SHORT CUT
ป่าไม้ไทย...หายไปไหน? ติดตามสถานการณ์ป่าไม้ไทย 2567 พบพื้นที่ป่าไม้ลดลงจนต่ำสุดในรอบ 10 ปี เหตุจากไฟป่าและการเปลี่ยนป่าเป็นพื้นที่ทางการเกษตร
“ผมขอพูดในนามสัตว์ป่า” คือคำพูดของชายนามว่า สืบ นาคะเสถียร ที่ยังคงตราตรึงในจิตใจของคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้ เขาผู้นี้เป็นข้าราชการน้ำดีที่พยายามพิทักษ์รักษาผืนป่า ลำธาร และชีวิตสรรพสัตว์บนผืนแผ่นดินไทยตลอดการดำรงชีพอยู่ของเขาจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ
แต่แม้เขาจะจากไปแล้ว แต่เขาได้ทิ้งสิ่งสำคัญไว้หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือจดหมายที่เผยแพร่สู่สายตาคนไทยเกือบทั้งประเทศ และเป็นเครื่องเตือนใจใครหลาย ๆ คน ว่าทำไมเราต้องรักษาผืนป่าของประเทศเอาไว้
แต่ในวันนี้ปี พ.ศ. 2567 ผืนป่าที่คุณสืบพยายามรักษาจนสามารถแลกลมหายใจให้ได้ก็ยังไม่อาจกลับมาสมบูรณ์ได้ดังใจหวัง เพราะป่าไม้ไทยกำลังลดลงเรื่อย ๆ จนแทบมองอนาคตไม่ออกว่า อีกกี่ปีกัน ป่าไม้ที่สมบูรณ์เหมือนแต่ก่อนจะกลับมาอีกครั้ง ให้คนรุ่นต่อไปได้ดูแลต่อไป
ป่าไม้ คือ สังคมขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งของโลก ที่เป็นทั้งบ้าน อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม ความบันเทิง และลมหายใจ ให้กับสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ และไม่เคยทำร้าย อีกทั้งป่าไม้ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เพื่อให้อุณหภูมิของโลกคงที่ ไม่ร้อนเกินความจำเป็น (ซึ่งตอนนี้เราเดินทางมาถึงยุคโลกเดือดกันแล้ว)
ข้อมูลสถานการณ์ป่าไม้ไทยปี 2565-2567 โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและกรมป่าไม้ เผยว่า ปี 2566 สถานการณ์ป่าไม้ยังคงย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 แล้ว
โดยปีพ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งสิ้น 102,135,974.96 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.57 ลดลงจากปี 2564 0.02%
และข้อมูลล่าสุด ปีพ.ศ.2566 ประเทศไทยมีป่าไม้เหลือทั้งสิ้น 101,818,155.76 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.47 ลดลงจากปี 2565 0.10%
ภาคกลาง : 12,263,466.16 ไร่ (ร้อยละ 21.55) ลดลงจากปี 2565 171,143.04 ไร่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : 15,608,130.07 ไร่ (ร้อยละ 14.89) ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 87,575.79 ไร่
ภาคตะวันออก : 4,703,353.52 ไร่ (ร้อยละ 21.82) ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 7,874.77 ไร่
ภาคตะวันตก : 20,033,806.37 ไร่ (ร้อยละ 58.86) ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 49,667.70 ไร่
ภาคใต้ : 11,232,880.27 ไร่ (ร้อยละ 24.34) เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เท่ากับ 8,395.32 ไร่
ภาคเหนือ : 37,976,519.37 ไร่ (ร้อยละ 63.24) ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่
นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เลย ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และอ่างทอง
1.การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) จากพื้นที่ที่มีสภาพป่าให้กลายเป็นพื้นที่การเกษตร พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง
2.การสูญเสียป่าจากปัญหาไฟป่าหรือการเผาป่าที่มีความรุนแรงขึ้น (Forest Fire)
3.อากาศร้อนในช่วงต้นปี 2566 ทำให้พื้นที่ของป่าผลัดใบและสวนป่าเกิดการร่วงหล่นของใบ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้
1.การขยายตัวของพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ (Natural Forest Expansion)
2.การปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เช่น สวนป่า (Plantation)
3.การปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
อย่างไรก็ตาม การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ไทยอย่างมีนัยสำคัญนี้ ก็เป็นอุปสรรคสำคัญของนโยบายป่าไม้แห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติเช่นกัน เนื่องจาก นโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ
ในขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศภายในปีพ.ศ.2580 นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี ที่ 2 ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติให้ได้ร้อยละ 33 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อใช้ประโยชน์ร้อยละ 12 ของพื้นที่ประเทศ
ซึ่งนั่นหมายความว่า สถิติพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงตามข้อมูลข้างต้น สวนทางกับเป้าหมายนโยบายป่าไม้และยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลได้วางเอาไว้ และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่นับรวมกับความเสียหายจากการล้มหายตายจากและการโยกย้ายถิ่นของสัตว์ป่าดั้งเดิมที่ทำให้สัตว์ป่าในประเทศไทยลดน้อยลงและเสี่ยงถูกคุกคามมากขึ้นกว่าอีกนับพันชนิด
ที่มาข้อมูล
สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ (กรมป่าไม้) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง