คอลัมน์ Keep The World ชวนเลาะตะเข็บชีวิตของนักแสดง S list ของอุตสาหกรรมฮอลลีวูดอย่าง "เอ็มม่า วัตสัน" ที่มักเลือกหยิบเสื้อผ้าวินเทจ ชุดรีไซเคิลมาใส่ออกงานอยู่เป็นประจำ เพราะเจาะลึก sustainble looks ไปพร้อม ๆ กัน
ครั้งหนึ่งมีคนเคยกล่าวไว้ว่า ‘เสื้อผ้า’ คือภาษา วัฒนธรรม และเป็นตัวแทน ‘สาร’ สิ่งที่ผู้สวมใส่ต้องการจะสื่อ แม้ในตัวมันเองจะเป็นนวัตกรรมที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อห่อหุ้มร่างกาย แต่หากเราค่อย ๆ เลาะตะเข็บถึงเรื่องราวเบื้องหลัง เราจะพบกับ ‘message’ ที่ซุกซ่อนเอาไว้อย่างแยบยล
หลายปีมานี้ กระแสแฟชั่นยั่งยืน (Sustainable fashion) ครองพื้นที่ในบทสนทนาเกี่ยวกับผู้ที่ชื่นชอบแต่งตัว แม้จะบอกว่าเสื้อผ้าซ่อนสาร หรือเรื่องราวบางอย่างไว้ก็จริง แต่เรื่องนี้ก็ด้านมืดของมันเหมือนกัน นั่นก็คือ วิกฤตฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion)
ความหมายแบบหยาบ ๆ ของฟาสต์แฟชั่นคือ เสื้อผ้าที่ถูกสวมใส่แค่ไม่กี่ครั้ง มีกระบวนการผลิตที่รวดเร็ว ไม่พิถีพิถันในขั้นตอนต่าง ๆ มากเท่าไรนัก แต่เน้นรีบผลิตสินค้าไปวางจำหน่ายเพื่อให้ผู้บริโภคจับจองเป็นเจ้าของ และรีบใส่อวดกันในโลกออนไลน์ เพราะมิเช่นนั้นจะตกเทรนด์
ในแต่ละปี ทั่วโลกมีขยะฟาสต์แฟชั่นมากกว่า 92 ล้านตัน ตามข้อมูลของ Greenpeace และส่วนใหญ่แล้ว กองภูเขาขยะเสื้อผ้าเหล่านี้มักเดินทางไปบรรจบรวมกันที่กระบวนการฝังกลบ ซึ่งปล่อยมลพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกราว 8-10% ของก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
ในแง่ของสังคม วิกฤตฟาสต์แฟชั่นได้ส่งผลไปถึงพฤติกรรมมนุษย์ด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลจาก Juniper Publishers ระบุไว้ว่า ผู้บริโภคที่ลุ่มหลงไปกับวงจรของฟาสต์แฟชั่นมักไม่มีความสุข ไม่พึงพอใจในของที่ตัวเองมีเท่าไรนัก แถมเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้กว่าคนที่ไม่วิ่งตามเทรนด์ พฤติการณ์เช่นนี้ เรียกว่า overconsumption
“ในฐานะผู้บริโภค เรามีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ เพียงแค่ต้องคิดให้ดีก่อนจะซื้ออะไร” นี่คำกล่าวจาก เอ็มม่า วัตสัน นักแสดงขวัญใจผู้ยุคใหม่ ที่ลุกขึ้นมาสนับสนุนให้ผู้คนโอบรับแนวคิดแฟชั่นยั่งยืน เพื่อโลกที่น่าอยู่ขึ้น
บทความชิ้นนี้ SPRiNG ชวนทำความรู้จักเรื่องราวของ ‘เอ็มม่า วัตสัน’ ที่ไม่ใช่แค่คาถาเวทมนต์ แม่มดน้อย หรือโรงเรียนฮอกวอตส์ แต่เราจะไปลัดเลาะดูวิธีการเลือกสวมใส่เสื้อผ้าของเธอกัน มาดูซิว่าเบื้องหลังเดรสสวย ๆ มีเรื่องราวอะไรซ่อนอยู่บ้าง
