องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ยังคงเดินหน้า ขยายการสื่อสาร สร้างการรับรู้ “คาร์บอนเครดิต T-VER”
โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) และรับรองให้เกิดเป็น “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” ของประเทศไทย จัดศึกษาดูงานและกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ เพื่อให้สื่อมวลชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และสามารถสื่อสารและสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง รวมทั้ง ร่วมศึกษาดูงานการดำเนินงานโครงการคาร์บอนเครดิต ผ่านโครงการ T-VER ภาคพลังงาน และภาคป่าไม้ ทั้ง 3 โครงการ ได้แก่ โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืน ณ วัดหนองจระเข้ จังหวัดระยอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ปลื้ม 4 จังหวัด นำร่องซื้อขายคาร์บอนเครดิต ครั้งแรกในประเทศ
TGO เร่งสร้างรับรู้คาร์บอนเครดิต จากป่าไม้ สู่...เป้าหมาย NET ZERO
ซึ่งเป็นโครงการภาคป่าไม้แห่งแรกของไทยที่เข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตและสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar Power) ขนาด 12.5 MW ณ บริษัท บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโครงการ Floating Solar ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการป่านิเวศระยองวนารมย์ จีซี เอสเตท ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบของป่านิเวศ (Eco Forest) และสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ในราคาต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สูงที่สุดในประเทศไทย
ตลอดจนศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้การใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีต่างๆ ของศูนย์ฝึกศึกษาบุคลากรด้านปิโตรเลียมและพลังงานทหาร กรมการพลังงานทหาร ซึ่งจะเห็นถึงความก้าวหน้าในการใช้พลังงานทดแทนของกองทัพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจ โดยมีนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO และ ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการ TGO ร่วมให้การต้อนรับสื่อมวลชนจากหลายสาขาต่างๆ ทั้ง สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อดิจิทัล อย่างอบอุ่น
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO กล่าวว่า ด้วยจากเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งแนวทางและมาตรการลด/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของประเทศไทย คือ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้ โดยส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติและปลูกป่าเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ภาคเอกชน ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการปลูกป่า บำรุงรักษาและฟื้นฟูป่าในพื้นที่ของรัฐ เอกชน และประชาชน โดยมีเป้าหมายของประเทศในการลด/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน จำนวน 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ. 2037
โดย TGO เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality/ Net Zero GHG Emissions และการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารและสร้างการรับรู้การพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนต่างๆ โดยปัจจัยความสำเร็จเบื้องต้นที่สำคัญคือการสื่อสาร สร้างการรับรู้ ซึ่ง TGO เน้นการสื่อสารเชิงรุกผ่าน Social Media Platform ในรูปแบบต่างๆ จนทำให้เกิดการขยาย ความร่วมมือกับเครือข่ายและพันธมิตรต่างๆ
ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งในระดับท่องถิ่นและชุมชน เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมาก ภายใต้บริบทใหม่ TGO จะยกระดับการให้บริการผ่าน “TGO Service Platforms” ที่เน้นความรวดเร็ว เข้าถึงง่าย ทันสมัย และขับเคลื่อนการทำงานโดยยึด Motto ที่ว่า “Driving Ambition for Carbon Neutrality” ที่มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก โดยทำหน้าที่เป็น “Catalyst” หรือตัวเร่งสนับสนุนการยกระดับศักยภาพและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายของประเทศไทยต่อไป