SHORT CUT
ชวนดูไอเดียการรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมของเยอรมนี เจ้าภาพ ทัวร์นาเมนต์ ยูโร 2024 เพื่อผลักดันให้ยูโร 2024 แบบอย่างการจัดการแข่งขันกีฬาอย่างยั่งยืน
ฟุตบอลยูโร 2024 ที่ประเทศเยอรมนี กำลังจะเปิดฉากขึ้นในวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2024 โดยคู่เปิดสนามอย่างที่ทราบๆกันก็คือ อินทรีเหล็ก เยอรมนี ดวลกับ สกอตแลนด์ ที่อัลลิอันซ์ อารีน่า ในเมืองมิวนิค ซึ่งเรื่องผลของการแข่งขันนั้น เชื่อได้ว่าแฟนบอล แฟนลูกหนัง คงจะติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือทัวร์นาเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลยุโรป ซึ่งมีมนต์ขลัง มีสเน่ห์
อย่างไรก็ตาม ในการจัดทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลใหญ่ระดับนี้ ใหญ่ระดับ ยูโร 2024 ย่อมมีผลกระทบในหลายๆด้าน ทั้งในแง่ของเมือง ประชาชน เศรษฐกิจ หรือในมุมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้คนในโลก ณ ปี 2024 ให้ความสนใจ และให้สปอร์ตไลท์ให้แสงความสนใจเป็นอยางมาก
สำหรับ ยูโร 2024 ฉบับอินทรีเหล็กนั้น เจ้าภาพ รัฐบาลเยอรมนี มีเป้าหมายที่จะเป็นการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่ยั่งยืน-รักษ์โลก และเป็นการแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ยั่งยืนที่สุดตลอดกาล เพื่อที่จะเป็นต้นแบบให้กับการจัดการแข่งขันกีฬาอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
แนวความคิดเรื่องจัดทัวร์นาเมนต์ ยูโร 2024 ให้รักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นแนวคิดที่สมาคมฟุตบอลเยอรมนี หรือ เดเอฟเบ (DFB) ซึ่ง เอาไอเดีย หัวใจสำคัญเรื่องนี้ ใช้ในการเสนอตัวเข้าชิงสิทธิการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันยูโร 2024 มาตั้งแต่ต้นแล้ว นอกจากนี้ ยังร่วมกันพัฒนากับสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า (UEFA) ที่เป็นหัวเรือใหญ่
ตั้งแต่ช่วงเวลา หาแคนดิเดตจัดยูโร 2024 แล้ว ตอนนั้น สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ระบุว่า ยูโร 2024 มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นแบบอย่างการจัดการแข่งขันกีฬาอย่างยั่งยืน และเป็นแรงผลักดันสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมชาวเยอรมันและยุโรป
“เราต้องการให้ยูโร 2024 เป็นตัวอย่าง เป็นการสร้างแบบจำลองที่ยั่งยืนที่จะนำไปใช้กับทุกการแข่งขัน” มิเคเล อูวา (Michele Uva) ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของยูฟ่าให้ความเห็นเอาไว้ และเนื่องด้วยวิสัยทัศน์และเป้าหมายสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดนั้น ยูฟ่าร่วมกับเดเอฟเบ และหน่วยงานสาธารณะอื่น ๆ กำหนดกลยุทธ์ ESG ของ “ยูโร 2024
“ความยั่งยืน” ซึ่งผู้จัดหมายมั่นปั้นมือให้เป็น DNA หรือฝังลึกลงไปในจิตวิณญาณของทัวร์นาเมนต์ ได้ถูกบูรณาการเป็นเสาหลักพื้นฐานของการดำเนินการจัดยูโร 2024 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเดินทาง เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการจัดการแข่งขันโดยส่วนใหญ่มาจากการเดินทาง-ขนส่งถึง 80%
ยกตัวอย่างการดำเนินงานเพื่อให้ยูโร 2024 เป็นการแข่งขันกีฬาที่ยั่งยืน และ Keep The World อาทิ
• ออกแบบโปรแกรมแข่งขันยูโร 2024 และสนามกีฬาที่จัดการแข่งขันให้ช่วยลดระยะทางในการเดินทางสำหรับทีมฟุตบอลและแฟนบอลให้มากที่สุด
• หนุนให้แต่ละทีมชาติ รวมถึงแฟนบอลเดินทางโดยรถไฟแทนการเดินทางโดยเครื่องบิน โดยยูฟ่าสนับสนุนค่าโดยสารรถไฟ 25% ผ่าน “อินเตอร์เรล” (Interrail) ซึ่งเป็นระบบตั๋วรถไฟร่วมสำหรับการเดินทางใน 33 ประเทศในยุโรป
• เตรียมบริการขนส่งสาธารณะในเมืองที่จัดการแข่งขันและเมืองข้างเคียงเพื่อให้บริการฟรีสำหรับผู้มีตั๋วเข้าชมการแข่งขัน
• ใช้พลังงานหมุนเวียนในสนามกีฬาและสำนักงานดำเนินการจัดการแข่งขันยูโร 2024
• ภาชนะสำหรับใส่อาหารที่ใช้ในสนามกีฬาทั้ง 10 สนาม และพื้นที่สาธารณะสำหรับชมการแข่งขันจะเป็นแบบใช้ซ้ำได้ทั้งหมด เพื่อลดปริมาณขยะ
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเจ้าภาพยูโร 2024 อย่างอินทรีเหล็ก เยอรมนี และยูฟ่า จะตั้งเป้า มีเซ็ตเป้าหมายเอาไว้ดีก็ตาม แต่เป้าหมายเหล่านี้ก็เป็นเป้าที่ท้าทายมาก และเป้าหมายนี้จะบรรลุได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนรับผิดชอบหลักต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือ ทีมฟุตบอลของแต่ละชาติ ทั้ง 24 ชาติ ที่เข้าร่วมศึกยูโร 2024 เองว่าจะให้ความร่วมมือเรื่องการเปลี่ยนวิธีการเดินทางมากน้อยเพียงใด
ตามการคำนวณของยูฟ่าเพื่อการขนส่งและสิ่งแวดล้อม (Transport & Environment : T&E) หากทีมฟุตบอลของทุกชาติไม่เดินทางโดยเครื่องบินเลยและเดินทางโดยรถไฟหรือรถโค้ชแทน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 60% ของประมาณการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของทัวร์นาเมนต์นี้ และตอนนี้ มี 3 ประเทศที่ยืนยันแผนการเดินทางในทัวร์นาเมนต์นี้ ด้วยการไม่เดินทางด้วยเครื่องบิน นั่นคือ เยอรมนี , โปรตุเกส และ สวิตเซอร์แลนด์
ที่มา : euronews uefa cleanenergywire
ข่าวที่เกี่ยวข้อง