SHORT CUT
แผ่นซีดี K-POP กำลังกลายเป็นขยะพลาสติกมหาศาลให้กับเกาหลีใต้ ในขณะที่ปีนี้เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพเวทีเจรจาแก้ปัญหาขยะพลาสติกโลก
ในยุคสมัยที่วัฒนธรรมการฟังเพลงเปลี่ยนไป คนสนใจเครื่องเล่นแผ่นซีดีน้อยลง และหันไปพึ่งพาสิ่งที่สะดวกกว่า อย่างการฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งออนไลน์ เช่น Youtube, Spotify หรือ Apple Music เป็นต้น นั่นหมายความว่า คนไม่นิยมฟังเพลงผ่านแผ่นซีดีและเครื่องเล่นซีดีกันแล้ว ไม่ว่าจะในมุมไหนของโลกใบนี้
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง แผ่นซีดีเพลงกลับเป็นที่ฮอตฮิตในหมู่เด็กวัยรุ่นชาวเกาหลีใต้ในปัจจุบัน เนื่องจากสินค้าของวัฒนธรรมวงการบันเทิงเกาหลี (K-POP) อย่างอัลบั้มเพลงและการคลั่งไคล้ศิลปิน เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศเกาหลีใต้มหาศาล โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
กลยุทธ์การตลาดหนึ่งของ K-POP ที่กำลังฮิต คือการขายอัลบั้มเพลงและแผ่นซีดี ที่มาพร้อมกับรูปถ่ายสมาชิกวงเพียงคนเดียว ในรูปแบบของกล่องสุ่ม หรือการซื้ออัลบั้มลุ้นของรางวัล จำพวกโปสเตอร์ รางวัลจับมือหรือพบปะศิลปะ ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์เผยว่า แผ่นซีดีและอัลบั้มเพลง K-POP กำลังกลายเป็นภัยเงียบขนาดใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมในเกาหลีใต้ กลุ่มเคลื่อนไหว นามว่า Kpop4planet ได้ออกมาต่อต้านการตลาดของวงการ K-POP ที่มีการโปรโมทขายแผ่นซีดี ขายอัลบั้มเพลง โดยแนบของรางวัลในลักษณะดังกล่าว
เนื่องจาก Kpop4planet มองว่า การตลาดแบบนี้กำลังสร้างขยะพลาสติกมหาศาล เพราะแฟน ๆ มักจะซื้อซีดีหลายๆแผ่น จำนวนละมาก ๆ จนกว่าพวกเขาจะสุ่มจนเจอสมาชิกวงที่ตนชื่นชอบ และส่วนใหญ่ พวกเขาไม่ได้สนใจแผ่นซีดีด้วยซ้ำ เพราะคนสมัยใหม่ไม่มีเครื่องเล่นแผ่นซีดีกันเลย และข้อมูลจาก Creative Content Agency 2024 ก็เผยว่า มีชาวเกาหลีใต้เพียง 8% เท่านั้น ที่ยังใช้อัลบั้มเพื่อฟังเพลง
กลยุทธ์การตลาดของวงการเคป๊อป ทำให้เกาหลีใต้มียอดขายอัลบั้มซีดีเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยขายได้มากกว่า 119 ล้านอัลบั้มในปี 2023 ตามรายงานของ Circle chart (เครื่องมือติดตามยอดขายอัลบั้มของเกาหลีใต้) รวมไปถึงมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายอัลบั้มเหล่านี้ 13% ในปีที่แล้ว ตามรายงานของ Global Music Report
นอกจากกำไรและเรตติ้งที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ปริมาณขยะพลาสติกประเภทซีดีและอัลบั้มก็พุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยแตะ 800 เมตริกตันในปี 2022 เพิ่มขึ้น 14 เท่าจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตามรายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้
แม้ว่าการตลาดแบบนี้จะสร้างกำไรมหาศาลให้กับเอเจนซี่เคป๊อป แต่มันก็ตามมาด้วยขยะพลาสติกมหาศาลด้วยเช่นกัน ในขณะที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้ขึ้นเป็นเจ้าภาพการเจรจาขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับสนธิสัญญาควบคุมพลาสติก (U.N. Intergovernmental Negotiating Committee (INC-5)) ที่จัดขึ้น ณ เมืองปูซาน เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม เอเจนซี่เคป๊อปได้ออกมาเน้นย้ำว่า วัสดุที่ใช้ผลิตอัลบั้มนั้น เป็นวัสดุรีไซเคิลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง ล่าสุด เอเจนซี่ของวงบอยแบรนด์ BTS กล่าวว่า ด้วยปัญหาดังกล่าวจึงจะปรับแผนใหม่สำหรับอัลบั้มเพลงในแอปพลิเคชัน Weverse โดยให้แฟน ๆ เข้าถึงเพลงได้ในรูปแบบดิจิทัล และจะได้ภาพถ่ายหรือของที่ระลึกผ่านการแสกน QR
ในอีกด้านหนึ่ง บนเวทีนานาชาติ เกาหลีใต้ได้รับการยกย่องว่ามีความพยายามในการรีไซเคิล โดยสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ 73% โดยนิตยสาร MIT Technology Review ได้จัดอันดับให้เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีจัดการด้านรีไซเคิลดีที่สุดในโลก
แต่ในทางกลับกัน นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและกรีนพีซเกาหลีใต้ ได้ออกมาโต้แย้งว่า ตัวเลขนั้นไม่มีจริง แท้จริงแล้วเกาหลีใต้รีไซเคิลขยะพลาสติกได้เพียง 27% ของทั้งหมด ส่วน 73% ที่ว่า เป็นแค่การนับขยะพลาสติกที่มาจากศูนย์คัดแยกการรีไซเคิล ไม่ว่าปลายทางของขยะนั้นจะถูกรีไซเคิล เผา หรือฝังกลบ หรือไม่อย่างไร ไม่มีใครรู้ได้
จึงนำไปสู่ข้อกังวลที่ว่า ส่วนใหญ่แฟนๆที่ซื้ออัลบั้มศิลปินมักจะเป็นเด็กวัยรุ่นอายุน้อย ปัญหานี้อาจกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขยากในอนาคตของพวกเขานั้นเอง
ที่มาข้อมูล
Reuters การเจรจาขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับสนธิสัญญาควบคุมพลาสติก