SHORT CUT
งานวิจัยที่ตีพิมพ์กับวารสาร Nature เสนอว่า หากเราปล่อยป่าเอาไว้เฉย ๆ เสียตั้งแต่ตอนนี้ เราจะมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 215 ล้านเฮกตาร์ ชี้ วิธีนี้ ดีกว่าการใช้แรงงานคนปลูกป่า เป็นไหน ๆ
งานวิจัยที่ตีพิมพ์กับวารสาร Nature เสนอว่า หากเราปล่อยป่าเอาไว้เฉย ๆ เสียตั้งแต่ตอนนี้ เราจะมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 215 ล้านเฮกตาร์ หรือใหญ่เท่าเม็กซิโกทั้งประเทศ
หากทั้งโลกร่วมมือกันทำได้แบบนี้ งานวิจัยนี้ระบุว่า เราจะสามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกได้ประมาณ 23.4 กิกะตัน ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือเทียบเท่ากับปริมาณการปล่อยคาร์บอนของออสเตรเลีย ประมาณ 50 ปีเลยทีเดียว
ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ( UN ) ป่าไม้ครอบคลุมพื้นผิวโลกถึง 31% และช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ประมาณ 15,600 ล้านตันต่อปี แม้จะมีประโยชน์แค่ไหน แต่ก็มิรอดพ้นจากกันตัดไม้ทำลายป่า
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ซึ่งติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2000 ถึงปี 2021 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โลกสูญเสียพื้นที่ป่าบริสุทธิ์และสมบูรณ์ไปแล้วกว่า 104 ล้านเฮกตาร์ เฉพาะในปี 2020 พื้นที่ป่าแอมะซอนมากกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตรถูกทำลายเพื่อสร้างถนน
งานวิจัยชิ้นนี้ เสนอว่า การปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง ดีกว่าการปลูกต้นไม้ด้วยมือ ซึ่งต้องเสียเงินซื้อกล้าไม้ แรงงานคน ปุ๋ย และค่าบำรุงรักษา
โดยงานชิ้นนี้ ได้ระบุตัวเลขไว้ด้วยว่า การปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง อาจมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 12-3,880 ดอลลาร์สหรัฐต่อเฮกตาร์ กลับกัน หากใช้แรงงานคนไปปลูกป่า อาจมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 105-25,830 ดอลลาร์สหรัฐต่อเฮกตาร์
คำถามคือ หากจะปล่อยให้ป่าฟื้นฟูตัวเอง ป่านั้นต้องเป็นป่าในลักษณะใด อยู่ที่ภูมิภาคใด และปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้ป่าเติบโตได้เอง
งานวิจัยชิ้นนี้ เสนอว่า ควรเป็นป่าที่อยู่ในเขตร้อนชื้น เพราะว่าเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเจริญเติบโตได้เร็วกว่าป่าชนิดอื่น ๆ
ซึ่งทีมผู้วิจัยได้กล่าวด้วยว่า มีอยู่ 5 ประเทศ ที่มีป่าเขตร้อน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะฟื้นฟูตัวเองได้ ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย จีน เม็กซิโก และโคลอมเบีย
ผู้วิจัยกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า จุดประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้คือเพื่อแสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูป่าตามธรรมชาติสามารถทำได้ และวิธีนี้มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในเขตพื้นที่ใด เพราะหากเราได้ป่ากลับคืนมา อรรถประโยชน์อีกคณานับจะคืนกลับสู่โลก ชนิดที่เราต้องยกมือขอบคุณกันยกใหญ่
แต่โจทย์ใหญ่ โจทย์เดียวของเราคือ อย่าไปยุ่งกับป่าไม้ และปล่อยให้มันเติบโตไปได้เอง
ที่มา: Nature
ข่าวที่เกี่ยวข้อง