"เทียนจิน เฉิงตู เซินเจิ้น" 3 Eco city จากประเทศจีน ต้นแบบเมืองนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เริ่มผลิดอกออกผลแล้ว หลังมีรายงานว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแดนมังกรมีแนวโน้มลดลงภายในปี 2030
ดูเหมือนว่าการสร้าง “Eco city” ของจีนจะเริ่มผลิดอกออกผลแล้ว หลังมีการคาดการณ์ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแดนมังกรมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2023 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นับจนถึงขณะนี้ จีนเป็นประเทศที่ก่อให้เกิดมลพิษมากที่สุดในโลก!
ในปี 2022 จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันปล่อย แต่รายงานคาดการณ์ว่า นับตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจีนจะเริ่มทรงตัว อันเนื่องมาจากนโยบายปัจจุบัน
หนึ่งในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจในจีน คือการจัดตั้งเมือง Eco City หรือเมืองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นโครงการพัฒนาที่รัฐบาลจีนเริ่มวางแนวคิดเอาไว้ตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2000
เพื่อหวังแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม และการขยายตัวของเขตเมืองอย่างรวดเร็ว โดยเน้นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และกิจกรรมต่างๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการเมืองเป็นมิตรแห่งสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในจีนได้รับการประกาศเมื่อปี 2004 นั่นคือ เมืองตงถาน ในเซี่ยงไฮ้ แต่แล้วก็ถูกยกเลิกไปก่อนโครงการก่อสร้างจะเริ่มต้นขึ้นเสียอีก
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่ทราบจำนวนของ Eco City ในจีนอย่างแน่ชัด แต่รายงานจากฟอร์บส์ชี้ว่า นับจนถึงปี 2017 จีนกำลังสร้างเมืองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 285 แห่ง และกว่า 90% ของเมืองใหญ่ในประเทศจีนล้วนประกาศแผนการมุ่งเน้นสู่การเป็นเมืองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และนี่คือ 3 เมืองขนาดใหญ่ ที่มีโครงการเมือง Eco City ซึ่งได้รับการยอมรับมากที่สุดของประเทศจีน
เทียนจินมีสถานภาพเป็นเทศบาลเมือง อยู่ห่างจากกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนไม่ไกลนัก โครงการ Eco City ของเมืองเทียนจีนนับว่าเป็นโครงการที่ได้รับการชื่นชมมากที่สุด และมีพื้นที่ก่อสร้างใหม่นี้มีชื่อว่า “เขตใหม่เทียนจินปินไห่”
แผนการเริ่มขึ้นในปี 2007 และการก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 2008 ภายใต้การร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลสิงคโปร์ ก่อนหน้าการก่อสร้าง พื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นนาเกลือ เป็นผืนดินที่เพาะปลูกไม่ได้ และแหล่งน้ำเน่าเสีย
แต่ปัจจุบันนี้ เขตใหม่เทียนจินปินไห่เปลี่ยนสภาพกลายมาเป็นเมืองสีเขียว มีชีวิตชีวา และอาศัยอยู่ได้ โดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด และการสร้างนวัตกรรม
ส่วนทุกวันนี้มีประชากรกว่า 130,000 คนอาศัยอยู่ หรือทำงานที่นั่น อีกทั้งยังมีบริษัทขึ้นทะเบียนภายในเมืองดังกล่าวมากกว่า 23,000 แห่ง
ขั้นตอนต่อไปของการพัฒนา คือการมุ่งเน้นเขตศูนย์กลาง ซึ่งย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ หรือ CBD จะตั้งอยู่ ขณะที่รถไฟกึ่งด่วนอยู่ภายใต้การก่อสร้าง มันจะเชื่อมต่อเมืองแห่งนี้เข้ากับกรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และเขตใหม่เทียนจินปินไห่เข้าไว้ด้วยกัน
ส่วนภายในปี 2035 โครงการดังกล่าวตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเอาไว้ เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เช่น
การปรับปรุงกิจกรรมด้านการจัดการขยะ โดยมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการรีไซเคิลให้ได้อย่างน้อย 70%
จำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 100 ตันต่อ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP
สนับสนุนวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม ด้วยการโน้มน้าวให้อย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่ตั้งอยู่เข้าร่วมในกิจกรรมด้านนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวและการแข่งจันทางเศรษฐกิจ
ในปี 1980 เซินเจิ้นได้สัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากหมู่บ้านประมงเล็กๆแห่งหนึ่ง ได้กลายมาเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจ และที่นี่คือเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของประเทศจีน
เมื่อความสำเร็จดำเนินหน้าไป การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วไม่เพียงนำพามาซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตเท่านั้น แต่มันยังนำพาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย เมื่อตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เซินเจิ้นประกาศเป้าหมายสามประการได้แก่ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก คงไว้ซึ่งคุณภาพอากาศ และยังคงเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจต่อไป
นโยบายต่างๆที่เซินเจิ้นนำมาใช้ เช่นการยึดมั่นที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่แหล่งอุตสาหกรรม ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ท้องถิ่น และสนับสนุนกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย
สำหรับเซินเจิ้นแล้ว เมืองแห่งนี้ไม่ได้เลือกว่าจะมุ่งเน้นการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เซินเจิ้นยึดหลักการที่ว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถเพิ่มพูนอำนาจให้แก่ทั้งระบบนิเวศน์และการพัฒนาด้านการเงินได้
หนึ่งในโครงการแลนด์มาร์กของเซินเจิ้นคือ การฟื้นฟูระเบียงนิเวศน์แม่น้ำต้าชา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตหนานชาน ทางตอนใต้ของตัวเมือง ครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นทะเลทรายมาก่อน แต่ปัจจุบัน มันกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจของผู้คน
เฉิงตูตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่น่าอยู่ที่สุดของประเทศจีน โดยในปี 2012 เฉิงตูเปิดตัวแผนการอันทะเยอทะยาน เพื่อจะสร้างศูนย์กลางเมืองแห่งใหม่ที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ ลานกว้างสาธารณะและถนนที่สามารถเดินได้ ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกันกับสวนอังกฤษ
เฉิงตูมีประชากรอาศัยอยู่เกือบ 22 ล้านคน และที่นี่กำลังก่อสร้างชุมชน “near-zero carbon” หรือชุมชนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบจะเป็นศูนย์ โดยนำเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานอาคารแบบยั่งยืนใช้ นอกจากนี้ เฉิงตูยังกำลังยกเครื่องภูมิทัศน์ภายในตัวเมืองอีกด้วย
หนึ่งในแผนการที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนขยะทั่วไปให้กลายเป็นปุ๋ยที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ และหนึ่งในโครงการขึ้นชื่อของเฉิงตู คือการเปลี่ยนดาดฟ้าให้กลายเป็นสวนลอยฟ้า พื้นที่สีเขียวเหล่านี้ไม่เพียงปรับปรุงตัวเมืองให้ดูสวยงามขึ้น แต่มันยังช่วยในเรื่องความพยายามในการส่งเสริมการรีไซเคิลและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย
ที่มา: CNN , Wikipedia , culture trip , CNN , BNN
เนื้อหาที่น่าสนใจ