svasdssvasds

ชนพื้นเมืองคือหัวใจในการรักษาป่าไม้ให้สมบูรณ์ เป็นปอดฟอกคาร์บอนให้โลก

ชนพื้นเมืองคือหัวใจในการรักษาป่าไม้ให้สมบูรณ์ เป็นปอดฟอกคาร์บอนให้โลก

งานวิจัยพิสูจน์ชัด ชนพื้นเมืองแอมะซอนคือผู้ที่รักษาปกป้องนิเวศป่าแอมะซอนให้ยังคงความสมบูรณ์ สามารถดูดซับคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเสริมกำลังแก้โลกร้อน

แม้ว่าในขณะนี้ ผืนป่าแอมะซอน (Amazon) อันเป็นผืนป่าเขตร้อนที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในโลก กำลังเผชิญกับวิกฤติหนักจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และสภาวะภัยแล้งและไฟป่ารุนแรง จนทำให้พื้นที่ป่าหลายจุดเสื่อมโทรม แต่งานวิจัยโดยสถาบัน World Resources Institute (WRI) เผยว่า ผืนป่ากว่า 2.4 ล้านตารางกิโลเมตร ยังคงสภาพสมบูรณ์ เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่ยังทรงประสิทธิภาพ จากการดูแลรักษาโดยชนเผ่าพื้นเมืองในป่าแอมะซอน

แผนที่แสดงพื้นที่ป่าที่ชนพื้นเมืองดูแล เครดิต : Nasa Earth Observatory

ป่าอเมซอนในอเมริกาใต้เป็นบ้านชนพื้นเมืองประมาณ 1.5 ล้านคน จากกลุ่มชนเผ่าประมาณ 385 กลุ่ม อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อาศัยกระจายทั่วทั้งแนวป่าในลุ่มน้ำอเมซอน ข้อมูลจากงานวิจัยเผยว่า ชนกลุ่มเหล่านี้เป็นผู้ปกป้องป่าจากการตัดไม้ทำลายป่าและไฟป่า รักษาพื้นที่ให้ยังคงเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนสำคัญของโลก

“ชุมชนพื้นเมืองเป็นวีรบุรุษผู้ปกป้องป่าแอมะซอนที่ไม่มีใครรับรู้สรรเสริญ พวกเขาเป็นกำลังหลักในการจัดการดูแลผืนป่าแอมะซอนให้ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ และยังมีอัตราการดูดซับคาร์บอนสูง” Peter Veit ซึ่งเป็นนักวิจัยอาวุโสของ World Resources Institute (WRI) กล่าว

ผืนป่าอเมซอน เครดิต : USDA Forest Service

Veit ซึ่งเป็นเจ้าของงานวิจัยฉบับนี้เผยว่า ป่าที่พวกเขาเหล่านี้อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ รวมพื้นที่ประมาณ 2.4 ล้านตารางกิโลเมตร ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่มาก เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นดี ในขณะที่ผืนป่านอกเขตดูแลรักษาของชนพื้นเมือง กลับเสื่อมสภาพและถูกตัดทำลายไปมาก จนกลายเป็นแหล่งปลดปล่อยคาร์บอน

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการเก็บข้อมูลการศึกษาโดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม Landsat และภารกิจ ICESat ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (NASA) เพื่อจัดทำแผนที่การดูดซับหรือปลดปล่อยคาร์บอนจากพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลก ซึ่งเผยว่า โดยเฉลี่ยแล้วป่าไม้ทั่วโลกมีอัตราการดูดซับคาร์บอนมากเป็นสองเท่าของที่ปล่อยออกมาระหว่างปี 2001 ถึง 2019 จึงถือได้ว่าเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน ช่วยบรรเทาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาชี้ว่า ป่าแต่ละแห่งมีประสิทธิภาพในการดูดซับคาร์บอนได้ไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น ป่าไม้ในลุ่มน้ำคองโกในแอฟริกากลาง สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าที่ปล่อยออกมาถึง 610 ล้านตันต่อปี ซึ่งมากกว่าปริมาณกักเก็บคาร์บอนสุทธิของป่าในลุ่มน้ำอเมซอนถึงหกเท่า

ไฟป่าและการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรมเชิงพาณิชย์และการเลี้ยงปศุสัตว์ ถือเป็นภัยคุกคามหลักต่อผืนป่าอเมซอน ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติของป่าแล้ว การเผาชีวมวลจากกิจกรรมเหล่านี้ยังเปลี่ยนพื้นที่กักเก็บคาร์บอนให้เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้น

ชนพื้นเมืองในอเมซอน เครดิต : Carsten ten Brink

Veit เผยว่า WRI กำลังทำงานร่วมกับชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อช่วยให้พวกเขาใช้ข้อมูล Global Forest Watch บน Landsat เพื่อติดตามป่าไม้และแจ้งเตือนพวกเขาเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า ผลการวิเคราะห์ในปี 2021 พบว่าหลังจากชุมชนพื้นเมือง 36 แห่งในป่าแอมะซอนในเปรูใช้การแจ้งเตือนผ่านดาวเทียม อัตราการตัดไม้ทำลายป่าลดลง 52 เปอร์เซ็นต์ในหนึ่งปี

เช่นเดียวกับชนพื้นเมืองในป่าแอมะซอน ดร.กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All เผยว่า ชนพื้นเมืองในไทยก็มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาระบบนิเวศและผืนป่าไทยให้ยังคงความสมบูรณ์และเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า ชนเผ่าพื้นเมืองที่ถือเป็นคนกลุ่มน้อย แต่กลับสร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ มีการยืนยันว่าพื้นที่ที่มีธรรมชาติสมบูรณ์ และทำหน้าที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ดีที่สุด ส่วนใหญ่ร้อยละ 80% อยู่ในวิถีชีวิตการดูแลของชนเผ่าพื้นเมือง

ชนเผ่าพื้นเมืองเป็นตัวละครสำคัญ เป็นกลุ่มคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  (Active citizen) ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ อันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยรวม” ดร.กฤษฎา กล่าว

 

ที่มา : World Resource Institude

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ :