คอลัมน์ Keep the world พางัดแงะความจริงของ e-Fuels หรือเชื้อเพลิงสังเคราะห์ ที่เชื่อกันว่าเป็นน้ำมันทางเลือก ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทำไมนักวิชาการ หรือหน่วยงานต่าง ๆ มองว่า นี่อาจจะสกัดการเติบโตของรถยนต์ EV
เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 สหภาพยุโรป (EU) อนุมัติกฎหมายให้รถยนต์ใหม่ (สันดาป) ทุกคันที่ขาย ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ภายในปี 2035 และในปี 2035 ระดับการปล่อยคาร์บอนของรถยนต์ต้องต่ำกว่า 55%
ดูจากความตั้งใจแล้วก็นับว่าเป็นข่าวดี แต่หลายประเทศออกมาคัดค้าน อาทิ เยอรมนี โปแลนด์ อิตาลี โรมาเนีย ฯลฯ โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายนี้จะทำให้ต้นทุนยานพาหนะพุ่งสูงขึ้น ทั้งยังเสนอว่าให้ใช้ e-Fuels ย่อมาจาก Electrofuels ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์
ย้อนกลับไป 2 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตลาดน้ำมันทั่วโลกปรับราคาสูงขึ้น จนกลุ่มจี 7 กำหนดเพดานราคาน้ำมันจากรัสเซีย แต่น้ำมันก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยานพาหนะ และภาคขนส่งมวลชน
จึงมีการถกเถียงในแง่มุมสิ่งแวดล้อมถึงการคิดค้นน้ำมันทางเลือกที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง e-Fuels คือดาวเด่นแห่งวงการที่น่าจับตา วันนี้ SPRiNG ชวนทำความรู้จัก และชำแหละข้อดีของ Electrofuels กัน
เชื้อเพลิงสังเคราะห์ หรือ Symthetic Fuels เป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตขึ้นจากกระบวนการทางเคมีจากวัตถุดิบ ที่ไม่ใช่ปิโตรเลียม อาทิ ก๊าซคาร์บอน ก๊าซธรรมชาติ ชีวมวล รวมถึงไฮโดรเจน นอกจากนี้ ตลอดวงจรชีวิตของเชื้อเพลิงสังเคราะห์ ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์
ปัจจุบัน มีการนำเชื้อเพลิงสังเคราะห์มาใช้งานกับเครื่องยนต์สันดาป ไม่ว่าจะเป็น รถ เรือ หรือเครื่องบิน คุณสมบัติเด่นที่สุด ที่นักวิชาการมองว่าอาจส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมคือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน แต่ต้องบอกว่าปัจจุบันนี้ e-Fuels ยังไม่มีการผลิตในระดับมหาภาค
แต่แบรนด์รถยนต์บางยี่ห้อก็เริ่มต้นพัฒนาเชื้อเพลิงสังเคราะห์กันบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น Audi คิดค้น e-benzin หรือ Porche ที่ร่วมมือกับผู้ผลิตน้ำมัน ตั้ง Haru Oni โรงงานผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ในประเทศชิลี นอกจากรถยนต์แล้ว ภาคการบินก็เดินเครื่องพัฒนา e-Fuels แล้วเช่นกัน อาทิ Norsk e-Fuel
แม้ในทางวิชาการน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์จะเป็นความหวังในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย สภาระหว่างประเทศว่าด้วยการขนส่งที่สะอาด หรือ ICCT ชี้ว่า กระบวนการผลิต e-Fuels สูญเสียพลังงานเกือบ 50% ของพลังงานที่ใช้
และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า น้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ยังไม่มีการผลิตเชิงพาณิชย์ ICCT เปิดเผยว่า ต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงชนิดนี้อาจสูงถึง 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อลิตร
ขณะที่ Transport & environment หรือ T&E หน่วยงานเอกชนที่ทำงานส่งเสริมการขนส่งอย่างยั่งยืนในยุโรป ได้วิเคราะห์ว่า e-Fuels อาจทำให้ยอดขายแบตเตอรี่ไฟฟ้า (เฉพาะในยุโรป) ต่ำกว่าเป้าประมาณ 26-46 ล้านคัน ภายในปี 2050
สอดคล้องกับข้อมูลจากวารสาร Nature ตีพิมพ์เมื่อปี 2021 ซึ่งระบุว่า ต้นทุนการผลิต e-Fuels มีราคาสูง และการนำน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์มาใช้กับรถยนต์สันดาป อาจต้องใช้พลังงานจากไฟฟ้าหมุนเวียนมากกว่ารถยนต์ EV ปกติถึง 5 เท่า ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ยุโรปอาจไม่มีพลังงานหมุนเวียนสำรองที่เพียงในการผลิต
แม้ก้าวแรกจะมีอุปสรรคใหญ่หลายข้อให้ก้าวข้ามไป แต่ปฏิเสธได้ยากเหลือเกินว่าน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่ยังชื่นชอบการขับขี่รถยนต์สันดาป แต่ยังไม่เป้าหมายเดียวกันกับคนใช้รถยนต์ไฟฟ้า นั่นคือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่ออากาศสะอาด และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง