svasdssvasds

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

SPRiNG ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ จินต์ สถาพรสถิตย์สุข ผู้ก่อตั้ง Reborn Studio และผู้ผลิต GROM อาร์ตทอยเด็กหัวปลาหมึกแห่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่กรรมวิธีการผลิต ปัญหาขยะพลาสติก พร้อมกับหาคำตอบว่าทำไมพังงากับการเล่นเซิร์ฟจึงเป็นของคู่กัน

GROM เด็กหัวปลาหมึกคือผลงานสร้างสรรค์ของ จินต์ สถาพรสถิตย์สุข จาก Reborn Studio และ เอกนรินทร์ โยติภัย จาก Sunova Surfboards ภายใต้แรงบันดาลใจจากริ้วคลื่นทะเลอันดามัน กับปัญหาขยะที่สะท้อนผ่านอาร์ตทอย

จินต์ เปิดเผยว่า ทุกครั้งที่เล่นเซิร์ฟ ภาพที่เขาเห็นไม่ใช่แค่วิวธรรมชาติ รอยยิ้มผู้คน หรือริ้วคลื้นแห่งสายน้ำ แต่หากสังเกตดี ๆ จะพบขยะพลาสติกจำนวนมากล่องลอยอยู่เกลื่อนกลาด และหนีไม่พ้นที่ขยะเหล่านั้นถูกคลื่นซัดเข้ามากองรวมอยู่ที่ชายหาด นี่เป็นจึงเริ่มต้นของ GROM  

SPRiNG ชวนโต้คลื่นบทสนทนาไปกับ จินต์ สถาพรสถิตย์สุข นักออกแบบ character design และผู้ก่อตั้ง Reborn Studio ผู้ผลิต GROM Art Toy 

ขุดคุ้ยตั้งแต่ปัญหาขยะทะเลที่ชายหาดบางสัก จ.พังงา บทบาทนักสะสมอาร์ตทอย พร้อมหาคำตอบว่าทำไมต้องเป็น ‘เด็กหัวปลาหมึก’ ที่มิเพียงสะท้อนปัญหาขยะพลาสติก แต่ยังแอบกระซิบบอกด้วยว่าทำไมจังหวัดพังงาถึงเป็นแหล่งรวมคนรักเซิร์ฟ

01: ฉลากไทย ฉลากเทศ

มีคำกล่าวว่า “ขยะทะเล ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากทะเล” เป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่?

เมื่อปี 2564 ไทยติดอันดับ 6 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนกว่า 22.8 ล้านกิโลกรัม ซึ่งกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่าขยะในทะเล 20%เกิดในทะเล ส่วนอีก 80% เป็นขยะจากบนบก

โฉมหน้าขยะที่พบมากที่สุดมีหลายประเภทด้วยกัน ได้แก่ ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม หรือขยะจากการทำประมง อาทิ อวน เชือก ไหนจะขยะจากครัวเรือน ขยะอุตสาหกรรม และขยะจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้เป็นเหตุมาจากขยะที่ไม่ถูกจัดการอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ขยะเหล่านี้ท้ายที่สุดจึงเดินทางไปสู่ปลายทางเดียวกันคือท้องทะเล

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

ขณะที่พื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ GROM อาร์ตทอยเด็กหัวปลาหมึก มีขยะเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลจาก ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ขยะทะเลในอ่าวไทยไม่ได้ลดลงแม้แต่น้อย ในปี 2561 เก็บขยะทะเลได้ 82.3 ตัน ปี 2562 เก็บได้ 95.28 ตัน

เมื่อพลิกดูฉลากก็พบว่าส่วนใหญ่เป็นฉลากภาษาไทย อาจมีส่วนน้อยที่เป็นฉลากภาษาต่างประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าถูกคลื่นลมพัดลอยมาจากมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมาร์ ด้วยสถิติที่กล่าวมา จึงไม่แปลกใจที่ประเทศไทยคว้าอันดับ 6 ไปครอง เมื่อพูดเรื่องขยะทะเล

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

หาดบางสัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งในไทย การันตีด้วยจำนวนโรงแรม 5 ดาวที่ผุดขึ้นเยอะเหมือนปูลมผุดขึ้นเหนือผิวทราย และน้ำทะเลใส หอบล้อมด้วยธรรมชาติสีเขียวสบายตา ซึ่ง จินต์ สถาพรสถิตย์สุข ก็อาศัยอยู่ที่นี่ และเปิดคาเฟ่อยู่ที่นี่ รวมถึง Reborn Studio ด้วย

ผมชอบการเล่นเซิร์ฟ ไปเล่นเซิร์ฟทุกวัน ในแต่ละวันผมเห็นขยะพลาสติกเยอะมาก เดี๋ยวผมส่งรูปให้ดูก็ได้ ขยะ (ที่ชายหาดบางสัก) มันเยอะมากจริง ๆ พอเห็นแบบนี้ ผมอยากมีส่วนร่วมในการช่วยลดขยะทะเล เลยไปคุยกับเพื่อนว่าเราสามารถทำอะไรกับขยะพลาสติกเหล่านี้ได้บ้าง"

ประจวบเหมาะกับที่ผมเป็นคนชอบออกแบบคาแรกเตอร์ และเป็นนักสะสม (อาร์ตทอย) อยู่แล้ว ก็เลยคิดกันขยะพลาสติกน่าจะสามารถนำไปรีไซเคิลเป็นอาร์ตทอยได้ ผมจึงออกแบบ GROM ขึ้นมา และเขียนเรื่องราวให้ GROM ออกตามหาว่าขยะพลาสติกพวกนี้มันมาจากไหน

จินต์ สถาพรสถิตย์สุข

About Designer

จินต์ สถาพรสถิตย์สุข – ผู้ก่อตั้ง Reborn Studio ผู้ผลิต GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล และผู้ก่อตั้ง thaivetroglass แบรนด์เครื่องประดับงานคราฟต์จากวัสดุแก้ว หลายคนอาจคุ้นชื่อเขาจากการเป็นผู้ออกแบบ “Nong Joong” หรือเด็กน้อยในร่างกุ้งมังกรสุดคิวท์ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดแข่งขันมาสคอตภูเก็ต เมื่อปี 2562

 

อาร์ตทอยที่ฮิต ๆ กันอยู่ ผมก็มีเหมือนกัน ผมเลยคิดว่าเงินหนึ่งแสนที่ไปซื้ออาร์ตทอยเอามาลงทุนทำสตูดิโอผลิตอาร์ตทอยเองเลยดีกว่า สุดท้ายผมเสียเงินสองทาง

การเก็บอาร์ตทอยมันฮีลใจได้ ส่วนใหญ่คนชอบเก็บอาร์ตทอยที่เหมือนตัวเขาเอง อาร์ตทอยไม่เหมือนของเล่นด้วยนะ เขย่าอะไรก็ไม่ได้ แต่มันน่ารัก แค่มองก็ยิ้มออกแล้ว

 

02: นิทาน ด.ช. กรอม

“เด็กน้อยผู้นี้เติบโตมาพร้อมกับชาวมอแกน ชนเผ่าเร่ร่อนที่อาศัยอยู่บนทะเลมาหลายร้อยปีGrom เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตอยู่กับทะเล กลายเป็นเด็กที่ร่าเริง ชอบแสงแดด ดำน้ำ โดยเฉพาะการโต้คลื่นกับเพื่อนๆ สัตว์ทะเลในทุกวัน

เด็กน้อยผู้นี้มักจะคอยต้อนรับผู้คนที่มาเที่ยวเกาะสุรินทร์ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก Grom ชอบแนะนำสถานที่ กิจกรรมสนุกๆ เป็นคู่หูให้ทุกคน ให้ได้เจอประสบการณ์ที่ดี พบความสวยงามจากธรรมชาติเหมือนที่ Grom ได้สัมผัสทุกวัน

ทว่ามลภาวะทางทะเล ขยะพลาสติกที่ลอยเกลื่อนเต็มท้องทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก 

GROM รู้สึกห่วงใยและรักท้องทะเล จึงตัดสินใจออกเดินทางเพื่อต่อสู้กับมลพิษและปกป้องสิ่งแวดล้อม เด็กน้อยผู้นี้มุ่งมั่นหาทางหยุดยั้ง รณรงค์ หาคำตอบของปัญหาที่เกิดขึ้น เดินทางไปยังหมู่เกาะต่างๆ ของทะเลอันดามัน เกาะต่างๆในอาเซียน ระหว่างทาง GROM ได้พบเจอกับสิ่งมีชีวิตพิเศษที่แตกต่าง นั่นคือจุดเริ่มต้นของการผจญภัยอันน่าตื่นเต้น”

