เคยตั้งใจทำอะไรมากๆ มุ่งมั่นสุดๆ แล้วทำไม่สำเร็จบ้างหรือไม่ เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีประสบการณ์มาบ้าง และจดจำอารมณ์ท้อแท้ เสียใจ ผิดหวังได้ หลายคนตัดพ้อกับตัวเองว่าพยายามขนาดนี้แล้วยังไม่สำเร็จ ฉันคงไม่มีความสามารถ ล้มเลิกเป้าหมายนั้นดีกว่า
การเขียน New Year’s Resolution หรือการตั้งเป้าหมายในปีใหม่ที่ต้องเลือกระหว่างเป้าหมายเล็กๆ กับเป้าหมายใหญ่ๆ ให้เหมาะสมตามเนื้อหาที่เขียนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) การให้น้ำหนักโฟกัสที่เป้าหมายก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
คนที่มีความมุ่งมั่นมากๆ ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเป้าหมายปลายทาง บางครั้งตั้งใจมากจนละเลยวิธีและกระบวนการไปสู่เป้าหมาย เหมือนการเดินทางที่คิดถึงแต่จุดปลายทางจนลืมมองดอกไม้สวยๆ ระหว่างทางที่เราเดินผ่าน ทำให้หลายครั้งเราพลาดโอกาสดีๆ ที่ผ่านเข้ามาระหว่างทาง
เป้าหมายในชีวิตจริงคนเรานั้นไม่เหมือนการเป้าหมายการเดินทางที่สั้นกว่าและใช้เวลาน้อยกว่า เป้าหมายชีวิตจริงนั้นทั้งยากและใช้เวลายาวนาน การโฟกัสเพียงเป้าหมายมีแต่ทำให้เคร่งเครียด ขาดสุนทรีย์ในการใช้ชีวิต เพราะมัวแต่เร่งรีบวิ่งไล่ตามเป้าหมาย
ในทางตรงข้ามถ้าเราตั้งเป้าหมายได้ชัดเจน เชื่อมโยงกับคุณค่าหรือสิ่งที่เราให้ความสำคัญแข็งแรงดีแล้ว ให้เราจดจำเป้าหมายที่มีไว้ในใจแล้วใช้ชีวิตไปตามปกติ คล้ายๆ ทำเหมือนไม่อยากได้ ไม่สนใจในเป้าหมายนั้น คุณนันท์ วิทยดำรง ผู้แปลหนังสือขายของดีพัค โชปราชื่อ 7 กฎด้านจิตวิญญาณเพื่อความสำเร็จเคยอธิบายเรื่องนี้ว่าเป็นการปล่อยวางเป้าหมาย หรือการลงมือกระทำอย่างสุดความสามารถโดยไม่สนใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นกฎข้อ 6 The Law of Detachment ของหนังสือเล่มนี้
หลายคนอ่านแล้วคงรู้สึกสงสัยว่าหากไม่สนใจผลลัพธ์ แล้วมันจะไปสู่ผลลัพธ์ได้อย่างไร จริงๆ แล้วการไม่โฟกัสที่เป้าหมายมากเกินไปจะทำให้เราเห็นภาพรวมได้ดีขึ้น ซึ่งตรงกับหลักคิดของนักทฤษฎีทางจิตวิทยาเกสตัลท์ (Gestalt Theory) ที่บอกว่ามนุษย์เราจะมองเห็นภาพรวมก่อนแล้วค่อยเห็นภาพย่อยหรือรายละเอียด
อย่างที่เรารู้กันดีว่าชีวิตไม่ได้เป็นเส้นตรง การมองภาพรวมจะทำให้เราเห็นองค์ประกอบได้ครบถ้วน เห็นความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ทำให้เราสามารถปรับวิธีการไปสู่เป้าหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์หรือเงื่อนไขในชีวิต เราสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้โดยที่ยังยึดและมุ่งมั่นกับเป้าหมายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากเป็นนักเขียนและออกหนังสือสักเล่ม เราทำได้ตั้งแต่เสนอต้นฉบับให้สำนักพิมพ์พิจารณาจัดพิมพ์ เขียนเองพิมพ์เอง เสนอโครงเรื่องขอสปอนเซอร์จัดพิมพ์ให้ หรือจะเริ่มจากการเขียนลงเพจแล้วรวบรวมงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ ทั้งหมดนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการออกหนังสือสักเล่มด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าแต่ละวิธีนั้นมีความยากง่ายและใช้ทรัพยากรไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนมีพื้นฐานแบคกราวน์อะไร ถนัดเรื่องไหน หาความเชื่อมโยงช่วยเหลือจากใคร อย่างไรได้บ้าง
การเห็นภาพรวมที่มีปลายทางที่ชัดเจนว่าอยากออกหนังสือสักเล่ม พร้อมกับองค์ประกอบย่อยๆ ที่เป็นเส้นทางหรือวิธีการไปสู่เป้าหมายด้วยแนวคิดเกสตัลท์ ทำให้เราตระหนักว่าจำเป็นต้องหมั่นสังเกตโอกาส หรือเงื่อนไขที่สอดรับกับเป้าหมายของเราตลอดเวลา และต้องปรับและขยับตัวเองไปตามจังหวะและสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา เช่น หากที่ทำงานอยากได้งานเขียนประชาสัมพันธ์หน่วยงาน เราก็สามารถอาศัยจังหวะนี้ เสนอตัวเขียนบทความ เพื่อเป็นโอกาสให้เราได้ทดลองเขียนงาน ถือเป็นอีก 1 ก้าวที่จะทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายที่เราวางไว้
เมื่อชีวิตไม่ได้เป็นเส้นตรงและไม่ได้มีหนทางเดียวที่จะไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ ก็คงมีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่จะค้นหาว่ามีเส้นทางไหนที่เหมาะกับชีวิตเรา แต่ไม่ว่าเราจะเดินไปบนเส้นทางไหนต้องไม่ลืมว่า “ความสำเร็จจะเป็นสิ่งสำคัญแต่ความสุขระหว่างทางก็สำคัญไม่แพ้กัน”
ขอให้ทุกคนมีความสุข (ระหว่างทาง) และความสำเร็จ (ปลายทาง) นะคะ
เพชร ทิพย์สุวรรณ
อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ
ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant
ข่าวที่เกี่ยวข้อง