เปิด 8 แนวทางการดำเนินงานสำหรับองค์กรในการมุ่งสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero จากคำแนะนำขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO
เมื่อแนวคิด Net Zero กลายเป็นกระแสหลักและถูกหยิบยกมาพูดในวงกว้าง จากการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เกิดแรงผลักดันให้การนำเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์มาใช้ภายในองค์กรต่างๆ อย่างแพร่หลาย เป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
"Net Zero" คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต หรือตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ
ปัจจุบันองค์กรภาคเอกชนได้ให้ความสำคัญในการจัดการกับความเสี่ยงและช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ ด้วยการปรับกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อจะไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ไปพร้อมกับการสร้างโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
การดำเนินงานที่ท้าทายนี้ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งสัญญาณว่าองค์กรภาคเอกชนมีอำนาจในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าในการแข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมากเพียงใด และถือเป็นบทบาทสำคัญถึงการแสดงความรับผิดชอบที่มีต่อโลกใบนี้ ซึ่งส่งผลให้มีการตั้งเป้าหมาย Net Zero ในระดับองค์กรกันมากมาย
แต่หลายองค์กรก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มดำเนินการอย่างไร ดังนั้น TGO ขอแนะนำแนวทางการดำเนินงานขององค์กร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ขององค์กร โดยต้องเริ่มจาก 8 ขั้นตอนหลัก ดังนี้
1. การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานหรือกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะช่วยให้องค์กรเข้าใจบริบทและสามารถระบุกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญขององค์กร นำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การกำหนดความมุ่งมั่นในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เป็นการตั้งเป้าหมายในระยะยาวในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีแนวทางสำคัญ คือ การกำหนดให้สอดคล้องหรือดีกว่า เป้าหมายที่ประเทศกำหนด เป้าหมายในระดับสากล หรือเป้าหมายของคู่แข่งในอุตสาหกรรมนั้น รวมถึงความต้องการของคู่ค้า
3. การประเมินความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในการประเมินความเสี่ยงขององค์กรจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะครอบคลุมความเสี่ยงด้านกายภาพ (Physical risks) และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risks) เพื่อให้เข้าใจระดับของความเสี่ยงของธุรกิจ รวมถึงแนวโน้มในการเกิดความเสี่ยง
แล้วนำมาประเมินผลกระทบทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ สำหรับการประเมินโอกาสจะระบุและประเมินโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่มีการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ
ผลจากการประเมินความเสี่ยงและโอกาสจะนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยงและกลยุทธ์ในการลงทุนที่เหมาะสมกับบริษัทมากยิ่งขึ้น
4. การตั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว
โดยวิธีการกำหนดเป้าหมายอาจเป็นไปตามวิธีการที่เป็นสากล ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Science-Based Target : SBT) ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายเพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส
และมุ่งสู่การจำกัดอุณหภูมิฯ ไว้ให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส สอดคล้องตามความตกลงปารีสหรืออาจกำหนดเป้าหมายด้วยวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมกับบริบทและศักยภาพขององค์กร
5. การวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
เป็นการระบุมาตรการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จัดทำขึ้นเป็นกลยุทธ์ในการลดก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization Strategy)
6. การกำหนดแผนการดำเนินงานโดยละเอียด
เป็นการแปลงกลยุทธ์สู่แผนการดำเนินการโดยละเอียด กำหนดทรัพยากรที่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินลงทุน และช่วงเวลาในการดำเนินงานที่เหมาะสม
ในการวางแผนการดำเนินงานโดยละเอียดอาจมีการนำเครื่องมือต่างๆ มาช่วยเช่นการประยุกต์ใช้การกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing : ICP)
7. การดำเนินการตามแผน ติดตามและประเมินผล
เป็นการลงมือปฏิบัติตาม แผนที่ได้วางไว้ มีการกำหนดแผนการติดตามและประเมินผลที่ชัดเจน สามารถดำเนินการติดตามผลเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้ การประเมินผลสำเร็จของแผน ปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน นำไปสู่ผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการปรับปรุงแผนให้เหมาะสมมากขึ้นในอนาคต
8. การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
ปัจจุบันนักลงทุน คู่ค้า ลูกค้า รวมถึงพนักงานในองค์กรหันมาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น
เมื่อองค์กรได้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วก็สามารถเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินการต่อสาธารณะ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นและความโปร่งในการดำเนินงาน
โดยปัจจุบันมีข้อกำหนดหรือมาตรฐานในการรายงานหรือการเปิดเผยข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสาธารณะ อาทิ รายงานตามแบบ 56-1 One Report การเปิดเผยข้อมูลตามคำแนะนำของ Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) และ Carbon Disclosure Project (CDP) เป็นต้น
หากองค์กรใดสนใจศึกษา 8 ขั้นตอนอย่างละเอียดสามารถดาวน์โหลดคู่มือการดำเนินงานสู้เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Journey Guideline Version 2023) ได้ที่ https://carbonmarket.tgo.or.th/
ที่มาข้อมูล: https://carbonmarket.tgo.or.th/tools/files.php?mod=aWNwX2Rvd25sb2Fk&type=X0ZJTEVT&files=Nw==
เนื้อหาที่น่าสนใจ