เมื่อพูดถึงสภาวะโลกร้อน หนึ่งในสิ่งที่คนทั่วไปมักนึกถึงคู่กันนั่นก็คือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ที่อาจส่งผลให้บรรดาเมืองใหญ่ตามพื้นที่ราบต่ำริมชายฝั่งทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานคร ต้องจมอยู่ใต้ทะเลในอนาคต
แม้ว่าความเสี่ยงที่กรุงเทพฯ จะจมทะเลกลายเป็นเมืองใต้สมุทร หากระดับน้ำทะเลยังคงไต่ระดับขึ้นสูง จะเป็นเรื่องที่รับรู้โดยทั่วไปในสังคมสาธารณะ แต่สำหรับคนกรุงทั่วไป หลายๆ คน อาจจะยังมองว่าปัญหาดังกล่าวยังไกลตัว ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าที่จำเป็นต้องให้ความสนใจเร่งด่วน อีกทั้งอาจจะยังมองไม่เห็นภาพว่าภัยพิบัติที่รออยู่ในอนาคตจะเป็นเช่นไร
โลกร้อนทำน้ำทะเลรุก
เนื่องด้วยสภาวะภูมิอากาศโลกในช่วงเดือนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า สภาวะโลกร้อนกำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนทำให้แวดวงนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันชั้นนำทั่วโลก ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เรากำลังเผชิญกับห้วงเวลาที่โลกร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ อันเห็นได้จากอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ทะยานขึ้นถึง 16.95 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุด นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติ
นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมา ยังสูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.5 องศา ถึงกว่า 16 วัน ถือเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะโลกได้ร้อนจนทะลุเพดานควบคุมอุณหภูมิโลกตามความตกลงปารีสแล้ว
ผลพวงจากสภาพอากาศโลกที่ร้อนสุดขั้ว ประจวบกับปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังแรงในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้เกือบทุกพื้นที่ในซีกโลกเหนือต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงและภัยแล้ง ทั้งยังเร่งให้เกิดไฟป่ารุนแรงทั้งในยุโรป แอฟริกาเหนือ และแคนาดา สร้างความเสียหายโดยตรงไม่เพียงต่อระบบนิเวศและธรรมชาติ แต่รวมไปถึง สุขภาวะและสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์
นี่ล้วนเป็นเพียงฉากหน้าของมหาวิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นเท่านั้น เพราะปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อนกำลังก่อตัวในทะเล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ยุคที่โลกเดือด" คลื่นความร้อนปกคลุมระอุทั่วโลก อุณหภูมิสูงทำผลกระทบหนัก
อุณหภูมิโลกทะยานทะลุ 1.5 องศา ส่งเดือนกรกฎา 66 ร้อนสุดในรอบแสนปี
ด้วยอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้พืดน้ำแข็งขั้วโลกทั้งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ รวมไปถึงธารน้ำแข็งบนเทือกเขาสูง ละลายอย่างรวดเร็ว ทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลละลายลงทะเล และยกระดับน้ำทะเลทั่วโลกให้เพิ่มสูงขึ้น ยี่งไปกว่านั้นมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น ยังทำให้น้ำทะเลขยายตัว เร่งให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก โดยข้อมูลจาก องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA) เผยว่า สภาวะโลกร้อนได้ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแล้วกว่า 21 – 24 เซนติเมตร และยังคงไต่ระดับสูงขึ้นราว 1.3 – 3.7 มิลลิเมตรต่อปี
ข้อมูลจากรายงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ชี้ว่า จากอัตราการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่ทะยานสูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อน ทำให้อัตราการเพิ่มของระดับน้ำทะเลเร่งสูงขึ้นตามกัน โดยพบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในปัจจุบันถือว่าสูงที่สุดในรอบ 3,000 ปี รายงานของ IPCC ยังคาดการณ์ว่า หากมนุษยชาติไม่เร่งแก้โลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระดับน้ำทะเลทั่วโลกอาจเพิ่มสูงถึง 2 เมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้ และอาจถีบตัวถึง 5 เมตรภายในระยะเวลา 100 ปีข้างหน้า
ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบต่ำปากน้ำเจ้าพระยา มีความสูงเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เมืองหลวงของเรารวมถึงจังหวัดปริมณฑลจะต้องจมอยู่ใต้น้ำภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า
ฉากทัศน์ข้างหน้า
