SHORT CUT
เนื่องในวันมาฆบูชา 2567 สปริงส์ในคอลัมน์ Keep The World ขออาสาพาชาวพุทธทุกท่านไปเยือนที่ วัดจากแดง จ.สมุทรปราการ วัดที่ได้ชื่อว่าเป็นเอกอุด้านการจัดการขยะและเชื่ออย่างยิ่งว่า ขยะทุกชิ้น มีราคาค่างวดเสมอ หากได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี
โดยทีมสปิรงส์ได้นัดแนะกับ พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาขยะในพื้นที่ วิธีการจัดการขยะของวัด (ทั้งในอดีต-ปัจจุบัน) และไฮท์ไลต์เด่นของงานคือ จีวรรีไซเคิล
บอกเลยว่าก่อนจะเห็นเป็นผ้าจีวรคุณภาพดี ต้องอาศัยการเผชิญกับปัญหามาอย่างยาวนาน ถึงเริ่มตระหนัก และค่อย ๆ ขยับตัวจัดการกับปัญหาขยะ กระทั่งค้นพบวิธีเผด็จศึกขยะไม่มีชีวิตเหล่านั้นได้อยู่หมัด
แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของวัดจากแดงไม่ได้สวยหรูนัก พระมหาประนอมเล่าว่าสมัยก่อนบริเวณรอบวัดจากแดงประกอบไปด้วยขยะ 2 ประเภทได้แก่ “ขยะจากธรรมชาติ” และ “ขยะจากคน”
ขยะจากธรรมชาติอันได้แก่กิ่งไม้ใบไม้ ขยะวัชพืช ขยะอินทรีย์ และเนื่องจากวัดตั้งอยู่ริมน้ำ สารพัดขยะก็ลอยเข้ามารอบ ๆ วัด เวียนผลัดกันมาไม่ซ้ำหน้าและสำหรับขยะจากคน ซึ่งไม่ถูกคัดแยกอย่างถูกต้อง อยากทิ้งตรงไหนก็ทิ้ง
บวกกับสมัยก่อนพื้นที่บริเวณวัดจากแดงเฟื่องไปด้วยสุนัขจรจัด ที่เดินป้วนเปี้ยนไปมาราว 300 ตัว และตูบเหล่านี้ก็จะเข้าไปคุ้ยเขี่ยขยะ ซึ่งมันทำให้อบต.ทำงาน (เก็บขยะ) ยากขึ้น กระนั้น ทางวัดก็ริเริ่มลงมือหาวิธีจัดการขยะพลาสติก
ย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้น ทางวัดก็ยังอยู่ในช่วงลองผิดลองถูก และความเข้าใจเรื่องการจัดการขยะที่คลาดเคลื่อน “ช่วงแรกเผา แต่มันส่งกลิ่นเหม็น ก็เลยประชุมกับพระ ไถ่ถามกันว่าใครมีวิธีการกับการจัดการขยะพลาสติกโดยที่ให้เกิดประโยชน์และไม่ส่งกลิ่นเหม็น ไม่เป็นมลพิษ”
แต่กระนั้น พอรู้แล้วว่าวิธีเผามันไม่เวิร์ก แถมทำลายโลกและสิ่งแวดล้อม ทางวัดจึงคิดหาวิธีนำขยะไปทำเป็นอะไรสักอย่าง...
“วัดเรามีพระที่เคยเรียนที่มหาวิทยาลัย เขาบอกเคยทำงานทดลองเรื่องนี้ ‘เอาพลาสติกไปทำเป็นน้ำมัน’ ได้เบนซิล ดีเซล แก๊ส ซึ่งน้ำมันที่ได้จะแบ่งเป็นดีเซลสัก 60% เบนซินสัก 30% ที่เหลือก็เป็นแก๊ส ด้วยทรัพยากรที่มี ก็พอจะจัดการขยะพลาสติกให้หายไปได้ ก็ถือว่าเป็นก้าวแรก” พระประนอม กล่าว
แค่นี้ก็นับว่าน่าชื่นชมแล้ว แต่ไอเดียสุดเจ๋งที่ทำให้ทีมงานสปริงส์อพยพโยกย้าย ขับรถกันมาไกลถึงจังหวัดสมุทรปราการก็คือ “จีวรรีไซเคิล”
เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้น พระประนอมเล่าให้ฟังว่า มีโอกาสได้ไปศึกษาโมเดลการรีไซเคิลขยะของไต้หวัน ณ นครแห่งนี้จะมีจิตอาสาที่คอยรณรงค์ในการเก็บ-คัดแยกขยะ โดยจะไปเก็บสอยขยะในช่วงวันหยุด เหตุเพราะว่าภาครัฐจะขับรถเก็บขยะแค่ 5 วันจันทร์ถึงศุกร์เท่านั้น
ซึ่งมันยังมีขยะหลงเหลืออยู่ ทำให้ 2 วันที่เหลือกลุ่มจิตอาสาจะคอยไล่ตามเก็บขยะของประชาชน จนขยายเป็นไฟลามทุ่งทำกันทั่วประเทศ ปี ๆ หนึ่งโกยเงินจากการรีไซเคิลที่ถูกต้องเป็นเม็ดเงินกว่าหลักร้อนล้าน
หนึ่งในวิธีรีไซเคิลของชาวไต้หวันคือ นำขวดพลาสติกไปรีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ใหม่ “เห็นเขาเอาขวดไปทำเสื้อผ้า ก็โอเคเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราเอาไปทำจีวรล่ะ มันจะพิเศษและพระจะห่มไหม” พระประนอม กล่าว
