บินเจ็ทส่วนตัวคือตัวการทำลายโลก บทความวิจัยชี้ กลุ่มคนรวยล้นฟ้าที่บินเครื่องบินส่วนตัวจำนวนไม่ถึง 1% ของประชากรโลก ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า 50% ของทั้งธุรกิจอากาศยาน
ข้อมูลจากบทความวิจัยล่าสุดโดยสถาบัน Institute for Policy Studies ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เปิดเผยว่า การเดินทางโดยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวกำลังมีส่วนสำคัญที่เร่งให้สภาวะโลกร้อนรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังการระบาดของโรค Covid-19
ข้อมูลการศึกษาพบว่า เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อผู้โดยสารสูงกว่าสายการบินพาณิชย์ถึง 10 เท่า โดยการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว 1 ชั่วโมงมีอัตราการปล่อยคาร์บอนสูงถึง 2 ตันเทียบเท่า หรือราว 1 ใน 4 ของอัตราการปล่อยคาร์บอนโดยเฉลี่ยของคนทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งอยู่ที่ราว 8 ตันต่อปี
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วการบินเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าครึ่งของปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของภาคธุรกิจการบิน ดังนั้นการเดินทางโดยเครื่องบินส่วนตัวจึงเป็นวิธีการเดินทางที่สร้างมลพิษมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม จากภาพลักษณ์โก้หรูมีระดับเมื่อเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ทำให้เหล่าอภิมหาเศรษฐีทั่วโลกหันมาครอบครองและเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวกันมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังการระบาดของโรค Covid-19 ซึ่งทำให้อัตราการปลดปล่อยมลพิษจากภาคเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวเพิ่มขึ้นกว่า 23%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อลาสกา มีแผนแจกตั๋วเครื่องบินไปไม่กลับฟรีให้กับไร้บ้าน เพื่อลี้ภัยหนาว
รายงานศึกษายังเจาะลงไปอีกว่า กลุ่มคนรวยที่ครอบครองเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวเหล่านี้ เป็นกลุ่มคนรวยระดับยอดสุดของสังคม ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินเฉลี่ยอยู่ที่ 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.6 พันล้านบาท โดยสัดส่วนของประชากรกลุ่มนี้คิดเป็นเพียง 0.0008% ของประชากรทั้งโลกเท่านั้น
กลุ่มคนรวยเหล่านี้มักใช้เครื่องบินส่วนตัวเป็นประจำในการเดินทาง โดยส่วนมากจะเป็นการเดินทางระยะไม่ไกล เฉลี่ยไม่เกิน 500 กิโลเมตร เพียงเพื่อประหยัดเวลาและความสะดวกสบาย
หนึ่งในหมู่อภิมหาเศรษฐีที่มีวิถีชีวิตฟุ่มเฟือยเช่นนี้ได้แก่ อีลอน มัสก์ ผู้ซึ่งครอบครองเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวรุ่น Gulfstream G650ER และใช้เครื่องบินโดยสารส่วนตัวในการเดินทางเกือบแทบทุกวัน โดยข้อมูลจากรายงานของสถาบัน Institute for Policy Studies ประเมินว่า ในปี 2565 อีลอนได้ก่อมลพิษจากการเดินทางสูงถึง 2,112 ตันคาร์บอนเทียบเท่า หรือคิดเป็น 132 เท่าของอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบุคคลทั่วไปในอเมริกาปลดปล่อยทั้งปี
งานวิจัยโดยกรีนพีซ ยังพบว่า ขณะที่กลุ่มคนร่ำรวยสามารถมีวิถีชีวิตการเดินทางที่ก่อมลพิษสูง เพียงเพื่อประหยัดเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ในขณะเดียวกันทั่วโลกมีประชาชนกว่า 80% ที่ไม่เคยใช้เครื่องบินเลยด้วยซ้ำ แต่กลับต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้งานวิจัยอีกชิ้นจาก อ็อกแฟม (Oxfam) เผยว่า ผลพวงจากสภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นจากการที่กลุ่มคนเพียงเล็กน้อยยังคงปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ยังทำให้ประชากรกว่า 20 ล้านคนทั่วโลก ต้องได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วทุกๆ ปี จากทั้งการที่ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหรือเสียชีวิตจากภัยแล้งและน้ำท่วมจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น
คลารา มาเรีย เชงค์ (Klara Maria Schenk) นักรณรงค์ในโครงการ Mobility for All กรีนพีซ กล่าวว่า ยานพาหนะชนิดนี้มีประชากรเพียงไม่ถึง 1% เท่านั้นที่เข้าถึงและได้ใช้ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษมากกว่าประชากรที่เหลือ นี่จึงกลายเป็นความไม่เป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ
ล่าสุด วันนี้ (22 สิงหาคม 2566) กรีนพีซประเทศไทย ได้โพสต์ผ่านเพจทางการของกลุ่มว่า “โลกนี้มีคนกว่า 80% ที่ไม่เคยขึ้นเครื่องบินเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่กลับต้องรับภาระและผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศไปเต็ม ๆ เครื่องบินส่วนตัวคือสิทธิพิเศษขั้นสูงสุดในการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมที่มีแต่คนมหารวยเท่านั้นที่จะมีสิทธินี้ และบางครั้งพวกเขาใช้บินแค่ไม่ถึง 10 นาทีด้วยซ้ำ”
“ในขณะที่เรากำลังเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และบ้านของผู้คนกำลังร้อนขึ้นทุกวัน แต่คนรวยบางกลุ่มกลับเลือกที่จะเลือกตากแอร์เย็น ๆ และจิบแชมเปญในเครื่องบินส่วนตัวของพวกเขา”
“ทางออกในการยุติเรื่องนี้ คือต้องแบนเครื่องบินส่วนตัวและทวงคืน #ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เท่านั้น!”