svasdssvasds

ออฟฟิศ Zero waste ออสเตรเลียส่งประกวด ดีไซน์สวย ตอบโจทย์พนักงาน แถมรักษ์โลก

ออฟฟิศ Zero waste ออสเตรเลียส่งประกวด ดีไซน์สวย ตอบโจทย์พนักงาน แถมรักษ์โลก

ออฟฟิศต้องดีไซน์แบบไหน ถึงเรียกว่าเป็นออฟฟิศรักษ์โลก ที่ต้องดีต่อโลกใบนี้ และตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของพนักงานด้วย ชวนดูออฟฟิศจากออสเตรเลีย Today Design ที่ถูกออกแบบด้วยแนวคิดความยั่งยืน แถมใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ

ไอเดียการออกแบบสำนักงานในศตวรรษนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฟังก์ชั่นการใช้งานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพนักงานเป็นหลัก ซึ่งโจทย์ของแต่ละออฟฟิศย่อแตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่มี 2 แนวทางคือ ให้ความสำคัญและไม่ให้ความสำคัญในการ “สร้างออฟฟิศแบบยั่งยืน

ในความหมายคือ ต้องเป็นออฟฟิศที่ตอบโจทย์การทำงานของพนักงาน พร้อมทั้งมีการออกแบบที่ยืดหยุ่นได้ ปรับเปลี่ยนได้ และทำจากวัสดุรีไซเคิล ที่ยังคงความสวยงามเอาไว้อยู่ และมีความแข็งแรงทนทาน

ทว่า ปัญหาคือ “ต้นทุนที่สูงลิ่ว” ไม่ว่าจะสร้างใหม่หรือรื้อโครงสร้างเดิมก็ตาม ดูเหมือนว่าการสร้างออฟฟิศให้ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อโลกแม้ดูจะเป็นเรื่องที่ไกลกันพอสมควร แต่ก็มิใช่ว่าจะหาจุดร่วมไม่ได้

เพราะไอเดียของการสร้างออฟฟิศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็กำลังเป็นที่นิยมในหลาย ๆ ประเทศ อาทิเช่น ออฟฟิศของ Today Design บริษัทจากแดนจิงโจ้ที่ถูกออกแบบด้วยแนวคิด Zero-waste พร้อมทั้งสนับสนุนให้พนักงานสามารถทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้นผ่านการออกแบบ จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่บทความนี้

ทัวร์ออฟฟิศรักษ์โลก

ออฟฟิศแห่งนี้มีชื่อว่า “Today Design Working Space” ตั้งอยู่บนชั้น 12 ของตึกสำนักงานในย่าน Collingwood ในเมืองเมลเบิร์น เป็นผลงานการออกแบบของ สตูดิโอ Studio Edwards ที่ชูโรงด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิลที่หาซื้อได้ง่ายและสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ในอนาคต

สิ่งแรกที่เด่นเด้งเรียกสายตาเราเป็นอย่างมากคือ กำแพงหรือผนังกั้น Studio Edwards เลือกใช้แผ่นไม้อัด OSB (Oriented Strand Board) จุดเด่นของไม้อัดชนิดนี้คือ แข็งแรง ทนทาน กันความชื้นได้ดี ทนต่อเชื้อรา และไม้ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว

ผนังไม้อัด OSB Cr. Peter Bennetts

เฟอร์นิเจอร์เช่น โต๊ะ ทำจากเสานั่งร้าน (Scaffolding) และแผ่นไม้อัด OSB ที่ผนังในห้องประชุมยังบุผ้าเดนิมรีไซเคิลเพื่อช่วยควบคุมเสียงไม่ให้ดังเกินไป

Ben Edwards สถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้ง Studio Edwards กล่าวว่า เป้าหมายของการสร้างที่ทำงาน (workspace) แห่งนี้คือ สร้างและออกแบบบนพื้นฐานแนวคิดลดขยะเป็นศูนย์ (zero-waste) ด้วยการใช้วัสดุที่หาได้ง่าย และต้องไม่เคลือบสีหรือสารใด ๆ เพื่อให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ในอนาคต

อีกหนึ่งจุดเด่นของออฟฟิศแบบ zero-waste ที่ Studio Edwards ออกแบบคือ “ความยืดหยุ่น” ในความหมายคือ ในแต่ละโซนจะถูกจัดไว้ชัดเจนว่าใช้เพื่ออะไรเช่น พื้นที่ทำงานส่วนบุคคล การทำงานร่วมกัน ห้องประชุม ซึ่งทั้งหมด สามารถจัดเรียงใหม่ได้เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต

