นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล คิดค้นวิธี VCOFs ซึ่งสามารถแยกทองคำออกจากแผงวงจร ที่พบในขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ แถมยังแยกโลหะมีค่าอื่น ๆ ได้ด้วย
อุปกรณ์ที่เราใช้อยู่ทุกวันนั้น สามารถกลายเป็น E-waste ได้เมื่อหมดอายุการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ สายชาร์จ พัดลม เตารีด ฯลฯ รู้หรือไม่ว่า ในแต่ละปี โลกสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 50 ล้านตัน ขณะที่ไทยสร้าง E-waste ปัละ 380,000 ตัน
แต่ขยะเหล่านี้กลับถูกรีไซเคิลได้แค่กระหย่อมเดียวเท่านั้น ของไทยสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 7.1% ขณะที่ทั่วโลกสามารถรีไซเคิลได้เพียง 20% แล้วส่วนที่เหลือล่ะ... ล่าสุด นักวิทย์หัวใสคิดวิธีเปลี่ยน E-waste เป็นทองได้แล้ว
แม้ไม่ใช่ไอเดียใหม่อะไร แต่กรรมวิธีนั้นนับว่า “ว้าว” มาก เพราะเดิมที การจะสกัดทองคำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นต้องใช้สารพิษอันตราย จำพวก ไซยาไนด์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อทั้งคน และสิ่งแวดล้อม
ผู้วิจัยในครั้งนี้ชื่อ Amin Zadehnazari เป็นนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล นำเสนอวิธี VCOFs ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ออกแบบมาเพื่อแยกไอออนทองคำ และอนุภาคนาโนจากแผงวงจรซับซ้อนที่พบในขยะอิเล็กทรอนิกส์
ข้อมูลระบุว่า VCOFs สามารถจำแนก และตรวจจับทองคำในแผงวงจรได้มากถึง 99.9% และยังสามารถแยกโลหะอื่น ๆ ได้ด้วย อาทิ นิกเกิล ทองแดง ฯลฯ แล้วเอาทองคำออกมายังไง
ต้องบอกว่า VCOFs มีองค์ประกอบพื้นฐานอยู่ 2 อย่างคือ เตตระไธอะฟุลวาลีน (TTF) และเตตระฟีนิลเอทิลีน (TPE) อย่างแรกทำหน้าที่คอยดึงดูดทองคำออกมาได้ ความพิเศษก็คือ กรรมวิธีสามารถทำซ้ำได้ 16 ครั้ง
Alireza Abbaspourrad หนึ่งในผู้เขียนวิจัยชิ้นนี้ เปิดเผยว่า “การทราบว่าทองคำและโลหะมีค่าอื่นๆ ใส่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้มากเพียงใด ความสามารถในการกู้คืนในลักษณะที่คุณสามารถจับโลหะที่คุณต้องการได้ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก”
นี่เป็นการแสวงหาวิธีใหม่ ๆ ในการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยการเพิ่มมูลค่า ด้วยวิธิทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นเรื่องดี เพราะในอนาคต โลกจะสร้าง E-waste มากถึง 80 ล้านตันต่อปี และการค้นพบวิธีใหม่ ๆ ก็จะช่วยลดปริมาณลงได้บ้าง
ที่มา: Earth
ข่าวที่เกี่ยวข้อง