SPRiNG รีแคปชีวิต เอ็มม่า วัตสัน กันแบบรวดรัด ปัจจุบัน เอ็มม่า วัตสัน มีอายุ 34 ปี เธอเป็นชาวอังกฤษ ที่เติบโตขึ้นมาในเมืองหลวงแห่งแฟชั่นอย่างกรุงปารีส และแน่นอนว่าหลายคนอาจพบเจอเธอเป็นหนแรกจากภาพยนตร์ชุด Harry Potter (ไหนบอกจะไม่พูดถึง)
ทว่าจริง ๆ แล้วเอ็มม่า วัตสัน มีผลงานภาพยนตร์ดี ๆ อีกหลายเรื่อง อาทิ The Perk of Being A Wallflower, Ballet Shoes, Little Women, My Week With Marilyn ฯลฯ เพียงแต่คนจะคุ้นตาเธอในบทบาทแม่มดน้อยจากภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter มากที่สุด
ปัจจุบัน สื่อต่างประเทศรายงานว่า เอ็มม่าอาศัยอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่ง ณ เวลานี้ กำลังเดินหน้าเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ถือเป็นโมเมนต์ที่ใครหลายคนรอคอยมาทั้งปี ในกรณีของลอนดอนมักไม่ค่อยมีหิมะให้เห็นนัก ส่วนใหญ่จะมีฝนตกเสียมากกว่า อาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยด้านสภาพอากาศมีผลต่อการแต่งตัวของชาวลอนดอน รวมถึงเอ็มม่า วัตสัน ด้วย
“ฉันเป็นเด็กลอนดอนแท้ ๆ ส่วนใหญ่แล้ว อากาศในลอนดอนค่อนข้างอึมครึม ซึ่งฉันคิดว่ามันช่วยส่งเสริมให้คนมีสไตล์การแต่งตัวที่หลากหลาย และแหวกแนว ตัวฉันเองก็ผสมผสานเสื้อผ้าสตรีทเข้ากับแฟชั่นระดับไฮเอนด์ และวินเทจอยู่บ่อย ๆ” คำพูดดังกล่าวของเอ็มม่าไม่เกินจริง หากคุณได้อ่านเรื่องราวของเธอต่อจากนี้จนจบ
เราจะหยุดประวัติชีวิตของ ‘เอ็มม่า วัตสัน’ ไว้เท่านี้ หากใครยังรู้สึกไม่จุใจ ลองอ่านเนื้อหาด้านล่างดูก่อน เพราะเอร็ดอร่อยไม่แพ้กัน โดยด้านล่างนี้ เราจะพูดถึงทัศนคติของเธอที่มีต่อแฟชั่น และการลุกขึ้นมาสนับสนุนให้ผู้หญิงภูมิใจกับเสื้อผ้าอาภรณ์ของตัวเอง
“ฉันมองดูรูปเก่า ๆ แล้วก็รู้สึกเขินอาย แต่จริง ๆ แล้วฉันภูมิใจนะ ที่ (ตอนนั้น) ฉันสนุกกับแฟชั่น และไม่ได้ดูสมบูรณ์แบบเสมอไป สิ่งเดียวที่ฉันเสียใจคือ ตอนที่ฉันมองดูเสื้อผ้าที่ฉันใส่ตอนเด็กๆ แล้วดูเหมือนว่าเป็นของคนอื่น” เอ็มม่า วัตสัน กล่าว
