ปัจจุบันความต้องการเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลมีแนวโน้มที่ดีมากขึ้นและมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการนำวัสดุที่เหลือจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอมารีไซเคิล เป็นการลดขยะ ของเสีย และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตเสื้อผ้า
ตอนนี้หลายภาคส่วนได้หันมาใช้ วัสดุสิ่งทอรีไซเคิล (Textile recycling) ในการผลิตเสื้อผ้ามากขึ้น สาเหตุมาจากการผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าแบบเดิมๆ ส่งผลเสียและปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม โดยการผลิตสิ่งทอทั้งโลกมีการใช้น้ำมากถึง 9.3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอปล่อยน้ำเสีย 20% ของการปล่อยน้ำเสียทั่วโลก
นอกจากนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 1.7 พันล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 8-10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางทะเลรวมกันเสียอีก
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้มีการติดตามแนวโน้มความต้องการเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิล (Textile recycling) ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค โดยวัสดุที่นำมารีไซเคิลเป็นวัสดุสิ่งทอรีไซเคิล มีทั้งสิ่งทอก่อนการใช้งาน (Pre-consumer) เช่น เศษด้ายหรือผ้าเหลือที่ใช้ในโรงงาน รวมถึงสิ่งทอหลังการใช้งาน (Post-consumer) เช่น เสื้อผ้าเก่าและของใช้ในบ้าน สำหรับตลาดเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลของโลกมีมูลค่าประมาณ 5.8 ล้านดอลลาร์ ในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2575 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 10.7% ต่อปี
ในอนาคตหากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ใช้วัสดุสิ่งทอรีไซเคิลมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาเลือกใช้เสื้อผ้ารักษ์โลกหรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลมากขึ้น แนวคิดนี้อาจจะช่วยลดการก่อมลพิษจากการผลิตเสื้อผ้าและลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