svasdssvasds

เผยเทคโนโลยีกู้โลก เปลี่ยนคาร์บอนตัวการโลกร้อน ให้เป็นปะการังเทียม

เผยเทคโนโลยีกู้โลก เปลี่ยนคาร์บอนตัวการโลกร้อน ให้เป็นปะการังเทียม

กรมประมงผนึกกำลัง ปตท.สผ. ร่วมศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหินแร่ในปะการังเทียม เพื่อสร้างสมดุลทรัพยากรประมง และช่วยลดสภาวะโลกร้อน

คาร์บอนไดออกไซด์ ถือเป็น ก๊าซเรือนกระจกสำคัญตัวหนึ่งที่เป็นต้นเหตุให้เกิดสภาวะโลกร้อน ดังนั้นการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ จึงเป็นภารกิจสำคัญสองประการ ที่ประชาคมโลกต่างมุ่งดำเนินการ เพื่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุด ได้มีนวัตกรรมใหม่นำโดย กรมประมง และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่นำการศึกษาวิจัยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหินแร่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปะการังเทียม และนำไปใช้เพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเล

โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมุ่งที่จะเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ก่อให้เกิดโลกร้อน นำมาเปลี่ยนให้เป็นแคลเซียมคาร์บอเนต หรือหินปูน ซึ่งแร่ธาตุลักษณะเดียวกับปะการังธรรมชาติ เพื่อนำมาประยุกต์และจัดสร้างเป็นปะการังเทียม ที่มีความแข็งแรงและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม น็น

“เทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังช่วยในการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล เพิ่มพื้นที่แหล่งปะการังซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลอีกด้วย” มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าว

กรมประมง และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ลงนามร่วมกันในโครงการศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหินแร่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปะการังเทียม

นอกจากความร่วมมือในโครงการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหินแร่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปะการังเทียมครั้งนี้แล้ว มนตรี กล่าวว่า ปตท.สผ.  ยังพัฒนาโครงการและกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย โดยเฉพาะเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเริ่มที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ในอ่าวไทย โดยจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก

ด้าน เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยในส่วนของการฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเล ได้ดำเนินโครงการจัดสร้างปะการังเทียมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เลี้ยงตัว วางไข่ และหลบภัยของสัตว์น้ำ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเล รวมทั้งเป็นการพัฒนาแหล่งทำการประมงพื้นบ้าน ทำให้ชาวประมงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โดยเทคโนโลยีการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้กลายเป็นหินปูนสำหรับทำปะการังเทียม นอกจากจะช่วยพัฒนาแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ยังสามารถช่วยดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นตัวการสภาวะโลกร้อน นำมาใช้ประโยชน์ เป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยป้องกันแก้ไขวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related