หากใครที่ติดตามแฟชั่นของ เอ็มม่า วัตสัน อยู่เป็นประจำ อาจพอทราบมาบ้างว่าเธอมักหยิบชุดวินเทจ ชุดรีไซเคิล หรือชุดที่ eco-friendly จากทั้งแบรนด์ดัง และดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ ๆ มาเลือกใส่ออกงานอยู่เป็นประจำ เธอจึงใช้อิทธิพลด้านชื่อเสียงที่ถือครองมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ย้อนกลับไป 2017 เอ็มม่า วัตสัน รับบทนำเป็น ‘เบลล์’ จากภาพยนตร์เรื่อง โฉมงามกับเจ้าชายอสูร หรือ Beauty and the Beast ซึ่งกวาดเม็ดเงินทั่วโลกไปมากถึง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ในระหว่างที่เอ็มม่า และนักแสดงท่านอื่น ๆ อาทิ แดน สตีเวนส์, ลุค อีแวนส์, ยวน แม็คเกรเกอร์ ฯลฯ กำลังเดินหน้าโปรโมทภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอตัดสินใจเปิดแอคเคาท์ IG ใหม่ในชื่อ the_press_tour เพื่อไว้ลงชุดที่เธอใส่ไปออกงานโปรภาพยนตร์
ด้วยความที่เป็นคนสนใจเทรนด์ sustainable fashion อยู่แล้ว เธอจึงหยิบไอเดียรักษ์โลกที่แฝงอยู่ตามไอเทมแต่ละชิ้นที่หยิบมาสวมใส่ มาเล่าให้แฟนคลับแบบเข้าใจง่าย แถมยังเป็นการโปรโมทแบรนด์แฟชั่นยั่งยืนไปในตัวอีกด้วย
ปัจจุบัน แอคเคาท์ the_press_tour มีผู้ติดตามอยู่กว่า 2.8 แสนคน และหยุดความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2017 ซึ่งรูปสุดท้ายที่เอ็มม่าโพสต์เอาไว้คือ เดรสลินิน วินเทจของแบรนด์ Ralph Lauren คอลเลกชัน Spring 1999 สำหรับการไปรับชมเทนนิสวิมเบิลดัน
โดยเอ็มม่า วัตสัน ระบุไว้ในแคปชันว่า “การซื้อ และสวมใส่เสื้อผ้าวินเทจคือความยั่งยืนรูปแบบหนึ่งที่บริโภคพึงจะทำได้ ไม่จำเป็นต้องสวมชุดที่ออกใหม่อยู่ตลอดก็ได้นะ”
การหยิบชุด eco-friendly ใส่ออกงานโปรโมทภาพยนตร์ แทนที่จะเลือกสวมใส่ชุดเดรสสวย ๆ จากห้องเสื้อชั้นสูง อาจมีนัยว่านี่คือชุดที่เอ็มม่าใส่แล้วรู้สึกเป็นตัวเอง มั่นใจ และสบายใจ สอดคล้องกับคำที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า
“ความสมบูรณ์แบบจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าคุณใส่แล้วสูญเสียตัวตนไป มาใส่เสื้อผ้าที่บ่งบอกความเป็นตัวเองกันเถอะ”
ใครจำเดรสสีแดงมีเคปที่เบลล์ (รับบทโดย เอ็มม่า สโตน) สวมใส่ในภาพยนตร์เรื่อง Beauty and the Beast กันได้บ้าง ฉากที่โฉมงามและเจ้าชายอสูรกำลังเดินเล่นกันอยู่ท่ามกลางหิมะขาวโพลน แล้วหันมาปาหิมะใส่กันอย่างกะหนุงกะหนิง รู้หรือไม่ว่า ชุดนี้ทีมงานซื้อมาจาก eBay
เอ็มม่า วัตสัน เขียนอธิบายเบื้องหลังการถักทอชุดนี้ไว้อย่างละเอียด เธอระบุว่า “เสื้อคลุมทำมาจากขนสัตว์รีไซเคิล ซึ่งครั้งหนึ่งเคยวางขายอยู่ที่งานวินเทจแฟร์ เมื่อปี 1970 สำหรับเนื้อผ้าย้อมทับด้วยสีธรรมชาติ ซับในทำจากผ้าไหม ผิวสัมผัสคล้ายกระดาษ ส่วนแจ็คเกตตัวนอกทำจากผ้าลินินทอมือจากยุค 1960s ตัวนี้ได้มาจาก eBay”
