svasdssvasds

วาดเป้า 10 ปี ปลูกป่าชายเลน ทะลุ 300,000 ไร่ เร่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

วาดเป้า 10 ปี ปลูกป่าชายเลน ทะลุ 300,000 ไร่ เร่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศความสำเร็จปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิต รับวันป่าชายเลนแห่งชาติ ไทยมีพื้นที่ป่าชายเลยมากขึ้น พร้อมเดินหน้าดึงประชาชนมีส่วนร่วมปลูก ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำวาดเป้า 10 ปี ปลูกป่าชายเลนทะลุ 300,000 ไร่

ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ย่อมส่งผลดีต่อระบบนิเวศทางทะเลที่ดี ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งปลูกป่าชายเลน ล่าสุดนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า ป่าชายเลนนับว่าเป็นต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหารแห่งท้องทะเล เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของมนุษย์ที่สามารถนำมารับประทานและขายเป็นรายได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันคลื่นลมจากทะเลเป็นแนวกำบังภัยธรรมชาติ ช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่งและรักษาสมดุลระบบนิเวศชายฝั่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้งยังเป็นแหล่งดูดชับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยมีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่เกิดจากการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น เกิดแผ่นดินไหว ฝนตกน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์พร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065

เดินหน้าปลูกป่าชายเลน สร้างคาร์บอนเครดิต

โดยที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการคุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู ให้คงความสมบูรณ์เพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ ซึ่งการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนนับว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากป่าชายเลนจะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญแล้ว ยังสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์อื่นๆ ให้กับประชาชนในอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงจะสามารถเสริมสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน และส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากความสำเร็จที่ผ่านมาทส. มุ่งมั่นในการเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน อาทิ โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดทำขึ้นร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) เพื่อให้ภาคเอกชนและชุมชนชายฝั่งเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกตามความสมัครใจ ปรับตัวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ตั้งเป้าหมาย 10 ปี ปลูกป่าชายเลน 300,000 ไร่ (พ.ศ. 2565-2574) โดยตนพูดได้อย่างภาคภูมิใจเลยว่า ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกคนที่ช่วยกันดูแล รักษา และฟื้นฟู จนผืนป่าชายเลนกลับคืนสภาพสมบูรณ์ในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็น“วันป่าชายเลนแห่งชาติ” 

อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลน เมื่อปัญหาเกิดจาก“มนุษย์” ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะร่วมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ สำหรับปีนี้จะมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานในท้องถิ่น ช่วยกันดูแลผืนป่าชายเลนจนทำให้จำนวนพื้นที่ป่าชายเลนในภาพรวมเพิ่มขึ้น

วาดเป้า 10 ปี ปลูกป่าชายเลน ทะลุ 300,000 ไร่ เร่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

นอกจากนี้ยังได้หาพันธมิตรภาคเอกชน และสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูและดูแลป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับป่าชายเลน คืนแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไชด์ให้กับโลก ลดความรุนแรงของปัญหาโลกร้อน และยังสามารถเข้าโครงการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่งอีกด้วย

ด้านนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผืนป่าชายเลนสมบูรณ์กว่า 1.73 ล้านไร่ ที่ควรได้รับการปกปักรักษาฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ภายใต้การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ในการสร้างรากฐานความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติและด้านเศรษฐกิจควบคู่กันไป

 

 

related