“พระไตรปิฎกมันมีผ้าบังสุกุลจีวร ผ้าบังสุกุลจีวรคือผ้าที่เปื้อนฝุ่นเก็บจากกองขยะ ผ้าห่อศพก็ดี ผ้าที่เก็บจากกองขยะก็ดี ผ้าที่เขาทิ้งทั่ว ๆ ไปก็ดี เก็บผ้าเหล่านั้นมาซักมาย้อม มาเย็บแล้วทำเป็นจีวร เรียกว่าผ้าบังสุกุลจีวร พระไตรปิฎกมันมีเนี่ย มีเค้าโครงอย่างนี้ ถ้าเราเอาขวดน้ำมาทำเป็นผ้าบังสุกุลจีวรจะเป็นอย่างไร”
พระประนอมเล่าว่า “ขั้นตอนในการทำเส้นใย สิ่งแรกเลย บดพลาสติกให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วก็ไปเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไปต้ม แล้วก็มาทำเป็นเส้นใย ผ่านความร้อน พอได้เส้นใย เป็นเส้นใยโพลีเมอร์ เอาเส้นใยโพลีเมอร์มาทำเป็นจีวรเลยได้มั้ย ได้ แต่มันจะร้อน”
“เลยเอาไปผสมกับฝ้าย เส้นใยโพลีเมอร์ 60% เส้นใยฝ้าย 40% พอผสมปุ๊ปมันเย็นลงแล้ว พอเย็นเสร็จแล้วยังไม่มั่นใจ มันมาจากกองขยะ เชื้อโรคมันอาจจะมี ก็เลยใส่ Sync Nano เข้าไป 19 ตัว ในนั้นจะมี anti-bacteria ด้วย เพราะฉะนั้นมี anti-bacteria อยู่ในผ้า ผ้านี้ซักง่าย แห้งแร้ว ไม่ยับ ไม่อับไม่ชื้น พอมีตรงนี้ตามวินัยก็ได้ ตามสุขภาพก็ได้ การนุ่งห่มมันก็ไม่ร้อนจัด”
“พอทำเสร็จก็ถูกคนกล่าวหาว่า โกหก หลอกลวง ใครเขาเอาขวดน้ำมาทำจีวร จะอธิษฐานเป็นผ้าไตรจีวรได้หรือ”
“ได้ เพราะในผ้าไตรจีวรมีผ้า 5 ชนิดข้อสุดท้ายคือ ภังคะ เอาทุกอย่างมารวมกันเป็นผ้าไตรจีวร อันนั้นก็คือตามวินัยได้ ตามสุขภาพล่ะ มันมีเชื้อโรคไหม ถูกต้มจนทำเป็นเส้นใย และหลังจากนั้นมันมีซิงค์นาโนเคลือบไปอีก ในซิงค์นาโนมันมี anti-bacteria ช่วยด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องสุขภาพก็ได้ เรื่องการนุ่งห่มล่ะ มันก็ไม่ร้อน”
มิเพียงแค่รีไซเคิลจีวงไว้สำหรับให้พระในวัดสวมใส่เท่านั้น แต่ปัจจุบันจีวรรีไซเคิลดังกระฉ่อนไปไกลถึงต่างประเทศ พระไทยในอเมริกา พระไทยในเยอรมัน พระไทยที่อังกฤษ พระไทยที่อินเดีย หรือแม้แต่ไม่ใช่คนไทย แถมเป็นฆราวาสชาวฟิลิปปินส์ พระอาจารย์เล่าว่าก็มีซื้อไปเหมือนกัน โดยเจ้าตัวให้เหตุผลว่าซื้อไปเป็นของที่ระลึก
“ตอนนี้ยอมรับแล้ว ที่มีครหาคือไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจว่ามันเป็นไปได้หรือ มันถูกต้องตามวินัยหรือ มันดีต่อสุขภาพหรือ พอคำถามก็เคลียร์ให้ทีละอย่าง พอได้คำตอบทั้งหมดก็โอเค”
“ขยะคือวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ทำยังไงให้ขยะมีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อแค่แยกเปียกกับแห้งออกจากกัน อย่าให้ขยะแห้งปนเปื้อนขยะเปียก”
"ยิ่งพลาสติกถ้าคัดแยกเป็นอย่างต่ำ 7 ประเภทได้ แต่ละอย่าง ๆ พอคัดแยกเสร็จแล้ว อันนี้ก็ได้ อันนี้ก็ได้ ไม่มีอะไรต้องทิ้ง ขอให้ขยะมันสะอาด เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นคัดแยกให้เป็น"
“ขยะมันเป็นเลขศูนย์ แต่พอคัดแยกมันก็เริ่มเป็นเลขสิบ พอมารีไซเคิลได้มันก็เป็นเลขร้อย พอมาเป็นจีวรรีไซเคิลมันเป็นเลขพัน”
หากใครต้องการเปลี่ยนขยะให้เป็นบุญ จะขับรถไปส่งมองขยะที่วัดด้วยตัวเองก็ได้ หรือจะส่งไปก็ได้เหมือนกัน
แต่เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ให้แยกฝาขวดออก แกะสลาก ตัดขอบรอบคอขวด แล้วบีบให้แบน อัดรวม ๆ กัน แล้วสามารถส่งมาได้ตามที่อยู่นี้
"พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร / วัดจากแดง ถ. เพชรหึงษ์ ซอย 10 ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130"
หรือสามารถติดต่อสอบถามเรื่องการบริจาคขยะได้ที่เบอร์ 06-65199558
ข่าวที่เกี่ยวข้อง