svasdssvasds

มองไฟป่าฮาวาย แล้วย้อนมาดูตัว ไทยพร้อมไหมรับมือภัยโลกร้อน

มองไฟป่าฮาวาย แล้วย้อนมาดูตัว ไทยพร้อมไหมรับมือภัยโลกร้อน

แม้ว่าฮาวายจะมีระบบเตือนภัยธรรมชาติก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่จากโศกนาฎกรรมไฟป่าเผาวอดเมือง Lahaina ชี้ว่า แม้แต่ระบบเตือนภัยที่ล้ำหน้ายังตามภัยพิบัติโลกร้อนไม่ทัน

ไฟป่าฮาวาย

จากเหตุไฟป่าเผาเมือง Lahaina บนเกาะ Maui ในมลรัฐฮาวาย ที่ต้องประสบกับไฟป่าโหมรุนแรงจนเป็นผลให้ทั้งเมืองถูกไฟเผาวอด คร่าชีวิตคนไปมากกว่า 111 ชีวิต หนึ่งในข้อกังขาที่หลายคนต่างตั้งคำถามภายหลังเกิดเหตุ นั่นก็คือ ทำไมจึงไม่มีการเตือนภัยแก่ประชาชนในเมือง Lahaina อย่างทันท่วงที จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมไฟป่าที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เฮอร์แมน อันดายา ผู้บริหารหน่วยงานจัดการเหตุฉุกเฉินเมาวี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขาไม่เสียใจเลยที่ไม่ใช้ไซเรน เนื่องจากไซเรนส่วนใหญ่จะใช้เพื่อเตือนเมื่อคลื่นสึนามิเข้าใกล้เกาะ และหากพวกเขาเปิดสัญญาณไซเรน ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากคงจะไปที่เชิงเขา ซึ่งเป็นจุดที่เกิดไฟไหม้รุนแรงที่สุด

ไฟป่าเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา เผาเมือง Lahaina เมืองหลวงเก่าของฮาวายจนวอดเกือบทั้งเมือง  ที่มาภาพ: รอยเตอร์

อันดายา กล่าวเสริมว่า ระเบียบปฏิบัติสำหรับเหตุเพลิงไหม้คือการส่งประกาศผ่านข้อความ ข้อความเสียง และโทรศัพท์บ้าน และการแจ้งเตือนไปผ่านโทรทัศน์และวิทยุ อย่างไรก็ตามไฟได้ทำลายเครือข่ายการสื่อสารอย่างรวดเร็ว จนระบบการแจ้งเตือนนี้ไม่สามารถทำงานได้

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการด้านการจัดการทรัพยากรชุมชนและการจัดการภัยพิบัติ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า จากปัญหาการเตือนภัยไฟป่าที่ฮาวายมีเหตุมาจากระบบเตือนภัยทั้งสองระบบไม่สามารถรองรับสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นได้ เห็นได้จากระบบเตือนภัยสึนามิไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เตือนภัยไฟป่า และระบบแจ้งเตือนอันตรายผ่านระบบสื่อสารก็ล่มอย่างรวดเร็วจากไฟที่ลุกลาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ฮาวายถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีระบบเตือนภัยก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะการเตือนภัยสึนามิ โดยบนเกาะ Maui มีหอไซเรนเตือนภัยสึนามิถึง 80 แห่ง อย่างไรก็ตามระบบเตือนภัยสึนามิไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการเตือนภัยไฟป่า ดังจะเห็นว่าไฟป่าลามมาจากเนินเขาลงมาหาเมืองที่ตั้งอยู่ชายทะเล ดังนั้นหากเปิดไซเรน ผู้คนอาจนึกว่าเป็นการเตือนภัยสึนามิและหนีขึ้นที่สูงซึ่งเป็นจุดอันตรายจากไฟป่าได้” ไชยณรงค์ กล่าว

เขายังกล่าวว่า เหตุไฟป่าครั้งนี้ ถือเป็นอุบัติภัยในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะไฟป่าถูกลมกรรโชกที่เกิดจากพายุเฮอร์ริเคนที่ไกลออกไปโหม จนลุกลามอย่างรวดเร็วถึงกว่า 1.6 กิโลเมตรต่อนาที ชี้ให้เห็นว่า แม้ฮาวายจะมีระบบการเตือนภัยที่ดีอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ยังตามไม่ทันภัยพิบัติใหม่ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

หันมามองไทย

ไชยณรงค์ กล่าวว่า จากบทเรียนความล้มเหลวในการเตือนภัยไฟป่าที่มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ยิ่งทำให้เห็นว่าประเทศไทยซึ่งมีระบบการจัดการและการเตือนภัยพิบัติที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าสหรัฐ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดภัยร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนจากผลพวงสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน หากเราไม่มีการเตรียมการรับมือและปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติให้สอดรับกับรูปแบบภัยธรรมชาติที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น

แม่น้ำป่าสักไหลทะลักเข้าท่วม วัดสะตือพุทธไสยาสน์ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา จากผลการระบายน้ำเขื่อนพระรามหก เมื่อเดือนตุลาคม 2565

เขากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการไทยยังคงล้มเหลวในการแจ้งเตือนและจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยจากน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ดังจะเห็นได้ว่า แม้ว่าหน่วยงานราชการจะมีสถานีตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำและปริมาณฝน หากแต่ข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้เปิดต่อสาธารณะในวงกว้าง หรือนำมาใช้วิเคราะห์และแจ้งเตือนภัยพิบัติอย่างทันท่วงทีแก่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม

“ระบบการเตือนภัยพิบัติของเราเหมือนกับว่าสักแต่เพียงว่ามี แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบว่าระบบใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือมีการบำรุงรักษาอยู่เป็นระยะเพื่อให้ระบบใช้งานได้อย่างเหมาะสม ดังจะเห็นได้จากหอเตือนภัยสึนามิในแถบจังหวัดริมฝั่งทะเลอันดามัน ที่หลายๆ แห่งไม่ได้รับการดูแลรักษานับตั้งแต่มีการติดตั้งมาเกือบ 20 ปี จนขณะนี้หลายแห่งชำรุดทรุดโทรม” ไชยณรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำโดยรัฐ เช่น การปล่อยระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ ก็มักดำเนินการโดยปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน หรือแม้กระทั่งมีการแจ้งเตือนประชาชนท้ายน้ำอย่างทันท่วงที ทำให้หลายๆ ครั้ง พบว่า หลายชุมชนท้ายเขื่อนต้องประสบอุทกภัยจากการปล่อยน้ำของเขื่อน อย่างเช่น เหตุน้ำท่วมขอนแก่นเมื่อปี 2565 ภายหลังเขื่อนอุบลรัตน์ ปล่อยระบายน้ำออกมาเป็นจำนวนมาก

น้ำท่วมสูงในเขตจ.สกลนคร จากเหตุเขื่อนห้วยทรายขมิ้นแตก เมื่อปี 2560

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังได้วิพากษ์การจัดการดูแลเขื่อนขนาดเล็กทั่วประเทศ ภายหลังกรมชลประทานได้ถ่ายโอนเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กให้อยู่ภายใต้ความดูแลของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกล่าวว่า บ่อยครั้งจะพบว่า หน่วยงานท้องถิ่นไม่มีศักยภาพเพียงพอในการดูแลจัดการและบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเหล่านี้ จนทำให้เมื่อเกิดเหตุพายุ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเหล่านี้มักไม่สามารถรับมือกับปริมาณน้ำที่หลากเข้าอ่างเก็บน้ำได้ จนทำให้เกิดเหตุอ่างแตก น้ำท่วมฉับพลัน สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนท้ายน้ำอย่างมหาศาล ดังเช่น เหตุอ่างเก็บน้ำมรสวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่พบว่ารั่วแตกถึงสองครั้งสองครา จนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในเมืองบางสะพาน

 

เตรียมพร้อมรับมือภัยโลกร้อน

จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ที่เห็นได้ว่าภัยพิบัติอันเนื่องมาจากสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้วจากสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดบ่อยครั้งขึ้น และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก ไชยณรงค์ ชี้ว่า ประเทศไทยก็จะเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบภัยธรรมชาติเหล่านี้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งปรับปรุงยกระดับระบบการเตือนภัยพิบัติของประเทศไทยให้สอดรับกับภัยธรรมชาติที่จะมีมากขึ้นและรุนแรงขึ้น

“เรายังไม่มีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ ไม่มีแผนเผชิญเหตุสิ่งแวดล้อม และแม้ว่าในขณะนี้เราจะมีแผนรับมือภัยพิบัติในระดับจังหวัดแล้วก็ตาม แต่แผนเหล่านี้ยังคงรวมศูนย์อยู่ที่หน่วยงานราชการเป็นหลัก และหลายๆ แห่ง ยังไม่ตอบโจทย์การจัดการรับมือภัยพิบัติในท้องถิ่น” ไชยณรงค์ กล่าว

“ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานราชการเองยังไม่ประสานงานกันในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ดังจะเห็นจากหลายๆ ครั้งที่หน่วยงานรัฐทำงานขัดแย้งกันเอง จนทำให้การจัดการภัยพิบัติไม่มีประสิทธิภาพ

น้ำท่วมในหมู่บ้านชลเทพถนนเทพารักษ์ ต.บางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ ภายหลังเกิดฝนตกหนัก

เขากล่าวย้ำว่า ความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ยิ่งจะหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐต้องเร่งปรับและพัฒนาระบบการรับมือและเตือนภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน โดยจำเป็นจะต้องกระจายอำนาจในการจัดการภัยพิบัติไปยังท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นได้ออกแบบแผนเผชิญเหตุภัยพิบัติที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตน และจะต้องเปิดกว้างให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติ

“ที่ผ่านมา ภาคประชาชนในหลายพื้นที่ได้ริเริ่มสร้างระบบการจัดการภัยพิบัติในชุมชน แต่ก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากร ไม่มีการประสานงานร่วมกัน ดังนั้นภาครัฐจึงมีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพให้ชุมชนเหล่านี้สามารถรับมือและจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งเสริมให้การเตรียมการรับมือภัยพิบัติในภาพรวมมีความเข้มแข็งมากพอจะรับความเสี่ยงภัยพิบัติจากสภาวะโลกร้อนในอนาคต” ไชยณรงค์ กล่าว

related