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

ด้านบนนี้คือเรื่องราวของ GROM ที่ Reborn Studio เขียนบรรยายเอาไว้บนเฟสบุ๊กเพจ Grom.arttoy ดูเหมือนได้อ่านคาแรกเตอร์ของการ์ตูนสักเรื่องเลยว่าไหม SPRiNG ชวนอ่านเบื้องหลังการกำเนิดของ GROM กว่าจะเป็นเด็กหัวปลาหมึกน่ารักน่าชัง ต้องผ่านกระบวนการใดมาบ้าง

GROM คือคำแสลงของออสเตรเลียที่เอาไว้ใช้เรียกเด็กเล่นเซิร์ฟเก่ง ๆ” จินต์คลายข้อสงสัยที่มาชื่อ

คนที่โต้คลื่นอยู่เป็นประจำอาจคุ้นชื่อนี้เป็นอย่างดี อันที่จริงไม่ต้องฝีมือฉกาจก็สามารถถูกเรียกว่า GROM ได้ ขอแค่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ส่วนรุ่นคนโตก็จะมีชื่อเรียกต่างออกไป

Credit Khaolak Surf Town

จินต์เล่าว่านี่ไม่ใช่ชื่อที่เข้าใจเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่คนเล่นเซิร์ฟในระดับสากลก็เข้าใจเช่นกัน ล่าสุด จังหวัดพังงาเพิ่งจัดการแข่งขัน GROM Patrol 2024 ที่เขาหลักไปเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

GROM เป็นเด็กชาวเลที่อาศัยอยู่ในชุมชนมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ ส่วนที่หัวเป็นปลาหมึกเพราะว่าได้แรงมาจากปลาหมึกในแหลมปะการัง บริเวณนั้นมีปลาหมึกเยอะมาก คนท้องถิ่นจะพากันไปแทงหมึกกันตอนเย็น ๆ จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

 

03: เปิดเบื้องหลังกรรมวิธีผลิต GROM

ขั้นตอนถัดไปคือการรวบรวมขยะพลาสติก จินต์อธิบายว่าเขาเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวก่อนด้วยการออกโปรโมชันให้ลูกค้าเดินเก็บขยะบริเวณริมหาด เก็บได้เต็มถุงนำมาแลกไอศกรีมหนึ่งลูกที่คาเฟ่ ฟรี!

จากนั้นจึงขยายความร่วมมือไปยังร้านค้าในพื้นที่ และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงาให้ช่วยดีลกับโรงแรม หรือร้านอาหารที่สร้างขยะในปริมาณมาก ในนาม Reborn Studio จึงโทรไปนัดแนะว่าจะช่วยเก็บขยะพลาสติกให้อาทิตย์ละครั้ง

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

เมื่อได้ขยะพลาสติกมาแล้ว ขั้นตอนถัดมาคือนำพลาสติกไปบด และหลอม

“เราใช้เครื่อง 3D Printing ผลิตบล็อกออกมาก่อน จากนั้น นำพลาสติกไปบดให้เป็นเม็ดเล็ก ๆ และนำไปหลอมให้อ่อนตัวลงแต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นของเหลว พยายามทำให้มันหนืด ๆ เข้าไว้

“จากนั้นก็นำไปกดลงในบล็อก ซึ่งวิธีนี้มันยากกว่าการใช้เรซิ่น หรือพลาสติก PVC ที่หลอมให้เป็นน้ำแล้วรอแข็งก็เสร็จ

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

คอลเลกชันแรกของ GROM มีชื่อว่า Guardian of The Ocean หรือผู้พิทักษ์ท้องทะเล ทั้งนี้ GROM ถูกผลิตออกมา 2 ไซซ์ ได้แก่ 100% และ 200%

หนวดปลาหมึกมันเปลี่ยนสีได้ ด้วยตัวหนวดมันโดดเด่นพอแล้ว ก็เลยไม่ได้อยากจำกัดว่าหนวดต้องมีสีแดงเท่านั้น มันควรจะมีหลายสีไปเลย แต่เบื้องต้นเราทำแค่สามแบบก่อน จากนั้นเราก็มาดูว่าสามารถใส่พลาสติกรีไซเคิลในส่วนไหนของอาร์ตทอยได้

