบบบริหารจัดการที่อาจยังไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ขับขี่อย่างเต็มที่
แม้จะมีการจัดระเบียบให้วินถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง ระบบนี้ยังมีส่วนที่ควรปรับปรุง ในบางพื้นที่มีโครงสร้างการเก็บผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้ขับขี่ต้องจ่าย “ค่าคุ้มครอง” และ “ค่าหัวคิว” โดยไม่มีทางเลือก ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนโดยตรง
เบื้องลึกวงการวินมอเตอร์ไซค์ที่หลายคนอาจไม่รู้
วงการวินมอเตอร์ไซค์ในปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนอยู่เบื้องหลังซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ หนึ่งในประเด็นหลักของระบบวินคือโครงสร้าง "ส่วย" และ "ค่าหัวคิว" ที่ผู้ขับขี่หลายรายต้องจ่ายให้กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาขับวินไม่สามารถเริ่มต้นได้อย่างอิสระเท่าที่ควร เพราะต้องเผชิญกับเงื่อนไขที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายหลายส่วน
ค่าบำรุงรายเดือนต้องถูกจ่ายให้กับผู้ดูแลพื้นที่ บางแห่งเรียกว่า "ค่าคุ้มครอง" ค่าหัวคิวต้องจ่ายให้กับผู้ควบคุมวินในพื้นที่ บางแห่งเรียกเก็บเป็นรายเที่ยว ค่าเช่าพื้นที่จอดวินซึ่งควรเป็นพื้นที่สาธารณะกลับถูกจับจองและเรียกเก็บค่าเช่า นอกจากนี้ เสื้อวินซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการทำงานในระบบกลับถูกนำมาขายเก็งกำไร
โดยมีการตั้งราคาสูงถึงหลักหลายแสนบาทในบางพื้นที่ ทำให้ผู้ที่ไม่มีทุนต้องกู้เงินนอกระบบซึ่งมีดอกเบี้ยสูง หรือเช่าเสื้อวินแทนหากไม่มีเงินซื้อเสื้อวิน ค่าเช่าเสื้อรายวันนี้อาจสูงถึงหลายร้อยบาทต่อวัน ส่งผลให้รายได้ที่หามาได้ถูกหักไปกับค่าเช่าเสื้อ เหลือรายได้สุทธิไม่มากสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น การผูกขาดของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในแต่ละพื้นที่ทำให้วินมอเตอร์ไซค์ต้องอยู่ภายใต้ระบบที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างแท้จริง และไม่ได้สะท้อนถึงการพัฒนาหรือปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม
การเข้ามาของยุคดิจิทัล
การใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ยังคงมีความสำคัญในสังคมไทย แม้ในยุคที่เทคโนโลยีและสมาร์ตโฟนได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไปอย่างสิ้นเชิง แพลตฟอร์มต่างๆ ได้เพิ่มทางเลือกหลากหลายให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะด้านการเดินทางที่ในปัจจุบันบริการรถสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันเข้ามามีบทบาทสำคัญ ข้อดีของระบบใหม่นี้คือสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น รวดเร็ว สามารถจัดการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดค่าโดยสารล่วงหน้า มีมาตรฐานความปลอดภัย และรองรับการชำระเงินแบบไร้เงินสด ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากหันมาใช้บริการเหล่านี้ จึงเป็นเหตุให้วินมอเตอร์ไซค์ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีไม่ใช่อุปสรรคเสมอไป ผู้ขับขี่วินหลายคนได้นำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ควบคู่กับการให้บริการแบบดั้งเดิม คนขับวินบางส่วนที่สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันได้สามารถเพิ่มรายได้และมีความมั่นคงมากขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มรายได้และปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปฏิรูปวงการเสื้อกั๊กส้ม
แนวทางการปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพควรเริ่มต้นจากการปรับปรุงระบบค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการเข้าสู่อาชีพวินมอเตอร์ไซค์ที่เหมาะสม รัฐควรเข้ามากำหนดเพดานราคาค่าเสื้อวินเพื่อป้องกันการเก็งกำไร และควรออกมาตรการช่วยเหลือให้ผู้ขับวินสามารถเข้าสู่ระบบที่โปร่งใสและแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม การเปิดเสรีให้วินสามารถเข้าร่วมแอปพลิเคชันดิจิทัลโดยไม่มีการกดดันจากกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ
ขณะเดียวกัน ผู้โดยสารควรได้รับมาตรฐานการให้บริการที่ดีขึ้น วินควรได้รับการตรวจสอบประวัติ การฝึกอบรม และต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ชัดเจน เช่นเดียวกับผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็ควรได้รับการตรวจสอบประวัติและยกระดับมาตรฐานเท่าเทียมกับวินเพื่อประโยชน์ของผู้โดยสาร โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ทุกฝ่ายต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับสภาพแวดล้อมและความต้องการที่เปลี่ยนไป ซึ่งหากทำได้ก็จะสามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ในอนาคต
เรื่องวิน ๆ ที่ต้องวินไปด้วยกัน
วินมอเตอร์ไซค์เป็นระบบที่มีศักยภาพในการพัฒนา หากได้รับการปรับปรุงให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น แต่หากยังปล่อยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่เหมาะสม ระบบวินจะไม่สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาแก้ไขปัญหานี้และส่งเสริมสิทธิในการประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียม
ประชาชนควรได้รับบริการขนส่งที่ปลอดภัย เป็นธรรม และมีคุณภาพ ผู้ขับวินควรได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพที่มั่นคง โดยมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่สมเหตุสมผล ประเทศไทยควรมุ่งสู่ระบบขนส่งที่โปร่งใสและเป็นมิตรกับประชาชนทุกคน
ท้ายที่สุด เมืองจะ "ชนะ" หรือ "วิน" ในฐานะเมืองน่าอยู่ที่จัดการระบบขนส่งได้ดีอย่างยั่งยืนได้นั้น การทำให้ทุกฝ่าย "วิน" ไปพร้อมกับการพัฒนาเมือง ก็น่าจะเป็นคำตอบสำคัญประการหนึ่งเช่นกัน.