svasdssvasds

ปรากฎการณ์ “หมูเด้ง” มีมแห่งปี ที่ไม่ได้ดังเพราะความบังเอิญ

ปรากฎการณ์ “หมูเด้ง” มีมแห่งปี ที่ไม่ได้ดังเพราะความบังเอิญ

ชวนดูปรากฎการณ์ "หมูเด้ง" มีมแรงแห่งปี 2024 ว่าเกิดขึ้นมาจากอะไร? เป็นเพราะความบังเอิญหรือใครวางแผน? และผลดีที่เกิดขึ้นจากความดังระดับโลกของลูกฮิปโปแคระรายนี้คืออะไร

ถึง ผอ.สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จะเคยออกตัวว่า “ไม่คิดว่ากระแสจะมาถึงขนาดนี้”

แต่เบื้องหลังการปั้น “หมูเด้ง” ลูกฮิปโปแคระซึ่งเพิ่งเกิดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ให้ไวรัลในโลกออนไลน์ ก็มีทั้งความเข้าใจพฤติกรรมของสัตว์ รวมไปถึงการวางแผนทำคอนเทนต์ซ่อนอยู่

การใช้ “ความน่ารัก” ของสัตว์ในการโฆษณาหรือทำการตลาดมีมานานแล้ว เรียกกันว่า Cute Marketing

แต่อะไรที่ทำให้ หมูเด้ง “ดัง” ในระดับต้น ๆ ของบรรดาสัตว์ ที่เคยถูกใช้ทำการตลาดมา – อย่างน้อยก็ดังที่สุดของปีนี้ กระทั่งแพล็ตฟอร์ม x ประกาศให้เป็น “สุดยอดมีม” แห่งปี

นี่เป็นพลังของการกระจายข้อมูลข่าวสารบนโซเชียลมีเดียประจำปี 2567 ที่น่าถอดบทเรียน เผื่อเราจะเจอรูปแบบอะไรบางอย่าง ใน “ปฏิสัมพันธ์” ของผู้คนกับการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์

ที่ไม่ใช่นำไปใช้เพื่อการตลาดเท่านั้น แต่ยังอาจนำไปใช้ในสร้างประโยชน์ต่อสังคม

เช่นเดียวกับที่ “ปรากฎการณ์” หมูเด้ง สร้างประโยชน์ให้กับสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี, ชุมชนโดยรอบสวนสัตว์, การท่องเที่ยวของไทย, สวนสัตว์ทั่วโลก และชุมชนนักอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ

หมูเด้ง ดังขนาดไหน

เราต่างรู้กันว่า หมูเด้งนั้น “ดัง” สุด ๆ ไปเลย แต่ถามว่าแล้ว “ดังขนาดไหน”

เฉพาะในไทย การสำรวจการสื่อสารออนไลน์ โดย Wisesight ร่วมกับ Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็พบว่า ระหว่างเดือนกันยายน – เดือน พ.ย. 2567 ประเด็นเกี่ยวกับ “หมูเด้ง” ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ไทย เป็นอันดับ 1 และ 2 ของเดือนนั้น ๆ

  • เดือน ก.ย. 2567 อยู่ในอันดับที่ 1 ถูกพูดถึง 86.8 ล้านเอ็นเกจเม้นต์
  • เดือน ต.ค. 2567 อยู่ในอันดับที่ 2 ถูกพูดถึง 84.9 ล้านเอ็นเกจเม้นต์ (แพ้ “คดีดิไอคอนกรุ๊ป” ที่ได้ 103.9 ล้านเอ็นเกจเม้นต์)
  • เดือน พ.ย. 2567 อยู่ในอันดับที่ 2 ถูกพูดถึง 32.7 ล้านเอ็นเกจเม้นต์ (แพ้ “เทศกาลลอยกระทง” ที่ได้ 95.5 ล้านเอ็นเกจเม้นต์)
  • เดือน ธ.ค.2567 แม้จะยังไม่จบเดือน (1 – 23 ธ.ค. 2567) แต่ก็มีการพูดถึงหมูเด้งไปมากกว่า 11 ล้านเอ็นเกจเม้นต์ เข้าไปแล้ว

