SHORT CUT
เปิดใจ "จิรพิสิฐ์ รุจน์เจริญ" ประธานกลุ่ม YEC ผู้ผลักดันแมวโคราช สีสวาดไทย ให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทย โด่งดังไปไกลทั่วโลก
ทุกเมือง ไม่ว่ามีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ย่อมมีตัวตน เอกลักษณ์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้าน และวิถีชีวิต ของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ คือ "คุณค่า" สามารถถ่ายทอดบอกต่อสู่คนภายนอก เสมือนสินทรัพย์ที่ผ่านการสั่งสม
บางสิ่งบางอย่างที่เลือนลางไปตามกาลเวลา เมื่อถูกจับมาเล่าใหม่ให้ร่วมสมัย สามารถยกระดับให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่ง เฉกเช่น "แมวสีสวาด" หรือ "แมวโคราช" สัตว์พื้นถิ่นมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
หลังจากหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้เปิดตัวกางเกงแมวโคราช เกิดจากลายเมืองโคราชแบบโมโนแกรม (Monogram) ใช้รูปแมวเป็นแบบพิมพ์บนกางเกง สร้างแบรนด์ สะท้อนให้เห็นอัตลักษณ์ของเมืองโคราชได้อย่างชัดเจน ไปเมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา และได้เกิดกระแสแมวโคราชเป็น Soft Power
ต่อยอดผลักดันกางเกงแมวโคราช สู่ระดับนานาชาติผ่านไอเทมในเกมออนไลน์ชื่อดัง อย่าง เกม Free Fire (ฟรี ไพร์) ที่มีผู้เล่นกว่า 560 ล้านคน จาก 160 ประเทศทั่วโลก เป็นการเผยแพร่เสน่ห์ของลวดลาย ออกไปสู่สายตาต่างชาติ
จิรพิสิฐ์ รุจน์เจริญ ประธานกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญ ที่ผลักดัน แมวโคราช ซอฟต์พาวเวอร์ไทย จากท้องถิ่นไปสู่ระดับโลก ด้วยการใช้ดิจิทัลคอนเทนต์ จากอุตสาหกรรมเกม และอีสปอร์ต ที่กำลังเติบโต
"ผมคิดว่า วันหนึ่งมันจะต้องดร็อปแน่เลย กางเกงคงไม่ได้ใส่ทุกวัน แล้วจะทำยังไงต่อได้บ้าง ผมมีโอกาสได้คุยกับบริษัทเกม บริษัทหนึ่งชื่อว่า การีนา ก็มีการคุยกันว่า เราจะเอาอัตลักษณ์ หรือซอฟต์พาวเวอร์อะไรต่างๆ เข้าไปอยู่ในเกมได้ แต่ว่าเกิดจะให้ผลลัพธ์ที่ต้องการ มองว่ารัฐบาลต้องมีส่วนช่วย และเป็นส่วนสำคัญด้วย พอดีว่า ท่านรัฐมนตรีท่องเที่ยวก็ซัพพอร์ต กระทรวงวัฒนธรรมโอเค แล้วกระทรวงสุดท้าย คือ กระทรวงดิจิทัลฯ ทั้ง 3 รัฐมนตรีในสมัยนั้นก็ซัพพอร์ตหมดเลย ก็เอาเรื่องนี้ไปคุยที่สำนักนายกฯ ด้วย ว่าซอฟต์พาเวอร์น่าจะเข้ามาร่วมแจมด้วยน่าจะดี หลังจากนั้นก็ทั้งสื่อไทย สื่อต่างชาติ ให้ความสนใจกับคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์มากขึ้น แล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย กางเกงแมวไปอยู่ในไอเทมเกม Free Frie" นักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ เล่าแรงจูงใจในการผลักดันกางเกงแมว เข้าไปเป็นไอเทมแฟชั่นเกมที่ได้รับความนิยมทั่วโลก
จิรพิสิฐ์ ยังเจ้าของคาแรกเตอร์ดีไซน์ "เจ้าเมื่อย" Art Toy แมวผสมกับความ "มูเตลู" ออกมาเป็นแมวกวัก หรือแมวมงคล มีเป้าประสงค์ให้เมืองโคราชเป็นที่รู้จักไปทั่วจากโลก Art Toy ต่อยอดสร้างรายได้จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว
"คนรู้จักเมืองเราแล้ว คนรู้จักคำว่าโคราชแคท คนรู้จักซิตี้แคท แล้วแต่จะเสิร์ชว่าอะไร แต่อย่างน้อย มีคำว่าโคราชที่ติดออกไป เราเริ่มเห็นต่างชาติมาเที่ยวมากขึ้น เราจะทำอะไรต่อ จากการฟรีมีเดีย และรับรู้ออกไปทั่วโลกขนาดนี้ ผมเอาอัตลักษณ์มาเป็นคาแรกเตอร์ดีไซน์ เจ้าเมื่อย คำว่าเมื่อยเป็นเชิงบวก ความหมายคือ กวักเงินกวักทองจนเมื่อย นับเงินจนเมื่อย นับเงินจนเบื่อ เป็นแมวโชคดี"
"อันที่สอง คือ หน้าของเมื่อย คือ เบื่อ ผมอยากให้เป็นตัวแทนของคนที่มีความฝันแต่ยังติดกรอบ ให้เด็กมาครีเอทชุดเจ้าเมื่อย ถ้าตัวเองเป็นแมว ตัวเองจะออกแบบชุดมาเป็นแบบไหน มีทั้งเป็นคนดูแลสวนสัตว์ นักบินอวกาศ แฟชั่นดีไซเนอร์ บางทีคนอาจจะจำโคราชด้วยย่าโม ด้วยผัดหมี่ ด้วยผ้าไหม ด้วยอะไรก็แล้วแต่ แต่ผมอยากจะสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง คือ เมืองแมว แต่คำว่าแมวของผม มันแค่เป็นตัวหนึ่งให้คนจำได้ แต่มันจะแตกไปเรื่องอื่นได้อีกเยอะมาก"
"รุ่นแรกที่เราทำ จีน ชอบมาก เราเอาเจ้าเมื่อยไปปลุกเสก แล้วก็ในกล่องจะมีแผ่นทอง เราแค่รู้สึกว่า เพิ่มความมงคลสายมู เป็นแมวกวักที่อยู่หน้าเคาน์เตอร์ อยู่แบบมินิมอลๆ แล้วก็ออกแบบมา แล้วก็ให้มันไปอยู้เคาน์เตอร์ร้านกาแฟ แล้วก็กลายเป็นว่า Gen C ซื้อไปเยอะ Gen ใหม่ๆ อยากมูนะ แต่ไม่อยากตะโกน อยากให้คนรู้ว่า ก็นี่เป็นแมวกวัก แต่เป็นเวอร์ชั่นแบบน่ารัก อะไรประมาณนั้น"
จิรพิสิฐ์ ตั้งใจใช้ เจ้าเมื่อย ส่งเสริมผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ สะท้อนวัฒนธรรม เรื่องราว และเสน่ห์ของประเทศไทย เหมือน "คูมะมง" มาสคอตหมีเพศผู้ สร้างโดยรัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดคูมาโมโตะ บนเกาะคิวชู ทางภาคใต้ของญี่ปุ่น นอกจากเป็นมาสคอตใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังใช้เป็นสัญลักษณ์ปลอบประโลม และเยียวยาร่างกาย และจิตใจ ผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยมีการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากถึง 23,000 ตัว
"ฝั่งเอกชนที่ไปต่อได้ ก็คือ เอาสินค้า วิสาหกิจชุมชน มาใส่แบนด์คาแรกเตอร์ดีไซน์ เหมือนเมืองคุมะมง เหมือนอะไรอย่างนี้ แล้วก็มันไปร่วมกับอีกหลายแบนด์ที่เขาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหารแมว หรือว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ ที่ช่วยดึงคาแรกเตอร์นี้ขึ้นไป พอคนรู้จักมากขึ้น มันถึงจะมาช่วยเหลือชุมชนได้ ไม่อย่างนั้นต่อให้เราร่วมมือกับชุมชนไป ทำสินค้าชุมชน คนอาจจะไม่รู้จัก ตอนนี้ต่างชาติ มาซื้อแมวสีสวาดมากขึ้น เริ่มมีการแชร์แมวสีสวาด ต้นกำเนิดที่พิมาย แมวโคราชก็เลยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่ไม่ใช่เจ้าเมื่อยก็ได้ นี่คือสิ่งหนึ่งที่ผมก็รู้สึกภูมิใจนะ กับการที่ทำให้คนรู้จักแมวไทยมากขึ้น แล้วคนเขาก็ไปเสิร์ชแมวพันธุ์อื่น วิเชียรมาศ โกนจา นู่นนี่นั่น"
ประธานกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา บอกอีกว่า ส่วนตัวคิดว่า ระบบนิเวศ Soft Power ควรจะมีการสร้างสรรค์ผลงาน หรือหยิบยกอัตลักษณ์ใดๆ ที่น่าสนใจขึ้นมาอย่างสร้างสรรค์ ช่วยกันส่งเสริมทั้งภาครัฐ และเอกชน มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดภาพจำ เขาจึงนำเสนอโปรเจกต์ Korat First Hub For Korat Tourism กับทางจังหวัด
รวบรวมข้อมูลเมืองโคราช ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ขายของที่ระลึก ฯลฯ มาไว้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ นำเอาคาแรกเตอร์ดีไซน์แมวโคราช เข้าไปใส่เพื่อสร้างแรงจูงใจ เป็นตัวแทนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ พากินพาเที่ยวเมืองโคราช
"ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ คนโคราชยังไม่ค่อยรู้เลย ต่างชาติจะรู้ได้ยังไง หรือว่าคนนอกเมืองจะรู้ได้ยังไง ถ้าเขาจะต้องมา ทำกิจกรรม มาประชุม หรือมาทำอะไรที่นี่ ข้อมูลที่ไหนที่มันจะรวบรวมได้ ก็เลยเสนอแพลตฟอร์มขึ้นไปให้กับทางภาครัฐ รวมตั้งแต่ของกิน ที่เที่ยว ของฝาก เข้ามาในเว็บฯ เดียว ก็คือเจอหมดเลย แล้วก็เอาคาแรกเตอร์ดีไซน์ใส่เข้าไป ให้เขาดูว่า อ๋อโอเค ถ้าเกิดเห็นตัวนี้คือเรื่องนี้ เล่าเรื่องราวผ่านการ์ตูน เด็กหรือผู้ใหญ่ก็จะจำได้ ในโคราชมีคนออกแบบคาแรกดีไซน์ไม่น้อย ผมเปิดโอกาสให้หมดเลย ออกแบบมาเลย แมวมีเป็นสิบตัวร้อยตัว มันคือเมืองของแมว ฉะนั้นในเว็บฯ ไม่ใช่มีแค่เจ้าเมื่อย มันจะมีแมวตัวอื่นบอกเล่าเรื่องนี้ แมวเรื่องนี้จากศิลปินคนนี้ในเมืองของเรา เป็นเมืองสร้างสรรค์แล้วก็ดึงเศรษฐกิจเข้ามาด้วย"
หนึ่งในจิ๊กซอว์ตัวสำคัญ ปะติดปะต่อ "แมวโคราช" ให้กลายมาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ขับเคลื่อนจากท้องถิ่น สู่ระดับประเทศ และระดับโลก ยอมรับว่า รู้สึกภูมิใจ ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้กับเมืองรองต่างๆ นำรากเหง้าวัฒนธรรม มาเล่าให้ร่วมสมัย ถ่ายทอดสู่คนภายนอก ส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การจะเรียกความสนใจจากผู้คนภายนอกได้ ต้องรู้ก่อนว่า เรามีอะไรดี มีอะไรน่าสนใจ นำมาสื่อสารซ้ำๆ ออกไป
"การที่จะทำเรื่องเมืองเนี่ย เราต้องอ่านเรื่องเมืองให้ลึกก่อน เมืองเราเกิดมาได้ยังไง ทำไมย่าโมถึงชนะ ทำไมต้องเป็นแมว ทำไมต้องนู่นนี่นั่น จนรู้สึกว่า แมวน่าหยิบมาเล่น น่าหยิบมาเล่าใหม่ ทำไมเราถึงฮิตกับสก็อตติชได้ ทำไมเราถึงฮิตกับแมวต่างชาติได้ แมวเราสตอรี่ก็แน่น สตอรี่ก็ดีจนต่างชาติบินมาเพื่อมาซื้อแมวสีสวาด ก่อนที่ผมจะออกแบบตัวนี้นะ แมวอยู่กับโคราชมา 400 ปีแล้ว อยู่ในสมุดข่อยโบราณ เขาเชื่อกันว่า ถ้าแมวสีสวาทอยู่กับใคร คือ คนนั้นโชคดี แล้วก็เวลาที่หน้าแล้ง เขาใช้แมวตัวนี้ขอฝน ตอนที่ผมคิดตอนแรกเลย คือ ตัวหัวครับ เป็นดอกประจำจังหวัด คือ ดอกสาธร ส่วนฐานเป็นฐานของย่าโม เป็นฐานสี่ด้านมงคลผมชอบ และก็หางเป็นตัว K คือความเจริญรุ่งเรือง คือ ชีวิตเราจะชี้ขึ้น มันจะมีขึ้นมีลง แต่มันจะต้องชี้ขึ้นตลอดเวลา"
เขาทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ถ้าเจ้าเมื่อยเหมือนลูก น่าจะอายุประมาณ 5 ขวบ เตาะแตะลองผิดลองถูก ทางนี้ไปได้ ทางนั้นไปได้หรือไม่ อาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งให้กับสัตว์ตัวอื่น อยู่ในจังหวัดต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นมา โดยมีเจ้าเมื่อยเป็นต้นแบบ
"ดูเจ้าเมื่อยก็ได้ว่า เจ้าเมื่อยเดินตรงนี้ผิดตรงนี้ถูก แล้วก็จะเกิดเสือ เกิดช้าง เกิดอะไรไม่รู้ แต่ละเมืองอาจจะเกิดประติมากรรมรูปแบบใหม่ อาจจะเกิดแอนนิเมชั่น อาจจะเกิดอะไรที่ไปไกลกว่านี้ก็ได้"