เวลาที่ทำอะไรผิดพลาดไม่ได้ดังใจทุกคนต้องเคยบ่นกับตัวเองด้วยคำพูดสุดคลาสสิค “รู้งี้ ไม่น่าเลย” การทบทวนดูว่าสิ่งที่ทำไปมีตรงไหนที่ยังไม่ดี ยังพอสามารถปรับปรุงได้อีก คิดง่ายๆ ว่าถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้ ถ้าหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเราจะทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม
เวลาที่ทำอะไรผิดพลาดไม่ได้ดังใจทุกคนต้องเคยบ่นกับตัวเองด้วยคำพูดสุดคลาสสิค “รู้งี้ ไม่น่าเลย” หลังจากที่อาทิตย์ที่แล้วชวนลงมือทำในสิ่งที่ตั้งใจใน 30 วันสุดท้ายของปี Work and Life อาทิตย์นี้ยังคงรักษาธีมชีวิตปลายปี อาทิตย์นี้ชวนให้คิดต่ออีกหน่อยว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างกับ New Year’s Resolution ในปีนี้ รวมถึง 30 วันสุดท้ายของการลงมือทำก่อนถึงสิ้นปี
การทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้หรือ Lesson Learned มีที่มาจากกิจกรรมทางการทหารที่เรียกว่า After Action Review ในแวดวงการบริหาร จัดการความรู้ (Knowledge Management) จะใช้ถอดบทเรียนการทำงานเพื่อให้เห็นว่างานที่ทำเสร็จไปมีอะไรที่ทำได้ดีอยู่แล้วและมีจุดไหนที่ต้องปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
กองทัพสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มพัฒนา After Action Review หรือเรียกย่อๆ AAR ให้เป็นเครื่องมือการปรับปรุงแผนการปฎิบัติภารกิจที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป ซึ่งมาคู่กับ Before Action Review หรือ BAR ที่ใช้ซักซ้อมแผนการต่างๆ ก่อนที่ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานจะลงมือปฎิบัติการทางการทหารจริงร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น หลังจากเสร็จภารกิจทุกฝ่ายก็จะมาทำ AAR ร่วมกันเพื่อทบทวนดูว่ามีข้อผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นระหว่างทำภารกิจบ้าง
ปีนี้อาจจะช้าไปที่จะทำ BAR สำหรับ New Year’s Resolution เต็มรูปแบบ แต่ถ้าเรายังอยู่ในภารกิจ 30 วันสุดท้ายที่ยังไล่ตามเป้าหมายและภารกิจ New Year’s Resolution ที่ตั้งใจไว้แบบได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง อยากให้ลองใช้เทคนิค BAR ดูนะคะ เช่น ถ้าต้องการออกกำลังกายทุกวัน แผนหลักคือการจัดเวลาให้ตัวเองสำหรับการออกกำลังการไว้ในตารางชีวิตทุกวัน 30 นาที แผนสำรองคือถ้าวันไหนพลาดตารางที่กำหนดไว้ช่วงเช้าหรืองานยุ่งมากในวันนั้นให้เปลี่ยนเป็นการเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์
สำหรับการทำ AAR ก็คล้ายกัน เพียงแต่เป็นการทบทวนดูว่าสิ่งที่ทำไปมีตรงไหนที่ยังไม่ดี ยังพอสามารถปรับปรุงได้อีก คิดง่ายๆ ว่าถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้ หรือ ถ้าเรื่องแบบนี้ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเราจะทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม
หลักการ AAR ไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะกับงานหรือเรื่องสำคัญๆ อย่าง New Year’s Resolution เท่านั้น เราสามารถนำมาใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เรารู้ว่ายังทำได้ไม่ดีหรือรู้สึกผิดหวังเสียใจ สังเกตง่ายๆ ว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เราพูดกับตัวเองว่า “รู้งี้ ไม่น่าเลย” เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ควรหยิบมาทำ AAR เพราะนอกจากทำให้เราสามารถป้องกันเหตุไม่ให้เกิดความผิดพลาดแบบเดิมซ้ำแล้ว เรายังได้บทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นทันทีในสิ่งที่พลาดไป
นอกจาก BAR และ AAR แล้วอีกเทคนิคที่ได้ผลดีคือการเปรียบเทียบวันที่เราทำเป้าหมายหรือภารกิจสำเร็จและไม่สำเร็จ ลองนึกดูว่าวันที่เราทำสำเร็จเกิดจากปัจจัยอะไร หรือมีแรงจูงใจอะไรเป็นพิเศษ เช่น การล็อคเวลาออกกำลังกายช่วงเช้ามีโอกาสทำได้มากกว่าและออกกำลังกายได้นานกว่าช่วงหัวค่ำ เพราะร่างกายยังสดชื่นอยู่และได้เห็นบรรยากาศธรรมชาติสีเขียวของต้นไม้ รวมถึงได้ยินเสียงนกร้อง เห็นกระรอกวิ่งเล่น ดังนั้นการจัดเวลาออกกำลังการสำหรับตัวเองในช่วงเช้าจะทำให้มีแรงจูงใจและรู้สึกเพลิดเพลินกับการออกกำลังกายมากกว่า ในวันที่ขี้เกียจลุกจากที่นอนก็จะบอกกับตัวเองว่าลุกออกไปเดินเล่น ดูกระรอกวิ่ง และฟังเสียงนกร้อง เรียกว่าเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดให้กิจกรรมที่เราไม่อยากทำมีความหมายขึ้นมาทันตาเห็น
การนำ BAR และ AAR มาใช้กับแผนปฎิบัติย่อยๆ ในแต่ละวัน จะช่วยให้ New Year’s Resolution ในปีนี้ของเรามีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะเหมือนเราทบทวนแก้ไข หาวิธีฝ่าด่านอุปสรรค ทำให้ดีขึ้นทุกวัน นี่คือความพยายามที่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เป็นการรักษาโมเมนตัมการลงมือทำ และฝึกนิสัยการไม่ท้อถอยล้มเลิกการคัน เวลาที่เหลือน้อยจึงไม่ใช่อุปสรรคที่สำคัญอีกต่อไป และความสำเร็จก็ไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลา 30 วันสุดท้ายเท่ากับความมุ่งมั่นตั้งใจ
ความสำเร็จของ New Year’s Resolution ปี 2023 จึงไม่ใช่การบรรลุเป้าหมายที่คิดไว้เมื่อตอนต้นปีแต่เป็นความพยายามและการลงมือทำ ทำไม่สำเร็จไม่เป็นไรให้คิดเสียว่าเป็นการซ้อมก่อนลงสนามจริงกับ New Year’s Resolution ปี 2024 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นพยายามทุกๆ วันนะคะ แล้วความสำเร็จจะมาถึงอย่างแน่นอน