svasdssvasds

‘แม่น้ำโขง’ สายน้ำหล่อเลี้ยง 6 ชาติ แต่ใครทำให้วิกฤต?

‘แม่น้ำโขง’ สายน้ำหล่อเลี้ยง 6 ชาติ แต่ใครทำให้วิกฤต?

‘แม่น้ำโขง’ ธรรมชาติสร้างมาให้ 6 ประเทศใช้ร่วมกัน แต่บางประเทศได้ใช้ประโยชน์มากกว่า ใครเป็นต้นเหตุทำให้เกิดวิกฤตน้ำโขงท่วมในไทย ?

SHORT CUT

  • “แม่น้ำโขง” สายน้ำหล่อเลี้ยง 6 ประเทศ แบ่งกันใช้-ปกครอง แต่เหมือนบางประเทศได้สิทธิ์มากกว่า เพราะอยู่ต้นน้ำ ?
  • จีน ที่เป็นพี่ใหญ่ในความร่วมมือนี้ เหมือนจะจะโดนข้อครหาเรื่องทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะสร้างเขื่อนจำนวนมากไว้เป็นพลังงานไฟฟ้า 
  • ไม่รู้ว่าคุยกัน 10 ปี จะแก้ปัญหาแม่น้ำโขงได้หรือเปล่า เพราะแต่ละประเทศต่างก็ยึดประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก

‘แม่น้ำโขง’ ธรรมชาติสร้างมาให้ 6 ประเทศใช้ร่วมกัน แต่บางประเทศได้ใช้ประโยชน์มากกว่า ใครเป็นต้นเหตุทำให้เกิดวิกฤตน้ำโขงท่วมในไทย ?

“แม่น้ำโขง” มีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบต จนเป็นมหานทีที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และ เวียดนาม ตามลำดับ ทำให้มีความยาวเกือบ 5,000 กิโลเมตร

ข้อมูลแม่น้ำโขง 

แม่น้ำโขงเป็นแหล่งของพันธุ์ปลามากกว่า 1,000 ชีวิต จึงทำให้การประมงในพื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตพลเมืองแต่ละประเทศอย่างยิ่ง ราวกับว่า แม่น้ำโขงคือสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ 6 ประเทศได้ใช้ร่วมกัน

โดย ‘แม่น้ำโขง’ แบ่งเป็น 6 ช่วงดังนี้

  • ช่วงที่ 1 เริ่มตั้งแต่แม่น้ำแม่น้ำหลานชางเจียง หรือลุ่มน้ำโขงตอนบนในประเทศจีน แล้วไหลผ่านมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจำนวนมากที่ส่งผลไปยังแม่น้ำโขงตอนล่าง
  • ช่วงที่ 2 จากเชียงแสนถึงเวียงจันทน์และหนองคาย
  • ช่วงที่ 3 จากเวียงจันทน์และหนองคายไปยังปากเซ
  • ช่วงที่ 4 จากปากเซไปถึงกระแจะ (Kratie) ประเทศกัมพูชา
  • ช่วงที่ 5 จากกระแจะไปยังพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
  • ช่วงที่ 6 จากกรุงพนมเปญไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ในช่วงนี้จะมีความซับซ้อนของการไหลของน้ำในแม่น้ำโขง ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง มีอิทธิพลต่อการรุกล้ำของน้ำเค็มจากทะเลจีนใต้

‘แม่น้ำโขง’ สายน้ำหล่อเลี้ยง 6 ชาติ แต่ใครทำให้วิกฤต?

แม่น้ำโขง PHOTO AFP

พราะแม่น้ำโขงต้องผ่าน 6 ประเทศ จึงต้องแบ่งการปกครองการใช้แม่น้ำสายนี้ ซึ่งแต่ละประเทศก็สร้างเขื่อนไว้ใช้ประโยชน์ กล่าวคือต่างคนต่างดูแลในพื้นที่ของตัวเอง ทำให้การบริหารจัดการน้ำส่งผลถึงกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศตอนล่างของแม่น้ำโขงที่มักได้รับผลกระทบจากเขื่อนของประเทศที่อยู่ต้นน้ำเสมอ ซึ่งผู้ที่อยู่ด้านบนสุดของแม่น้ำโขงก็คือประเทศจีน

จีนสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ทำลายสิ่งแวดล้อม

เพื่อให้ทุกชาติได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง อย่างเท่าเทียม จึงมีการตัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง โดยเน้นให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ แต่ดูเหมือนว่าจีน ที่เป็นพี่ใหญ่ในความร่วมมือนี้ จะโดนข้อครหาเรื่องทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

PHOTO International Rivers

เพราะจีนอยู่ทางต้นน้ำ และมีการสร้างเขื่อนกับอ่างเก็บน้ำมากมาย จีนเปิดเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขง เมื่อปี 2536 และปัจจุบันจีนมีเขื่อนหลักที่เปิดทำการ 11 แห่ง และเขื่อนย่อยอีก 95 แห่งภายในอาณาเขตของตนเอง เพราะจีนมีความต้องการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำสูง แต่สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ ก่อให้เกิดผลกระทบตามมา เพราะเขื่อนได้ทำลายสมดุลทางระบบนิเวศ โครงสร้างทางวิศวกรรมทำให้มีการตกตะกอนลงไปในอ่างเก็บน้ำและขัดขวางไม่ให้สารอาหารที่มีค่าไหลลงสู่ปลายน้ำ เช่นในปี 2562 แม่น้ำโขงซึ่งปกติจะมีสีเหมือนกาแฟขาวกลายเป็นสีฟ้า ซึ่งหลายฝ่ายโดยเฉพาะสื่อตะวันตก มองว่าจีนมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง

แม่น้ำโขงแห้งแล้งในปี 2019  photo AFP

ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2563 ศูนย์วิจัยสหรัฐ Stimson Center ออกรายงานการศึกษาชิ้นใหม่ที่อ้างว่า สภาวะภัยแล้งรุนแรงในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นในปี 2562 เป็นผลจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนทางการจีน จนทำให้เกิดวิกฤตระดับน้ำแม่น้ำโขงลดต่ำผิดปกติครั้งประวัติศาสตร์ ส่งผลกระทบรุนแรงในหลายประเทศ 

แม้ทางการจีนจะอ้างว่า เพราะฝนแล้ง แต่สหรัฐฯ ตรวจพบว่า ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีนเวลานั้นกลับได้รับปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติ และผลการศึกษาข้อมูลดาวเทียมยังบ่งชี้ว่า เขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีนยังมีความชื้นในดินสูงกว่าที่ผ่านมา จึงสรุปได้ว่าที่ราบทิเบตที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำในแม่น้ำโขง ไม่ได้แห้งแล้งอย่างที่จีนอ้าง

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่แม่น้ำโขงเท่านั้นที่เป็นประเด็น เพราะน้ำท่วมครั้งใหญ่ในบังกลาเทศเดือน ส.ค. 67 ที่กระทบชีวิตประชาชนกว่า 6 ล้านคน ก็ถูกและกล่าวหาว่าถูกปล่อยมาจากอินเดีย

โดยชาวบังกลาเทศโทษว่า "อินเดีย" จงใจปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ให้ไหลลงมาท่วมเมืองของพวกเขาที่อยู่ห่างจากอินเดียเพียงไม่กี่กิโลเมตร เพราะจงใจแก้แค้นเหตุบาดหมางทางการเมืองในอดีต ซึ่งนับเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม แต่กระทรวงต่างประเทศของอินเดียออกมาปฏิเสธ อ้างว่าเกิดจากการที่ฝนตกลงมาอย่างหนักจนระดับน้ำสูงเกินไป ทำให้เขื่อนต้องปล่อยน้ำโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีปัญหาไฟฟ้าและการสื่อสารขัดข้อง พวกเขาจึงไม่สามารถส่งคำเตือนต่อชาวบ้านในบังกลาเทศได้ทัน

‘แม่น้ำโขง’ สายน้ำหล่อเลี้ยง 6 ชาติ แต่ใครทำให้วิกฤต?

PHOTO AFP

อย่างไรก็ตาม ถึงประเทศเล่านี้จะปฏิเสธเสียงแข็ง และอ้างว่าเป็นเพราะภัยธรรมชาติทุกครั้ง แต่การเป็นประเทศต้นน้ำและเป็นเจ้าของเขื่อน ก็ทำให้ถูกเพ่งเล็งอย่างหนักเสมอ

จีนระบายน้ำ แม่น้ำโขงท่วมไทย ?

ในปี 2567 ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดทั่วประเทศ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงก็เข้าขั้นวิกฤต เพราะผลจากการระบายน้ำจากเขื่อนทางตอนใต้ของประเทศจีนบวกกับปริมาณฝนที่ยังตกอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้น้ำล้นตลิ่งและเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในจังหวัดเชียงราย โดยจากการวัดระดับน้ำวันที่ 25 ส.ค. 67 อยู่ที่ 10.56 เมตร ส่วนที่จังหวัดหนองคายวัดระดับน้ำวันที่ 28.ส.ค. 67 อยู่ที่ 12.25 เมตร ทำให้เสี่ยงต่อน้ำท่วมเช่นกัน

ปัญหาดังกล่าว ทำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ส่งหนังสือด่วนถึงจีน ขอให้เขื่อนทางใต้ชะลอการปล่อยน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อไทยแล้ว พร้อมกับให้ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ประสานไปยัง สปป.ลาว เพื่อให้จัดการน้ำของเขื่อนในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพื่อบรรเทาผลกระทบและให้ระดับน้ำลดลงจากการล้นตลิ่ง

 

แต่วันที่ 27 ส.ค. 67 โฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทยได้ออกมาปฏิเสธไม่มีการระบายน้ำเร็วๆ นี้ 

“ทางจีนมีความกังวลอย่างมากในเรื่องนี้ โดยการสอบถามเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน สภาพน้ำของตอนแม่น้ำในประเทศจีนได้อยู่ภาวะปกติในเมื่อเร็วๆ นี้ และอ่างเก็บน้ำที่เกี่ยวข้องของแม่น้ำล้านช้างได้อยู่ในสถานะกักเก็บน้ำ ตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 25 สิงหาคม ปริมาณการไหลออกเฉลี่ยต่อวันของสถานีไฟฟ้าพลังน้ำจิ่งหงได้ลดลง 60% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมในปีก่อนหน้า และไม่ได้มีการดำเนินการระบายน้ำ หกประเทศในลุ่มแม่น้ำล้านช้างเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันที่เชื่อมต่อกันด้วยภูเขาและแม่น้ำ ฝ่ายจีนเคารพและเอาใจใส่ผลประโยชน์และข้อกังวลของประเทศในลุ่มแม่น้ำอย่างเต็มที่ จีนยินดีที่จะส่งเสริมการแบ่งปันและความร่วมมือในด้านข้อมูลทรัพยากรน้ำ เสริมสร้างศักยภาพในการจัดการแบบบูรณาการในลุ่มแม่น้ำ และร่วมกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภัยพิบัติน้ำท่วม และความท้าทายอื่นๆ เป็นต้น” ทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าว

เมื่อจีนปฏิเสธมาแบบนี้ ทางการไทยคงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากภาวนาให้ฝนไม่ตกหนักติดต่อกัน เพราะถ้าฝนยังตกอยู่แบบนี้ แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทย ต้องล้นตลิ่งแน่นอน.

อย่างไรก็ตามการจะแก้ปัญหาแม่น้ำโขงคงไม่ใช่แค่คุยกับจีน แต่นานาชาติที่ใช่แม่น้ำสายนี้ต้องหาทางออกร่วมกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคุยกัน 10 ปี จะแก้ปัญหาได้หรือเปล่า เพราะแต่ละประเทศต่างก็ยึดประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก

 

ที่มา : The China-Global South Project, GREEN NEWSสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related