เรารู้จักกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมากขึ้น ซึ่งเป็นที่สนใจของภาคธุรกิจและประชาชน ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมามีการซื้อขายกันอย่างคึกคัก แต่มาในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ลดลงเนื่องจากเป็นการซื้อขายแบบปกติ ไม่ได้เร่งกักตุน และคาดว่ากลับมาเพิ่มสูงขึ้นในเดือน พ.ย. นี้
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เผยข้อมูลเกี่ยวกับตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 พบว่า ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตลดลงประมาณ 9% และมูลค่าลดลงประมาณ 22% เนื่องจากเป็นไปในลักษณะของการซื้อขายแบบปกติ ไม่ได้เร่งกักตุนเหมือนก่อน ซึ่งคาดว่าความต้องการซื้อขายจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้
อบก. เผยว่าผลการดำเนินงานปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปี 2566 มีแนวโน้มลดลงกว่าก่อนหน้านี้ เนื่องจากปี 2566 การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นไปในลักษณะของการซื้อขายแบบปกติ สะท้อนความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตที่แท้จริงจากผู้ที่ต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้เร่งกักตุนเหมือนปี 2565
โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในด้านของ Demand และ Supply ในแต่ละเดือนนั้นขึ้นอยู่กับรอบการพิจารณารับรองการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนของคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกด้วย ซึ่งคาดว่าเมื่อสิ้นสุดรอบการรับรองในเดือนพฤศจิกายนจะส่งผลให้ความต้องการในการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียงกับปี 2565
กระแสจากการประชุม COP26 ซึ่งทำให้ประเทศไทยประกาศเป้าหมายใหม่เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งองค์กรภาคธุรกิจชั้นนำได้มีการประกาศเป้าหมาย Net Zero มากขึ้น ทำให้เกิดการซื้อกักตุนไว้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากราคายังถูก จึงทำให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปี 2565 มีปริมาณสูงนั่นเอง
ที่มา : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
เนื้อที่น่าสนใจ :