SHORT CUT
ภาคธุรกิจไทย ยังคงเดินหน้าเร่งสร้างความยั่งยืนต่อเนื่อง เพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ทั้งเรื่องความยั่งยืนเรื่องน้ำขยะการจัดการน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการเติมความรู้แยกขยะในโรงเรียน
ชั่วโมงนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องเร่งเครื่องสร้างความยั่งยืนเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆทั้งรัฐ และเอกชน ภาคธุรกิจ รวมถึงภาคประชาชนร่วมด้วยช่วยกันจึงจะทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น วันนี้ #SPRiNG จะพาไปดูแผนสร้างความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทยบางส่วนว่าขณะนี้ได้ทำอะไรไปบ้าง อย่างเช่นล่าสุด สหพัฒนพิบูล หรือ SPC รวมพลังเครือข่ายพันธมิตร เดินหน้า “สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ภายใต้โครงการ Care the Whale ขยะล่องหน @ชุมชน เข้าสู่ปีที่ 4 พร้อมทั้งได้ปักหมุดจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องแยกขยะตามโรงเรียน 5 แห่ง
ทั้งนี้มุ่งปลูกฝังเยาวชนและชุมชนรู้จักการคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง เพื่อร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งการกำจัดขยะให้ถูกวิธี และการนำขยะเหลือทิ้งมา DIY เพื่อให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ สอดรับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยนางชัยลดา ตันติเวชกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า สหพัฒนพิบูล เดินหน้า “สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ภายใต้โครงการ Care the Whale ขยะล่องหน @ชุมชน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยรวมพลังความร่วมมือของภาคธุรกิจ ภาคสังคม และภาคชุมชน
ล่าสุดทีมงาน ได้ลงพื้นที่โรงเรียน 5 แห่งในจังหวัดสมุทรปราการ จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องแยกขยะ เน้นการสร้างจิตสำนึกให้ความรู้ความเข้าใจการจัดการขยะ ผ่านแคมเปญ “เก็บ แยก แลก เร๊ววว” ที่รณรงค์ให้คนในชุมชนนำขยะมาแลกสิ่งของอุปโภคบริโภค ปรับมุมมองแนวคิดการบริหารจัดการขยะ สร้างความเข้าใจถึงการคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างถูกต้อง เพื่อสามารถรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของสหพัฒนพิบูลสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
นอกจากนี้ยังสนับสนุนสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับชุมชนเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพผ่านแคมเปญ “เก็บ แยก แลก เร๊ววว” ในปี 2567 ได้เปิดโอกาสให้คนในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสใช้ของที่มีคุณภาพของสหพัฒน์ และหลังจากที่ให้ความรู้เรื่องขยะและการคัดแยกขยะกับนักเรียนไปแล้ว จะให้โรงเรียนดำเนินการคัดแยกขยะและนำมาส่งที่วัดจากแดง เพื่อนำขยะไปแปรรูปมาทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งโรงเรียนที่นำวัสดุขยะมาแลกกับสถานีขยะล่องหน ทางสหพัฒน์ได้สนับสนุนสินค้าบริโภคที่นำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับมื้ออาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน รวมถึงสินค้าอุปโภคที่นำไปใช้ประโยชน์ภายในโรงเรียนต่อไป
สำหรับผลการดำเนินงาน “สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งเสริมการบริหารจัดการขยะในคุ้งบางกะเจ้ารวม 378,759 กิโลกรัม ลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 341,559 kgCO2e เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 37,951 ต้น และในปี 2567 มีเป้าหมายว่าโครงการจะสามารถขับเคลื่อนให้ชุมชน หน่วยงาน ร้านค้า จัดการคัดแยกขยะได้ 500,000 กิโลกรัม เพิ่ม ขึ้นกว่า 40% จากปีก่อน
มาดูกันที่อีกหนึ่งโครงการดีๆจากที่เชลล์นำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปัญหาเรื่องการจัดการน้ำเป็นต้นกำเนิดของความท้าทายทางเศรษฐกิจของชุมชน พลังงานสะอาดที่กำลังเป็นที่นิยมในทุกภาคส่วน ถูกนำมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน เชลล์ บริษัทพลังงานชั้นนำระดับโลก ผสานความร่วมมือพันธมิตรหลัก
เช่น สำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันประจำประเทศไทย (GIZ) เทศบาลตำบลทุ่งหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด และวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ริเริ่มโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการน้ำและการเกษตรแบบยั่งยืนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Shell Water Resource Management) เพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำที่เป็นรากฐานความท้าทายทางเศรษฐกิจของชุมชน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นกลไกขับเคลื่อนสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
นางสาวอรอุทัย ณ เชียงใหม่ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ถือเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์กรในปัจจุบัน ขณะเดียวกันเชลล์ก็ได้ปรับกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว ภายใต้การดำเนินงานที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน (Powering Lives) โดยใช้การลงทุนทางสังคม (Social Investment) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน มุ่งสร้างผลตอบแทนเชิงสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้สังคม เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและสร้างผลกระทบเชิงบวกระยะยาว
สำหรับโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการน้ำและการเกษตรแบบยั่งยืนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นโครงการที่เชลล์ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาระบบจัดการน้ำอย่างครบวงจร และยกระดับการทำการเกษตรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน มุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยการพัฒนาการชลประทานผ่านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ สู่ระบบผลิตน้ำดื่มสะอาด ช่วยให้ชุมชนสามารถจัดสรรน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึง รวมถึงสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลระบบน้ำอย่างเป็นรูปธรรม เพื่ออบรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์และการบำรุงรักษา ตลอดจนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมต่อยอดด้วยการส่งเสริมการทำเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับศักยภาพและพัฒนาทักษะของเกษตรกร เยาวชน และชุมชนในพื้นที่
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวส่งผลให้ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการมีน้ำใช้อย่างเพียงพอทั้งในครัวเรือนและการเกษตร ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำดื่มของครัวเรือน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรจากการใช้น้ำได้อย่างต่อเนื่องสิ่งเหล่านี้ส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาว นอกจากนี้ โครงการยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้กับเยาวชนและเกษตรกร ช่วยให้ชุมชนสามารถดูแลระบบได้ด้วยตนเองในอนาคต จากการนำทรัพยากรที่ได้รับมาต่อยอดเพื่อรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงในชุมชน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ในด้านการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตามเชลล์นำความเชี่ยวชาญด้านพลังงานมาช่วยในการส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการน้ำและการเกษตรแบบยั่งยืน พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนที่ร่วมโครงการนี้กว่า 3,390 คน ผ่านการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมใน 3 พื้นที่สำคัญได้แก่ โรงเรียนบ้านตาหยวก ระบบชลประทานด้วยระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการพัฒนา มีน้ำที่เหมาะสมไว้ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน สร้างประโยชน์ให้กับทั้งเกษตรกร นักเรียน และผู้ปกครองในพื้นที่กว่า 1,300 ราย เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในท้องถิ่นจากการปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทน และเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของชุมชนและภาคีเครือข่ายเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วยพลังงานสะอาดเพื่อการเกษตรยั่งยืน
ขณะที่บ้านโพนเดื่อ ระบบสูบน้ำบาดาลและตู้จ่ายน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถผลิตน้ำดื่มคุณภาพได้วันละ 1,200 ลิตร ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายชุมชนได้ 155,596 บาทในเวลาเพียง 4 เดือน และยังขยายการผลิตจัดตั้งเป็นวิสาหกิจน้ำดื่มชุมชน สร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรมจากการจำหน่ายไปยังชุมชนใกล้เคียง ส่วนที่บ้านโนนสวรรค์
นอกจากโรงสีข้าวชุมชนจะสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานและการบริโภคของครอบครัวชาวนาแล้ว วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้สถานที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาการผลิต และกระจายข้าวพันธุ์ดี ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาระบบนิเวศน์ในนาข้าวของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และความเข้มแข็งของชุมชน ในการนำพลังงานสะอาดมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะความรู้และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน
ทั้งหมดนับว่าเป็นโครงการเพื่อความยั่งยืนที่ดีที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และเกิดความยั่งยืนยิ่งๆขึ้นไป และนำไทยสู่เป้าหมาย Net Zero ได้เร็วขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกาหลีใต้ ใช้ AI เปลี่ยนวิกฤตขยะพลาสติก ให้กลายเป็นโอกาสแห่งความยั่งยืน
ไทยเร่งเดินหน้าพันธกิจด้าน "ความยั่งยืน" นำประเทศสู่…เป้าหมาย Net Zero 2065
"ESG คือโอกาส" ชวนสำรวจแนวคิดที่ทำให้ WHAUP ติดปีกธุรกิจสู่ความยั่งยืน