svasdssvasds

นักวิจัย! ดัดแปลงพันธุกรรม “น้ำอสุจิยุงลายเพศผู้” หวังลดประชากรยุง ลดโรค

นักวิจัย! ดัดแปลงพันธุกรรม “น้ำอสุจิยุงลายเพศผู้” หวังลดประชากรยุง ลดโรค

นักวิจัยออสเตรเลียสุดเจ๋ง ดัดแปลงพันธุกรรมน้ำอสุจิยุงลายเพศผู้หวังลดประชากร – คุมการระบาดของโรคที่ยุงเป็นพาหะ

SHORT CUT

  • พามาดูอีกหนึ่งความสำเร็จ มหาวิทยาลัย Macquarie University ในออสเตรเลีย ดำเนินการดัดแปลงพันธุกรรมของยุงลายเพศผู้ด้วยการทำให้น้ำอสุจิเป็นพิษ
  • ทั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการทดลองควบคุมประชากรยุงแบบใหม่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากยุงเหล่านี้

  • โดยก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกใช้ความพยายามต่าง ๆ ในการตรวจสอบการเจริญเติบโตของประชากรยุง รวมถึง เทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน (SIT) และเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรมยุงให้มียีนมรณะ (RIDL)

นักวิจัยออสเตรเลียสุดเจ๋ง ดัดแปลงพันธุกรรมน้ำอสุจิยุงลายเพศผู้หวังลดประชากร – คุมการระบาดของโรคที่ยุงเป็นพาหะ

มหาวิทยาลัย Macquarie University ในออสเตรเลีย ดำเนินการดัดแปลงพันธุกรรมของยุงลายเพศผู้ด้วยการทำให้น้ำอสุจิเป็นพิษ ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการทดลองควบคุมประชากรยุงแบบใหม่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากยุงเหล่านี้

นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Macquarie University ในเมืองซิดนีย์ของออสเตรเลีย คิดค้นวิธีที่เรียกว่า Toxic Male Technique (TMT) ด้วยการดัดแปลงพันธุกรรมของยุงตัวผู้ให้สร้างโปรตีนพิษในน้ำอสุจิ โดยมีเป้าหมายเพื่อฆ่ายุงตัวเมียทันทีหลังจากผสมพันธุ์ ถือเป็นวิธีที่ช่วยลดความต้องการใช้สเปรย์ฆ่าแมลง และสามารถกำหนดเป้าหมายสายพันธุ์ยุงที่เป็นอันตรายเหล่านี้โดยเฉพาะ รวมถึง ยุง 2 – 3 สายพันธุ์ที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้ซิกา ชิคุนกุนยาและไข้เหลือง

 

โดยก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกใช้ความพยายามต่าง ๆ ในการตรวจสอบการเจริญเติบโตของประชากรยุง รวมถึง เทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน (SIT) และเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรมยุงให้มียีนมรณะ (RIDL) ซึ่งเป็นการปล่อยยุงตัวผู้ที่ผ่านการทำหมันหรือผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมให้ไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียที่ดูดเดือดมนุษย์ เพื่อกำจัดลูกยุงและหวังลดจำนวนประชากรยุงในพื้นที่ ปัญหาของทั้งสองวิธีคือไม่ได้ผลกับยุงตัวเมียรุ่นปัจจุบันที่กัด ดูดเลือด และเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคต่อไปได้ เนื่องจากยุงมีวงจรชีวิตยาวนานหลายสัปดาห์

เร่งคุมประชากรยุงลาย

อย่างไรก็ตาม นี่คือจุดที่วิธี Toxic Male Technique ซึ่งเป็นการดัดแปลงพันธุกรรมให้น้ำอสุจิของยุงตัวผู้เป็นพิษนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการกำหนดเป้าหมายไปที่ยุงตัวเมียที่เป็นอันตรายรุ่นปัจจุบัน และป้องกันไม่ให้ยุงตัวเมียเหล่านั้นไปกัดคนได้หลังการผสมพันธุ์

วิธี Toxic Male Technique (TMT) เป็นการกำหนดเป้าหมายอย่างแม่นยำ ทำให้สัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ ไม่ได้รับผลกระทบ แม้แต่สายพันธุ์ที่กินยุงเหล่านี้เป็นอาหารก็ตาม นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวก็คุ้มค่าแก่การทดลองไม่น้อย เนื่องจากในตอนนี้ ยุงสายพันธุ์ต่าง ๆ มีความต้านทานต่อยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้น สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความยากลำบากต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากยุงในทั่วทุกมุมโลก

“แซม บีช” (Sam Beach) ผู้เขียนรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เปิดเผยว่า วิธีการนี้อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการแพร่กระจายของโรค หากแผนของทีมได้ผล เนื่องจากด้วยแนวทางนี้ นักวิจัยสามารถลดขนาดของจำนวนประชากรยุงตัวเมียลงได้ทันทีและหวังว่าจะสามารถลดการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากแมลงเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้

แล้วตอนนี้เราอยู่ที่ไหน? ทีมวิจัยยังไม่ได้ทดลองกับยุง แต่การทดสอบวิธี Toxic Male Technique กับแมลงวันผลไม้ แสดงให้เห็นว่า แมลงวันตัวเมียที่ผสมพันธุ์กับแมลงวันตัวผู้ที่ดัดแปลงพันธุกรรมให้น้ำอสุจิเป็นพิษนั้นมีอายุขัยสั้นลง 37% - 64% เมื่อเทียบกับแมลงวันตัวเมียที่ผสมพันธุ์กับแมลงวันตัวผู้ที่ไม่ได้ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม

ทีมนักวิจัยคาดการณ์ว่าการใช้วิธี TMT กับยุงร้ายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกและซิกาเป็นหลักนั้น อาจลดอัตราการดูดเลือดมนุษย์ได้ 40% - 60% เมื่อใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเหล่านี้ได้อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม “มาเซียจ มาเซลโก้” (Maciej Maselko) รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Macquarie University ซึ่งอำนวยความสะดวกด้วยการให้ทีมนักวิจัยใช้ห้องปฏิบัติการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของวิธีการดังกล่าว ทิ้งท้ายว่า ยังจำเป็นต้องใช้วิธีการนี้กับยุงและดำเนินการทดสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์หรือสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมาย

ทั้งนี้ ในปี 2023 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่า มีผู้ป่วยโรคมาลาเรียทั่วโลก จำนวน 263 ล้านราย ขณะที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (European Center for Disease Prevention and Control) พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 14 ล้านรายทั่วโลกในปีเดียวกัน

ที่มา: New Atlas

https://newatlas.com/biology/tmt-mosquito-semen-population-control/

CREDIT ภาพ: AFP

 

 

related