  • Relaxation Station (ท่านอน) – ใส่พลาสติกรีไซเคิล 30% ต่อชิ้นงาน
  • Ocean Protector (ตัวยืน) -  ใส่พลาสติกรีไซเคิล 40% ต่อชิ้นงาน
  • Aerial Surfing (ท่าโต้คลื่น) - ใส่พลาสติกรีไซเคิล 60% ต่อชิ้นงาน

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

 

ความตั้งใจของเราคืออยากให้มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล 100% แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการผลิต ตอนนี้บางแบบเลยใส่พลาสติกรีไซเคิลได้เยอะ บางแบบก็ใส่ได้น้อย

ในเชิงรายละเอียดเช่นการลงสี ยังเป็นงานมือ (hand made) อยู่ จริง ๆ คนเรามีน้อย เพราะได้เพื่อน ๆ ที่อยู่ในโรงงานผลิตเซิร์ฟบอร์ดมาช่วย เวลาเลิกงานเขาก็มานั่งทำกัน

 

04: GROM ขายดีเกินคาดกับปัญหาที่พบระหว่างทาง

จินต์เล่าว่าหลังจากปล่อย GROM คอลเลกชันแรกออกมา ผลตอบรับถือว่าดีเกินคาด และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่งาน Wonder Festival Bangkok 2024 เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ตอนที่ผมพา GROM ไปออกบูธที่งาน ขนาดอยู่ในบูธเล็ก ๆ คนยังซื้อกันหมดเกลี้ยง จบงานมีออเดอร์ตามมาอีกเป็นพรวน ทุกวันนี้เราหัวหมุนกันอยู่กับการเคลียร์ออเดอร์ (ขำ)

ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นคนวัยรุ่น หรือวัยทำงานขึ้นไป เพราะเราขายราคาค่อนข้างสูง ผมเองยังคิดว่าราคาสูงเลย แต่คนที่เขาชอบอาร์ตทอยเขาซื้อเลยเพราะเขาเห็นคุณค่าอะไรในอาร์ตทอย

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

จินต์เล่าว่าตลาดอาร์ตทอยตอนนี้มีผู้ผลิตอยู่เยอะ ดังนั้น อาร์ตทอยจะแปลก แตกต่าง และสดใหม่ ต้องฉีกจากอาร์ตทอยที่มีวางขายอยู่แล้ว GROM เด็กหัวปลาหมึกจึงมาพร้อมกับไอเดียเรื่องการลดขยะพลาสติก ช่วยเซฟโลก

"ช่วงแรกคนอาจจะคิดว่าเอาขยะมาขายทำไม แต่เดี๋ยวนี้พอบอกว่าทำมาจากขยะรีไซเคิล ลูกค้ายิ่งชอบ ลูกค้าซื้อง่ายขึ้น อย่างตัวผมเองช่วง 4-5 ปีก่อนเคยมีความคิดว่าขยะรีไซเคิลมันคือขยะ มันไม่ได้มีมูลค่าอะไร แต่ตอนนี้ความรู้สึกคนเปลี่ยนไปแล้ว”

“คนยิ่งสนับสนุนสินค้าเราด้วยซ้ำเพราะเขารู้ว่าซื้อแล้วสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกได้ มันมีคุณค่า มีเรื่องราว เขาซื้อไปแล้วสามารถหยิบไปอวดได้ว่าอาร์ตทอยตัวนี้ทำมาจากขยะพลาสติก แถมยังเป็นฝีมือคนไทยอีก ยิ่งยุคนี้ที่สินค้าจีนทะลักเข้าตลาดไทย คนก็ยิ่งอยากสนับสนุนสินค้าคนไทยกันมากขึ้น”

แต่...

ปัญหาหลัก ๆ คือการขนส่ง พอเรามีคอนเซปต์เรื่องรักษ์โลก เราจึงไม่อยากใช้บับเบิ้ล หรือพลาสติกใส่หุ้ม แต่มันป้องกันแรงกระแทกไม่ได้ ขนาดใช้ลังซ้อนลัง หรือกระดาษรังผึ้งก็ยังเอาไม่อยู่ พอส่งไปมันแตกหมด

ที่คิดวางแผนเอาไว้คือผมจะลองใช้ผักตบชวามาช่วยใส่เข้าไปรวมกับบับเบิ้ล แต่ลูกค้าบอกว่าใส่บับเบิ้ลมาเถอะ แค่อาร์ตทอยก็รักษ์โลกพอแล้ว แต่ถ้าแตกก็จบกัน ผมขอคิดอีกทีว่าจะเอายังไงกับการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของอาร์ตทอย