แต่ละโซนถูกจัดไว้ตามฟังก์ชั่นการใช้งาน และปรับเปลี่ยนได้ Cr. Peter Bennetts

เหตุที่สามารถทำเช่นนั้นก็เพราะว่า ผนัง โต๊ะ และเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น ถูกติดตั้งล้อเลื่อนเอาไว้เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย ลืมแจ้งว่า ออฟฟิศ Today Design มีพื้นที่ทั้งหมด 900 ตารางเมตร

แบบออฟฟิศ Today Design

ที่บริเวณทางเดิน จะมีเก้าอี้นั่งพักติดไว้กับผนังไม้ OSB ซึ่งเก้าอี้เหล่านี้ทำจากผ้าเดนิมแทนที่จะเป็นเบาะผ้าหรือหนังทั่วไป ซึ่งหมายความว่ามันง่ายต่อการรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น

หากสังเกต ออฟฟิศแห่งนี้จะแทรกสีฟ้าไว้อยู่ตลอด เหตุผลเบื้องต้นที่ Studio Edwards เลือกใช้สีฟ้าเป็นสีหลักก็คือ เพื่อตัดกับสีเอิร์ธโทนของไม้และเฟอร์นิเจอร์ในออฟฟิศ ซึ่งสีฟ้าส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่ทำจากผ้าเดนิม

เบาะเก้าอี้ทำจากผ้าเดนิม Cr. Peter Bennetts

ออกแบบออฟฟิศให้ตอบโจทย์การทำงานและตอบโจทย์ความยั่งยืน

Studio Edwards ไถ่ถามถึงความต้องการของ Today Design ว่าต้องการออฟฟิศในลักษณะไหน ไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่ของพนักงานเป็นอย่างไร แล้วสรุปออกมาเป็นข้อ ๆ จนได้บทสรุปว่า ต้องการมีออฟฟิศทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้ (ในเชิงพื้นที่)

ด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ (คัสตอมใหม่) หลาย ๆ ชิ้น อาทิ โต๊ะแบบทูโทน ที่มีกล่องใส่อุปกรณ์ ปากกา โน้ต อยู่ตรงกลาง รวมถึงโต๊ะในห้องครัว ที่มีแสงไฟพาดอยู่บนโต๊ะในความเข้มข้นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสายตา

โต๊ะในห้องครัว Cr. Peter Bennetts

“ทุกวันนี้ workspace ถือเป็นเครื่องพิสูจน์เลนว่า การออกแบบที่ยั่งยืนสามารถตอบโจทย์การทำงานได้หรือไม่ ความคิดสร้างสรรค์จำเป็นต้องไปได้ดีกับสิ่งแวดล้อมด้วย” Edwards กล่าว

แจก Tips สร้าง zero-waste ในที่ทำงานแบบทำตามได้ง่าย ๆ

อย่างที่เกริ่นไปในช่วงต้นว่า แม้ไอเดียจะฟังดูดี แต่ในแง่ปฏิบัติจริงแล้ว มันต้องเป็นไอเดียของผู้บริหาร ที่ต้องวางแนวทางชัดเจนว่า จะนำบริษัทไปทางไหน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหากบริษัทเลือกไปดูแลด้านอื่น ๆ ก่อน ดังนั้น Spring จึงนำวิธีที่คุณสามารถปฏิบัติตามได้ง่าย ๆ ในระดับปัจเจก

ภาพใหญ่ของการสร้าง zero-waste ที่เราแนะนำคือ ให้ใช้แนวคิด “5 R

  • Refuse บอกปฏิเสธกับสิ่งที่คุณไม่อยากได้จริง ๆ
  • Reduce ลดปริมาณสิ่งที่อยากได้ลง
  • Reuse ให้ลองใช้ซ้ำก่อนทิ้งลงถังขยะ
  • Recycle นำของที่ใช้ซ้ำไม่ได้ ไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล
  • Rot อะไรหมักได้หมัก เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ต่อพืชพรรณ

เพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น เราแจกแจงออกมาเป็นวิธีปฏิบัติดังนี้

  • เปลี่ยนสิ่งของที่ใช้ได้ครั้งเดียวให้เป็นแบบที่ใช้ซ้ำได้ อาทิ หลอด แก้ว จาน หรือกระดาษ
  • จัดการประชุมผ่านทางออนไลน์ แทนที่จะเดินทางมาเจอกัน
  • จัดตั้งรางวัลในที่ทำงานในการสร้าง zero-waste เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน
  • ให้ความสำคัญกับขยะ พินิจดูว่าสามารถใช้ซ้ำ หรือบริจาคได้หรือไม่
  • ติดตั้งถังขยะสำหรับขยะหลาย ๆ ประเภท
  • อย่ากลัวที่จะปฏิเสธ
  • ไม่ใช้ขวดน้ำแบบครั้งเดียวทิ้ง
  • อย่าตามเทรนด์เช่น “ของมันต้องมี”

 

 

 

ที่มา: Dezeen

        Wallpaper

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related