จีนเริ่มหันมาสนใจการขนส่งแบบยั่งยืนอย่างเต็มตัว ล่าสุดใช้รถไฟใต้ดินขนส่งพัสดุแบบด่วน เพื่อหวังลดการจราจรติดขัด มลพิษบนท้องถนน Keep The World ชวนติดตาม การขนส่งอย่างยั่งยืนดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?
เทรนด์การขนส่งแบบยั่งยืนมาแรงต่อเนื่อง หลายเมืองทั่วโลก เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสาธารณะที่ดีต่อต่อสิ่งแวดล้อมและชาวเมืองกันอย่างจริงจังมากขึ้น กระทั่งล่าสุด แดนมังกรก็กระโดดเข้ามาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 รัฐสภาของจีนมีแผนที่จะเปลี่ยนให้จีนกลายเป็น “มหาอำนาจด้านการขนส่ง” การขนส่งที่ว่านั้นหมายถึง ระบบขนส่งสินค้าผ่านรถไฟใต้ดินตามเมืองต่าง ๆ ด้วย
สินค้าที่ว่าคือ สินค้าประเภทใดก็ได้ ที่ต้องการส่งไปยังปลายทางแบบเร่งด่วน (ภายในวัน) ข้อมูลจาก eco business ระบุว่า ปัจจุบันนี้ ภาคการขนส่งของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองปักกิ่ง กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก
เมืองปักกิ่งมีประชากรอาศัยอยู่ราว 22 ล้านคน ด้วยตัวเลขดังกล่าว ทำให้มีการขนส่งพัสดุประมาณ 15 ล้านชิ้นต่อวัน ลองจินตนาการดูว่า สินค้าที่ถูกลำเลียงไปยังจุดหมายปลายทางด้วยรถยนต์ หรือรถบรรทุกจะสร้างมลพิษมากขนาดไหน
แค่เฉพาะปักกิ่งเมืองเดียว รถไฟใต้ดินที่วิ่งในเมืองตกวันละ 10 ล้านคน ดังนั้น การจะนำระบบขนส่งพัสดุเข้าไปติดตั้งในระบบรถไฟใต้ดินต้องมีมาตรการหลบเลี่ยงผู้โดยสารเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เป็นการเปลืองพื้นที่จุบนเครื่อง
ยกตัวอย่างเช่น รถไฟใต้ดินสาย 9 ฟางซาน-เอี้ยนฟาง ต้องยอมจุผู้โดยสารน้อยลงร้อยละ 20 เพื่อให้สามารถขนส่งหนังสือพิมพ์ และหนังสือต่าง ๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งเคสคือ บริษัทขนส่ง SF Intra-City ที่กำลังทดลองปล่อยรถไฟที่บรรจุผู้โดยสาร พร้อมกับพัสดุ โดยแบ่งเป็น 2 รอบ คือเวลา 12.30 น. และ 15.30 น.
เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือนกว่า ๆ ที่จีนเริ่มติดตั้งระบบขนส่งพัสดุแบบด่วนเข้ากับรถไฟใต้ดิน ชาวเมืองปักกิ่งก็แสดงความคิดเห็นไปในเชิงบวก ว่าง่าย ๆ คือ เวิร์ก! หนึ่งในความคิดเห็นบอกกับ People’s Daily ว่า การขนส่งในรูปแบบนี้ช่วยลดการจรจรติดขัดบนท้องถนน แถมดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ทางด้านของเมืองเซินเจิ้น (Shenzen) ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของจีน ก็เล็งที่จะนำแผนการขนส่งแบบยั่งยืนดังกล่าวมาปรับใช้กับระบบขนส่งในเมือง
เบื้องต้นจะทดลองขนส่งพัสดุช่วงหลังตอนเย็นเป็นต้นไป เริ่มต้นที่ขนส่งฝูเถียน (อยู่กลางเมือง) ไปยังสถานีรถไฟปี่ไห่วาน ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง จากนั้น ก็จะลำเลียงสินค้าไปยังสนามบิน เพื่อนำไปส่งต่อทั้งในและต่างประเทศ
ต้องบอกว่า แนวคิดเรื่องการขนส่งแบบยั่งยืน อาทิ การขนส่งพัสดุด้วยรถไฟ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลาย ๆ เมืองในยุโรปได้นำร่องทำไปก่อนแล้ว โดยจุดประสงค์หลักของแนวคิดนี้คือ การประณีประณอมต่อสิ่งแวดล้อม
ในปี 2003 เมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดตัวโครงการที่ชื่อว่า Cargo-Tram ดูจากชื่อก็รู้แล้วว่าเป็น รถรางนั่นเอง โดยเมืองซูริคใช้รถรางเพื่อเก็บและลำเลียงขยะที่กระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วเมือง ซึ่งถูกทิ้งอย่างผิดกฎหมาย ประมาณ 300 ตันต่อปี
ในระยะเริ่มต้น เมืองซูริคได้ติดตั้งป้ายรถรางจำนวนสี่แห่งเพื่อเป็นจุดเก็บขยะ จากนั้นก็ขยายเป็น 9 แห่ง ในปี 2005 ผลลัพธ์ออกมาปรากฏว่า การขนส่งด้วยรถรางสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ดีกว่ารถบรรทุกมากโข แถมประหยัดการใช้น้ำมันดีเซลได้ถึง 37,500 ลิตร
ทั้งนี้ แม้เรื่องระบบขนส่งจะเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยของเมืองที่ประกอบสร้างเมืองนั้น ๆ ว่า ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด แต่เมืองอย่างซูริคทำให้เห็นแล้วว่า ระบบขนส่งสาธารณะที่ดีต่อคน ดีต่อโลกนั้น เป็นประโยชน์กับเมืองและประชากรอย่างไร
เน้นย้ำเล็กน้อยว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา เมืองซูริค กลายเป็นเมืองที่มีค่าอากาศดีที่สุดในโลก ด้วยจำนวน AQI ประมาณ 0.51 µg/m³ (เฉลี่ยทั้งปี)
ที่มา: Eco Business
เนื้อหาที่น่าสนใจ