SHORT CUT
THE WHITE LOTUS 3 ซีซั่น 3 กับโลกหรูที่ขัดแย้งกับธรรมะ: เสียดสีชีวิตคนรวย ผ่านกิเลส ความหลง และการแสวงหาความสงบที่ไม่มีวันเจอ
The White Lotus เป็นซีรีส์แนวตลกร้ายเสียดสีสังคมช่อง HBO เล่าเรื่องราวชีวิตของเหล่ามหาเศรษฐีที่เดินทางไปพักผ่อนในรีสอร์ตหรู แล้วพบกับเหตุการณ์วุ่นวายเบื้องหลังความฟุ้งเฟ้อเหล่านั้น แต่ละซีซั่นของเรื่องจะเปลี่ยนฉากหลังไปยังโรงแรม ที่แตกต่างหกันพร้อมตัวละครชุดใหม่ ทำให้ซีรีส์นำเสนอเรื่องราวหลากหลายแต่ยังคงธีมหลักคล้ายกัน คือการเสียดสีวิถีชีวิตและปัญหาของชนชั้นสูง
ซีซั่น 3 ของ The White Lotus ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้ชมชาวไทย เพราะเรื่องราวย้ายโลเคชันมาถ่ายทำในประเทศไทย ดำเนินเหตุการณ์ที่รีสอร์ตสุขภาพ (wellness resort) สุดหรูซึ่งใช้ “การบำบัดแนวพุทธ” เป็นจุดขายดึงดูดเหล่าลูกค้าไฮโซ นอกจากฉากหลังแบบไทย ๆ ที่ชวนติดตามแล้ว ซีซั่นนี้ยังได้นักแสดงชาวไทยร่วมแสดงด้วย หนึ่งในนั้นคือ ลลิษา มโนบาล หรือ Lisa BLACKPINK ที่ปรากฏตัวเป็นสาวไทยชื่อ “มุก” ยิ่งสร้างความตื่นเต้นให้แฟน ๆ ไม่น้อย
เมื่อความเป็นตะวันตกของเหล่าตัวละครต้องมาผสานกับบรรยากาศแบบไทยๆ พล็อตเรื่องซีซั่นนี้จึงเต็มไปด้วยประเด็นวัฒนธรรมและศาสนาที่น่าขบคิดแฝงอยู่มากมาย ผู้ชมจะได้เห็นประเด็นหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาหลายด้าน ทั้งเรื่องความเสมอภาค กิเลส และกรรม ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านสถานการณ์และตัวละครในเรื่องและ Vox เป็นเว็บไซต์ข่าวและบทวิเคราะห์จากสหรัฐอเมริกา ก็ได้วิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ !
ประเด็นแรกคือรีสอร์ตสุดหรู้ที่มีบริการดูแลกายใจแนว “ธรรมะบำบัด” ให้แขกผู้เข้าพัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่อง ความเสมอภาค และความสมถะ จริงอยู่ที่รีสอร์ตสไตล์นี้มอบความสะดวกสบายขั้นสูงสุดให้ผู้เข้าพัก แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องการลดละกิเลสและความเท่าเทียมของมนุษย์ทุกคน โดยพระองค์ทรงต่อต้านระบบวรรณะอันแบ่งชนชั้นสูงต่ำอย่างเด็ดขาด
ในทางตรงกันข้าม โลกของโรงแรมหรูใน The White Lotus ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความเหลื่อมล้ำในสังคม จำเป็นต้องมีชนชั้นคนรวยที่จ่ายเงินซื้อความสุขได้และชนชั้นพนักงานที่คอยบริการสนองความต้องการของพวกเขา โครงสร้างแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการจำลองระบบวรรณะขึ้นมาใหม่
นอกจากนี้ ตามหลักพุทธธรรม เราไม่อาจคาดหวังจะพบความสุขที่แท้จริงได้จากปัจจัยภายนอกหรือวัตถุสิ่งของ พระพุทธสอนเรื่อง “ความสุข (นิพพาน) ที่แท้ควรมาจากความสงบภายใน” หาใช่สิ่งที่จะได้มาด้วยการทุ่มเงินซื้อประสบการณ์ หรูหราไม่ แต่เหล่าแขกผู้มั่งคั่งในเรื่องกลับพยายามวิ่งไล่ไขว่คว้าความสบายกายผ่านบริการราคาแพงเหล่านั้น ยิ่งตอกย้ำความย้อนแย้งระหว่างหลักธรรมะกับวิถีชีวิตฟุ้งเฟ้อที่ซีรีส์นำเสนออย่างแหลมคม
สะท้อนแนวคิดพุทธศาสนาเรื่อง "สามพิษ" ได้แก่ โลภะ (โลภ), โทสะ (โกรธ), และ โมหะ (หลง) ซึ่งเป็นรากเหง้าของทุกข์และพันธนาการให้เวียนว่ายในวัฏสงสาร ตัวละครแต่ละคนในเรื่องต่างถูกครอบงำด้วยกิเลสเหล่านี้ —บ้างก็โลภในเงินและความสะดวกสบาย, บ้างโกรธเกลียดฝังใจ, หรือหลงใหลในอำนาจและภาพลวงตา ซีรีส์แสดงให้เห็นว่าตราบใดที่ยังยึดติดกับพิษเหล่านี้ พวกเขาก็ไม่มีวันพ้นจากวังวนความทุกข์เดิม ๆ ได้เลย
ตัวละครในเรื่องต่างไม่ได้แสวงหาความสุขทางใจตามแนวทางพุทธอย่างแท้จริง หลายคนมารีสอร์ตเพื่อทำสมาธิหรือพักผ่อนกายใจ แต่ลึก ๆ แล้วพวกเขายังติดอยู่ในวังวนกิเลสของตนเอง ปล่อยให้ “สามพิษ” ครอบงำและนำทางชีวิตไปเรื่อย ๆ จนต้องวนเวียนเผชิญปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เมื่อเรื่องราวดำเนินถึงตอนจบ เราพบว่าตัวละครเหล่านี้ก็ยังคงหนีไม่พ้นวงจรเดิมของตนเอง ซีรีส์ไม่ได้ลงเอยด้วยการลงโทษตัวละครร้าย ๆ อย่างชัดเจนแบบนิทานสอนใจ แต่กลับสะท้อนความจริงอันเจ็บแสบว่า “ความมั่งคั่งเป็นเกราะกำบังที่ทำให้คนรวยหลีกหนีผลกรรมทางโลกไปได้หลายอย่างก็จริง! แต่มันไม่อาจซื้อหนทางสู่นิพพานหรือความสงบในจิตใจได้เลย”
แขกผู้เข้าพักในเรื่องเหล่านี้ไม่มีวันจะพบกับ “นิพพาน” กลุ่มคนรวยที่โชคดีดูเหมือนมีทุกอย่าง แต่กลับโชคร้ายหลงติดอยู่กับสิ่งที่ไม่เคยเติมเต็มใจได้เลย.
ที่มา : VOX
ข่าวที่เกี่ยวข้อง