จากข้อเขียนของ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ดร.เสรี ได้ชี้ว่า ความเสี่ยงน้ำท่วมของกรุงเทพฯ มาจากสามแหล่งด้วยกันได้แก่ น้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน ดังจะเห็นได้ว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ในอดีตที่ผ่านมา หากไม่ใช่เพราะฝนตกหนักจนน้ำท่วมขัง ก็จะเป็นภัยน้ำท่วมใหญ่จากน้ำเหนือ ดังที่เราเคยประสบเมื่อคราวน้ำท่วมปี 2554 ในขณะที่น้ำทะเลหนุนมักจะเป็นปัจจัยเสริม ที่ทำให้น้ำท่วมจากน้ำฝนหรือน้ำเหนือรุนแรงขื้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะเริ่มสังเกตได้ว่า น้ำทะเลหนุนกำลังเริ่มกลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะในพื้นที่ราบต่ำริมชายฝั่งเช่น เชตบางขุนเทียน ปากน้ำสมุทรปราการ หรือชายทะเลมหาชัย น้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนมักเกิดขึ้นช่วงที่น้ำขึ้นมาก และจะลดลงไปเป็นปกติเมื่อถึงเวลาน้ำลง ดังนั้นน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนจึงไม่เป็นที่สนใจของสังคมวงกว้างนัก
แต่จากการที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับคนท้องถิ่นตลอดแนวชายฝั่งอ่าวตัว ก. ชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าน้ำท่วมจากน้ำหนุนได้เกิดบ่อยขึ้น และเวลาน้ำขึ้นก็มักจะพบว่าน้ำมามากกว่าที่เคยเห็นเมื่อสมัยอดีต น้ำท่วมช่วงน้ำขึ้นมากๆ จากเดิมเคยเกิดแค่ละปีละครั้ง กลายเป็นท่วมแทบทุกครั้งเวลาน้ำขึ้น เช่นเดียวกับคลื่นลมและพายุในทะเลที่แรงขึ้น จนซัดพื้นที่ชายฝั่งให้ร่นหายจมทะเลเรื่อยๆ ทุกปี
จากแนววิถีที่สภาพภูมิอากาศโลกกำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนคาดการณ์ว่ากรุงเทพฯ อาจต้องประสบนั่นคือ ในพื้นที่ราบต่ำใกล้ฝั่ง น้ำท่วมจะเกิดขึ้นทุกครั้งในช่วงน้ำขึ้น จนกลายเป็นกิจวัตร พายุและคลื่นซัดฝั่งจะค่อยๆ กัดกินพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆ กลืนกินบ้านเรือน ถนน หรือทั้งชุมชนให้หายไปกับทะเล ชุมชนริมฝั่งที่ต้องเผชิญกับภาวะเช่นนี้ ต้องทนกับความยากลำบากในการดำรงชีพมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ต้องย้ายถิ่นฐาน
ในขณะที่ทะเลกำลังค่อยๆ รุกเข้ามา เขตตัวเมืองชั้นในก็จะประสบกับน้ำท่วมบ่อยและหนักขึ้นเช่นกัน สภาวะโลกร้อนจะทำให้ฤดูกาลแปรปรวน สภาพอากาศแปรเปลี่ยนแบบสุดขั้วสลับไปมา ในปีที่ฝนมาก ฝนก็จะหนักจนเกิดน้ำเหนือไหลหลากอย่างเช่นปี 54 ยิ่งเสริมกับอิทธิพลน้ำทะเลหนุน น้ำท่วมจะยิ่งขึ้นสูงและขึ้นนาน ในขณะที่ปีที่แล้งก็จะแล้งหนักมาก จนแม่น้ำมีน้ำน้อยไม่พอดันน้ำทะเล ทำให้น้ำเค็มรุกคืบเข้าตามลำน้ำ สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตร กระทบต่อการทำน้ำประปา
ทะเลที่ร้อนขึ้น ยังหมายถึงพายุที่รุนแรงขึ้นและเกิดถี่ขึ้นเช่นกัน ในอดีตที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ยังไม่เคยเจอพายุที่พัดเข้าใส่ตรงๆ แต่ในอนาคตที่สภาพอากาศโลกแปรปรวนยิ่งขึ้น ความเสี่ยงที่กรุงเทพฯ จะต้องเผชิญพายุระดับไต้ฝุ่นยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และด้วยปัจจัยเสี่ยงแวดล้อมอื่นๆ กรุงเทพฯ ถือเป็นพื้นที่เปราะบางยิ่ง จนหากเราต้องเผชิญพายุใหญ่จริงๆ เมืองกรุงอาจต้องประสบวิบัติภัยที่สร้างความเสียหายชนิดที่ประเมินค่าไม่ได้
เรายังพอทำอะไรได้บ้าง
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจถึงกับสิ้นหวังว่าเมืองกรุงของเราคงต้องจบเห่กันแล้ว แต่จริงๆ แล้ว กรุงเทพฯ ของเราไม่ถึงกับหมดหวังเสียทีเดียว ทางออกแรกของเราคือ ต้องลดโลกร้อนให้ได้ไวที่สุด เพื่อที่จะบรรเทาผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศให้เบาบางลง วิธีที่คนทั่วไปสามารถทำได้คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตให้รักษ์โลกมาขึ้น
แต่ที่สำคัญไปไม่น้อยกว่า climate mitigation หรือการลดโลกร้อนโดยตรง นั่นก็คือการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ หรือ climate adaptation เมืองกรุงของเราเรียนรู้อยู่กับน้ำมาตั้งแต่อดีต การปรับตัวและเรียนรู้ให้อยู่กับน้ำ ออกแบบเมืองให้มีพื้นที่รับน้ำ การเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาน้ำ จึงจำเป็นที่จะทำให้เมืองหลวงของเราอยู่รอดในยามที่น้ำทะเลจ่อท่วมเมือง
และที่ขาดไปไม่ได้นั่นก็คือมาตรการที่รัฐจะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากวิกฤตโลกร้อน โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่แนวหน้าของวิกฤต โดยรัฐควรจัดการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และวางมาตรการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อที่จะให้ชุมชนแถวหน้าสามารถรับมือกับภัยข้างหน้าได้ ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่พอจะให้เมืองกรุงของเราอยู่รอดได้ในอนาคต