SHORT CUT
ผลการวิจัยซึ่งนำโดยออสเตรเลียและเผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ พบว่า ภาคการท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ตลอดช่วง 10 ปี เมื่อนับจนถึงปี 2019
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ผลการวิจัยระบุว่า การปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) หรือ ปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 3.7 กิกะตัน (Gt) ในปี 2009 มาเป็น 5.2 กิกะตันในปี 2019 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.5
อัตราการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการท่องเที่ยว อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยพบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกแหล่งต้นตอทั่วโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อปี จาก 50.9 กิกะตันในปี 2009 เป็น 59.1 กิกะตันในปี 2019
ภาคการท่องเที่ยวครองสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 8.8 จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลกในปี 2019 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 ในปี 2009
รายงานระบุว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นแรงผลักดันให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ มหาวิทยาลัยกริฟฟิท มหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลีย รวมถึงมหาวิทยาลัยลินเนียของสวีเดน ได้ติดตามการเดินทางระหว่างประเทศและภายในประเทศใน 175 ประเทศ
คณะนักวิจัยแนะนำหลายมาตรการเพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การลดเที่ยวบินระยะไกล การเก็บภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ การกำหนดงบประมาณคาร์บอน และกำหนดภาระผูกพันด้านเชื้อเพลิงทางเลือกให้สายการบินรับผิดชอบ
ส่วนระดับท้องถิ่น คณะนักวิจัยระบุว่าผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวสามารถหันมาใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกับที่พัก อาหาร และกิจกรรมความบันเทิง ตลอดจนเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งแทนได้