 

05: พังงาแหล่งรวมคนรักเซิร์ฟ

ช่วงท้าย ๆ ของการโต้คลื่นบทสนทนา SPRiNG ชวนจินต์คุยถึงเรื่องการเล่นเซิร์ฟ วิถีชีวิตของชาวพังงา หรืออย่างน้อยคนที่อาศัยอยู่ที่เขาหลัก เหตุใดพวกเขาจึงรักการเล่นเซิร์ฟเป็นชีวิตจิตใจ ชีวิตบนริ้วคลื่นทะเลอันดามันมอบอะไรให้กับพวกเขา

เขาหลักเป็นย่านที่ฝรั่งจะรู้จักเยอะ สังเกตดูดี ๆ ที่เขาหลักมีโรงแรม 5 ดาวเยอะมาก เรียงตลอดริมหาด และทุกหาดสามารถเล่นเซิร์ฟได้ เซิร์ฟมันฮิตถึงขั้นมีโรงงานผลิตอยู่ที่นี่

สตูดิโอทำเซิร์ฟที่ผมบอกมีชื่อว่า Sunova Surfboards เขาผลิตแล้วส่งไปขายทั่วโลก คนที่ลงมือทำ ART TOY กับผมชื่อว่าเอก เขาเป็นคนไทยที่มีความสามารถในการผลิตบอร์ดเซิร์ฟ

Credit Khaolak Surf Town

Credit Khaolak Surf Town

ไม่ว่าเสิร์ชในเว็บใด หรือไม่ว่าสำนักใดจัดอันดับสถานที่เล่นเซิร์ฟยอดนิยมของไทย 5 อันดับแรก ยังไงก็ต้องมี “เขาหลัก” แวดวงนักเล่นเซิร์ฟทราบดีว่าฤดูเล่นเซิร์ฟที่ดีที่สุดคือช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ประจวบเหมาะกับการถูกห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติ บรรยากาศสงบเหมาะแก่การพักสุขภาพกาย รวมถึงสุขภาพใจ

แต่...

“เขาหลักค่อนข้างด้อยพัฒนาในเรื่องการขนส่ง ใครจะมาต้องนั่งเครื่องมาลงที่ภูเก็ตแล้วนั่งรถเข้ามาเอง รถบัสไฟฟ้าก็ยังไม่มี ซึ่งเราก็กำลังผลักดันกันอยู่ แต่มันแลกมากับธรรมชาติที่เงียบสงบ วิถีชีวิตเรียบง่ายยังไม่ถูกรบกวนมากนัก ซึ่งผมไม่อยากแลกเลย ขอเป็นจังหวัดที่มีธรรมชาติสวย และเจริญด้วยได้ไหม”

คุยกับ จินต์ โต้คลื่นกับ GROM อาร์ตทอยจากขยะทะเล เด็กหัวปลาหมึกแห่งอันดามัน

จินต์กล่าวเพิ่มว่าใครที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะทะเล และช่วยโลก สามารถส่งขยะพลาสติกมาได้ที่ Reborn Studio เขาคนเดิมเปรยว่ามิแน่คุณอาจได้รับพวงกุญแจเล็ก ๆ หรือสติ๊กเกอร์ GROM อาร์ตทอยเด็กหัวปลาหมึก ติดกลับไปเป็นของกำนัล

ผมอยากฝากไว้อีกนิดว่าถ้าเราทิ้งขยะให้ลงถังจะดีมาก ถ้าขยะมันถูกทิ้งไม่ถูกวิธี บางทีสุนัขมันคาบไปลงท่อ พอลงท่อมันก็ไหลไปลูแม่น้ำลำคลอง สุดท้ายขยะเหล่านั้นก็ไหลไปบรรจบกันที่ทะเล

 

“หากวันหนึ่ง GROM อยู่ในจุดที่เลี้ยงตัวเองได้ ผมอยากเป็นสปอนเซอร์ให้กับการแข่งขัน GROM Patrol ผมอยากให้เด็ก ๆ ที่เขาหลักได้เล่นเซิร์ฟกัน สำหรับผมทุกอย่างมันเริ่มจากเซิร์ฟจริง ๆ”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related