คอสตูมดีไซน์เนอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบเดรสที่สวยสุดวิจิตรนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น แจคเกอร์ลีน ดูร์แรน (Jacqueline Durran) นักออกแบบเครื่องแต่งกายภาพยนตร์ เจ้าของ 2 รางวัลออสการ์ ที่รังสรรชุดในภาพยนตร์เรื่อง Anna Karennina (2012) และ Little Women (2019)
แบรนด์: Calvin Klein
ดีไซนเนอร์: คาลวิน ไคลน์
เอ็มมา วัตสัน ใส่ชุดจากห้องเสื้อ Calvin Klein มาใส่เดินพรมแดงที่งาน Met Gela ปี 2016 ซึ่งมีธีมคือ “Manus x Machina: Fashion in an Age of Technology” ชุดเดรสหางปลาสีขาวดำ สวมทับกางเกงสีดำยาวถึงเท้า ชุดนี้ถือว่าตอบโจทย์อย่างยิ่ง เพราะจริง ๆ แล้วเดรสตัวนี้ ทาง Calvin Klein จับมือกับ Eco Age รังสรรค์ชุดนี้ขึ้นมาจากขวดพลาสติก
ซึ่งทางเอ็มม่าก็ได้ออกมาโพสต์บนเฟซบุ๊กหลังจบงานว่า “การสามารถนำขยะเหล่านี้มาปรับใช้ใหม่ และสร้างเป็นชุดราตรีสำหรับงาน Met Gala ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และแฟชั่นที่ทำงานร่วมกันได้”
Look นี้กี่คะแนน?
แบรนด์: Ralph Lauren
ดีไซน์เนอร์: ราล์ฟ ลอเรน
คอลเลกชัน: Fall 2013
เอ็มม่า วัตสัน ได้เข้าร่วมงานปาร์ตี้ของนิตยสาร Vanity Fair เมื่อปี 2018 ด้วยการเลือกหยิบชุดกำมะหยี่สีดำจาก Ralph Lauren ในคอลเลกชัน Fall 2013 มาสวมใส่ โดดเด่นขึ้นไปอีกด้วยเครื่องประดับ และทรงผมหน้าม้าเต่อของเธอ
บ่อยครั้งที่เอ็มม่าเลือกหยิบชุดวินเทจจากแบรนด์ดังขึ้นมาปัดฝุ่น และใส่ออกงาน ไม่ว่าจะเป็นเดรสวินเทจ Ossie Clark ในงานโปรโมทภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม เมื่อปี 2009 หรือกางเกงที่ใส่ออกรายการ The Ellen DeGeneres Show เมื่อปี 2017 ซึ่งเธอเคยใส่ออกงานโปรโมทภาพยนตร์เรื่อง Beauty and the Beast มาแล้ว
Look นี้กี่คะแนน?
และนี่ก็คือเรื่องราวของ เอ็มม่า สโตน กับทัศนคติที่เธอมีแต่แฟชั่น และการเลือกหยิบเสื้อผ้าซ้ำ เสื้อผ้าวินเทจ เสื้อผ้ารีไซเคิล หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาใส่ออกทั้งงานใหญ่ และใส่เดินไปซื้อกาแฟในชีวิตประจำวัน
Keep The World ขอเชิญชวนผู้อ่านหันมา wear วนไป เสื้อผ้าตัวโปรดของเราที่จอดแช่อยู่ในตู้ เพราะไม่กล้าหยิบมาใส่ เนื่องจากใส่จนคนจำได้แล้ว ช่างปะไร ใส่แล้วก็ใส่อีกได้ หวังว่าเรื่องราวของ เอ็มม่า สโตน จะทำให้ผู้อ่านลุกขึ้นมาสนุกกับการแต่งตัวมากยิ่งขึ้น
Demure!
ที่มา: Vogue, Hollywood Reporter, teenvogue, telegraph, businessinsider, glamour
ข่าวที่เกี่ยวข้อง