ส่วนความดังในต่างประเทศ นอกจากที่แพล็ตฟอร์ม x เพิ่งประกาศให้เป็นสุดยอดมีมประจำปีนี้ เพราะจากข้อความที่มีผู้โพสต์ถึงกว่า 7.7 ล้านครั้ง หมูเด้งยังถูก The New York Times จัดให้ติดอยู่ในรายชื่อ 63 บุคคล? ที่ “มีสไตล์ที่สุด” ประจำปีนี้ (The 63 Most Stylish People of 2024) พร้อมกับคำอธิบายสนุก ๆ ว่า “เธองับ เธอกรีดร้อง เธอขโมยหัวใจคนทั้งโลก!”

 

SPRiNG สำรวจและพบว่า มีสำนักข่าวระดับโลกอย่างน้อย 20 แห่ง ที่รายงานข่าวหมูเด้ง ทั้งเอพี, เอเอฟพี, บีบีซี, ซีเอ็นเอ็น, ดอยต์เชอเวลเลอ(ดีดับบลิว), รอยเตอร์, เดอะ การ์เดียน, เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์, ไทม์ แมกกาซีน, วอลล์สตรีทเจอร์นัล, วอชิงตันโพสต์, วีโอเอ, ซินหัว ฯลฯ

รายการโทรทัศน์ดังในสหรัฐอเมริกาอย่าง Saturday Night Live ยังนำการแต่งกายเลียนแบบหมูเด้งไปเล่นมุกในการออนแอร์วันที่ 29 ก.ย. 2567 หรือการทายผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ที่หมูเด้งเลือกว่าโดนัลด์ ทรัมป์จะชนะ) ก็กลายเป็นข่าวดังในโลกตะวันตก (ที่สำคัญทรัมป์ชนะจริง), ทีมกีฬาอาชีพระดับโลก ทั้งฟุตบอล. เบสบอล, บาสเก็ตบอล, อเมริกันฟุตบอล ยังนำ “หมูเด้ง” ไปเล่นเป็นมีม

สวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลกพยายามนำเสนอสัตว์ที่มีความน่ารักน่าชังไม่ต่างจากหมูเด้ง เช่น ลูกฮิปโปแคระ “แฮกกิส” ของสวนสัตว์ในสก็อตแลนด์, ลูกฮิปโปแคระ “เนมุเนมุ” ของสวนสัตว์ในญี่ปุ่น, “เพสโต้” ลูกเพนกวินจักรพรรดิของอควาเรียมในออสเตรเลีย, “บิสกิต” ลูกแมวน้ำของอควาเรียมในแคนาดา ฯลฯ

หมูเด้ง ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้าง pop culture อื่น เช่น ถูกแบรนด์สินค้าในไทยกว่า 70 แบรนด์นำไปผลิตสิ่งของเชิงพาณิชย์, ถูกค่ายเพลงนำไปแต่งเพลง “หมูเด้ง” หลายภาษา, ล่าสุด ยังนำไปเป็นธีมปี 2024 ของงาน Bangkok Illumination Festival ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 ธ.ค. 2567 – 5 ม.ค. 2568 ภายใต้ชื่อ “หมูเด้งบุกกรุง” ใน 9 แลนด์มาร์กทั่ว กทม.

หากเทียบกับคนไทยอื่นแล้ว เฉพาะปีนี้ หมูเด้งน่าจะมีชื่อเสียงระดับโลกน้อยกว่า “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” เพียงคนเดียวเท่านั้น (หากนับว่า หมูเด้งเป็นคนน่ะนะ)

 

หมูเด้ง เริ่มดังจากอะไร

SPRiNG พยายามสืบเสาะดูว่า กระแสความดังของหมูเด้ง เริ่มขึ้นได้อย่างไร

อาศัยข้อมูลที่ได้จากการ social listening ของสื่อต่างประเทศบางแห่ง และสำรวจเทรนด์จาก Google ใต้คีย์เวิร์ด “หมูเด้ง” และ “Moo Deng”

กระแสความนิยมลูกฮิปโปแคระสาวตัวนี้ “ในไทย” เริ่มขึ้นในวันที่ 1 ก.ย. 2567 หลังผู้ใช้เอ็กซ์โพสต์อัลบั้มรูปหมูเด้ง ในอาการสะดีดสะดิ้ง ต่อมาในวันที่ 10 ก.ย. 2567 เมื่อมีภาพหมูเด้งงับขาพี่เลี้ยงด้วยอาการน่ารักน่าชัง ก็เหมือนเป็นตัวจุดระเบิดไวรัล

ส่วนความนิยมระดับ “นานาชาติ” เริ่มขึ้นหลังเกิดกระแสในไทยเล็กน้อย เมื่อโพสต์ต้นทางในเอ็กซ์ถูกหยิบไปทำเป็นสกู๊ปโดยไทม์ แมกกาซีน ในวันที่ 12 ก.ย. 2567 ในชื่อ “She’s an Icon, She’s a Legend, and She Is the Moment. Meet Viral Baby Hippo Moo Deng” โดยมีคนสังเกตว่า แค่วันเดียวเฟซบุ๊กของไทม์ฯ หยิบสกู๊ปหมูเด้งมาโพสต์ซ้ำ ถึง 4 ครั้ง เพราะได้รับเอ็นเกจเม้นต์สูง

หลังจากนั้นชื่อของหมูเด้งก็เหมือน “ขึ้นรถไฟเหาะ” สื่อต่างชาติจำนวนมากหันมาทำข่าวหมูเด้งต่อเนื่อง เพียงสัปดาห์เดียว (12-19 ก.ย. 2567) ก็มีทั้งจากดอยต์เชอเวลเลอ(ดีดับบลิว), เดอะการ์เดียน, เดอะ เสตรทไทม์, ไวซ์, ซีเอ็นเอ็น, บีบีซี, รอยเตอร์, เอเอฟพี, วอชิงตันโพสต์

จุด “พีค” ของกระแสหมูเด้ง ในไทยคือวันที่ 11 ต.ค. 2567 ส่วนระดับนานาชาติ คือวันที่ 29 ก.ย. 2567 เมื่อรายการ Saturday Night Live หยิบไปเล่นมุก

หากอ่านเฉพาะข้อมูลข้างต้น เราอาจคิดไปว่า หมูเด้งดังเพราะ “โชคช่วย” หรือความบังเอิญ แต่แท้จริงแล้ว มันผ่านการวางแผนที่เข้าใจธรรมชาติของตัวละครหลัก (ลูกฮิปโปแคระ) ต่างหาก

ในหลายบทความของสื่อต่างประเทศและสื่อไทย จะอ้างความสม่ำเสมอและสร้างสรรค์ในการผลิตคอนเทนต์หมูเด้งที่น่ารักน่าเอ็นดูของเพจเฟซบุ๊ก “ขาหมู แอนด์เดอะแก๊งค์” ที่นำโดย “เบนซ์ - นายอรรถพล หนุนดี” พนักงานบำรุงและจัดการสวนสัตว์ 3 งานบำรุงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ฝ่ายบำรุงสัตว์ zookeeper ที่คอยดูแลหมูเด้ง

นายอรรถพลจะดูแลหมูเด้งอย่างใกล้ชิดทุกวัน เพราะเวลาสัตว์มีปัญหาจะได้เข้าไปรักษาหรือให้ยาได้ทันที

เขาบอกว่า ความดีดเด้งอย่างที่ทุกคนเห็น จะเกิดขึ้นแค่วันละ 10-20 นาทีเท่านั้นเอง ที่เหลือก็นอนหมดเลย นิสัยเหมือนลูกฮิปโปแคระทั่วไป “แต่พอรู้จังหวะว่า เขาจะดีดๆ เด้งๆ ตอนนี้ เราก็ตั้งกล้องรอถ่าย”

ส่วนภาพที่หมูเด้งเข้ามางับเข่า นายอรรถพลบอกว่า น่าจะมาจากอาหารคันเขี้ยว ฟันกำลังจะขึ้น “พฤติกรรมการงับสิ่งรอบข้างแบบนี้ก็เป็นพฤติกรรมปกติของลูกฮิปโปแคระเช่นกัน”

ก่อนหน้าหมูเด้ง zookeeper คนนี้ก็เคยปั้นให้ “หมูตุ๋น” พี่ชายของหมูเด้ง กลายเป็นเซเลบของสวนสัตว์เปิดเขาเขียวมาแล้ว

หลังจากนี้ เขายังวางแผนจะใช้วิธีการเดียวกัน ในการทำให้คนรู้จักสัตว์อื่นๆ เช่น สลอธ, คาปิบารา, หมีขอ, ฮิปโปใหญ่ ฯลฯ

 

หมูเด้งช่วยสร้างอะไรบ้าง?

กระแสหมูเด้ง ช่วยทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรีเติบโตขึ้น 4 เท่า จากเดิมที่มีผู้เข้าชมเพียง 3,000-4,000 คน/วัน เพิ่มเป็น 12,000 คน/วัน

หากนับยอดรวมรายเดือน

  • เดือน ก.ค. 2567 มีนักท่องเที่ยว 84,849 คน (เดือนที่หมูเด้งเกิด)
  • เดือน ส.ค. 2567 มีนักท่องเที่ยว 98,046 คน
  • เดือน ก.ย. 2567 มีนักท่องเที่ยว 159,743 คน (เดือนที่เริ่มเป็นกระแส)
  • เดือน ต.ค. 2567 มีนักท่องเที่ยว 299,034 คน (เดือนที่กระแสถึงจุดพีคทั้งในไทยและต่างชาติ)

Grab แพล็ตฟอร์มให้บริการเรียกรถยนต์ ให้ข้อมูลว่า กระแสหมูเด้งทำให้มีคนเรียกรถยนต์ไป จ.ชลบุรี เพิ่มขึ้น 267%

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า ปรากฎการณ์หมูเด้ง สร้างรายได้มากกว่า 40 ล้านบาท เป็นส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในพื้นที่ชุมชนโดยรอบสวนสัตว์เปิดเขาเขียว และรวมถึงทำให้ จ.ชลบุรีและเมืองพัทยา มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่า 80%

ไม่เพียงประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ “หมูเด้งฟีเวอร์” ยังช่วยให้คนหันมาสนใจชะตากรรมของฮิปโปแคระ (Pygmy hippopotamus) สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ คาดว่าเหลือไม่ถึง 3,000 ตัว หลังถิ่นที่อยู่หดหาย-ถูกทำลาย โดยติดอยู่ใน “บัญชีแดง” ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)

หมูเด้งยังทำให้สื่อต่าง ๆ ทั่วโลก หันมานำเสนอเรื่องราวของสัตว์มาก ดังที่กล่าวไปข้างต้น

แน่นอนว่า “กระแส” ไม่อยู่กับเรานาน ยิ่งเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ที่ทุกอย่างมาและไปอย่างรวดเร็ว แทบจะทุกวินาที

การที่หมูเด้งอยู่ในความสนใจของผู้คนได้นานถึง 4 เดือนเศษ จึงสมควรเรียกว่าเป็น “ปรากฎการณ์” ที่ควรถูกบันทึก, หยิบมาถอดบทเรียน และหาวิธีต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไป