ราคาน้ำมันแพงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง แล้วทำไมเมื่อราคาน้ำมันทั่วโลกประกาศลดลง ราคาน้ำมันไทยถึงไม่ลดตามในทันที ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน ? มารู้จักโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทย เพื่อจะได้เข้าใจกันมากขึ้น !
ประเด็นยอดฮิต ที่มีการพูดถึงกันบ่อย ๆ วันนี้ราคาน้ำมันลง ผ่านไปวันสองวัน ก็ขึ้นกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว หรือบางครั้งก็ขึ้นนำราคาเดิมไปเลยด้วยซ้ำ จะเข้าใจราคาน้ำมันที่ผันผวนนี้ได้ เราทุกคนจำเป็นต้องเข้าใจโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันในบ้านของเรากันก่อน
โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันของไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
1. ราคาเนื้อน้ำมัน หรือราคาหน้าโรงกลั่น มีสัดส่วนประมาณ 60 - 70 % ของราคาขายปลีกน้ำมันซึ่งมาจากต้นทุนน้ำมันดิบ ค่าขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของโรงกลั่น โดยประเทศไทยอ้างอิงราคาในส่วนนี้ตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดกลางสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเซีย และราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคาที่ประกาศโดยประเทศสิงคโปร์ หรือ โรงกลั่นสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยราคาน้ำมันในส่วนนี้จะมีค่าในการปรับปรุงคุณภาพ เพื่อปรับให้สอดคล้องกับคุณภาพของประเทศไทย ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย และอื่นๆ ทั้งนี้หลักการอ้างอิงราคาดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค อาทิ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย เป็นต้น
2. ภาษีและกองทุน มีสัดส่วนประมาณ 25 - 30% ของราคาขายปลีกน้ำมัน ซึ่งโครงสร้างในส่วนนี้อยากให้ทุกคนกาดอกจันไว้เลยครับ เพราะถือเป็นตัวแปรสำคัญของราคาน้ำมัน เนื่องจากมีองค์ประกอบที่ต้องจ่ายหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น
- ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บจากสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิง
- ภาษีเทศบาล เป็นภาษีที่ต้องจ่ายให้หน่วยงานท้องถิ่น จะคิดในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เป็นภาษีการบริโภคที่กรมสรรพากรจัดเก็บเมื่อมีการขายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
- กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ใช้สนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และวิจัยด้านพลังงาน
3. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในประเทศไทยอย่างมาก เพราะว่ารัฐบาลไทยจะใช้กลไกจากกองทุนนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ
อย่างในช่วงที่เกิดวิกฤตราคาพลังงานทั่วโลก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ภาครัฐจัดเก็บจากผู้ใช้น้ำมันนี้ จะมีส่วนช่วยในการนำเงินของกองทุนฯเข้ามาอุดหนุนราคา ทำให้ประเทศไทยมีน้ำมันใช้ในราคาที่ไม่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น แต่ในทางกลับกัน บางครั้งที่สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ก็ต้องมีการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อคืนเข้าสู่กองทุนฯ จึงส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันไม่ลดลงตามไปด้วย หรืออาจจะลดลงช้ากว่าตลาดโลกในช่วงนั้น ๆ
ซึ่งโครงสร้างในส่วนนี้ ทั้งภาษีและกองทุน ขีดเส้นใต้ไว้เลยนะครับว่า "ภาครัฐ" เป็นผู้กำหนดอัตราในการจัดเก็บ กลับมาที่โครงสร้างในส่วนสุดท้าย คือ 3. ค่าการตลาด อีกประมาณ 5% ของราคาขายปลีกน้ำมัน เป็นผลตอบแทนก่อนหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของสถานีบริการ ซึ่งนี่ยังไม่ใช่กำไรสุทธิ โดยสถานีบริการหรือปั๊มมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ เช่น เงินลงทุนก่อสร้างสถานี ค่าพนักงาน ค่าน้ำไฟ ค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด ของเจ้าของสถานีบริการและผู้ค้าน้ำมัน
ซึ่งจากโครงสร้างทั้งหมดที่ว่ามา จะเห็นได้ว่าราคาเนื้อน้ำมันจริง ๆ อยู่ที่ประมาณ 60 - 70 % อย่างถ้าน้ำมันราคาขายปลีก 35 บาทต่อลิตร เนื้อน้ำมันก็จะอยู่ที่ประมาณ 24 บาท ส่วนที่เหลือ 11 บาท คือค่าภาษี กองทุนและค่าการตลาด นั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้นราคาขายปลีกน้ำมัน มักจะผันผวนตามปัจจัยต่างๆอยู่แล้ว เช่น สภาพเศรษฐกิจ ฤดูกาล สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ข้อตกลงระหว่างประเทศผู้ค้าน้ำมัน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และความสนใจต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงนโยบายความมั่นคงทางพลังงานของแต่ละประเทศด้วย
แล้วเพื่อนบ้านเราราคาขายปลีกน้ำมันเป็นยังไงบ้าง ?
ไปดูที่มาเลเซีย ประเทศในอาเซียนที่มีราคาขายปลีกน้ำมันที่ค่อนข้างถูก เพราะว่าประเทศมาเลเซียมีน้ำมันดิบเหลือใช้และส่งออก อีกทั้งรัฐบาลของมาเลเซียเขายังมีนโยบาย อุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล โดยมีการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ 2.15 ริงกิต / ลิตร เทียบเป็นเงินไทยก็ 16.88 บาท/ลิตร โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2523 มาจนถึง 9 มิ.ย. 67 เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนของเขา จากข้อมูลพบว่า ปี 2566 ปีเดียว รัฐบาลมาเลเซียใช้งบประมาณในการตรึงราคาดีเซลมากถึง 1.43 หมื่นล้านริงกิตหรือ 1.12 แสนล้านบาท หลังจากนั้นวันที่ 10 มิ.ย. 2567 รัฐบาลของมาเลเซียได้ประกาศหยุดตรึงราคา ปล่อยให้ราคาขายปลีกดีเซลเป็นไปตามกลไกตลาด ภายใต้เพดานที่กำหนด ทำให้ราคาขายปลีกดีเซลพุ่งขึ้นเป็น 3.35 ริงกิต/ลิตร หรือประมาณ 26.30 บาท คิดเป็นประมาณ 55% แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลมาเลเซียเองเขาก็ออกมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำมันกับประชาชนเฉพาะกลุ่ม และธุรกิจบางประเภท จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ผลจากมาตรการดังกล่าว คาดว่าจะทำให้มาเลเซีย ลดการใช้งบประมาณไปได้ถึง 4 พันล้านริงกิต หรือราว 3.1 หมื่นล้านบาท
จะเห็นได้ว่า การอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นนโยบายที่อาจจะไม่ตอบโจทย์ เป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ มาเลเซียที่ขนาดเป็นถึงส่งออกน้ำมัน ก็ยังไม่สามารถดำเนินนโยบายแนวนี้ต่อได้ ดังนั้น ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบกว่า 90% ควรต้องหันมาผลักดันนโยบายการช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม เพื่อไม่เป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ อีกทั้งการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันนี้ยังไม่ก่อให้เกิดการประหยัดและการใช้อย่างคุ้มค่า และส่งผลให้ไม่บรรลุเป้าหมายการลด CO2 ของประเทศอีกด้วย