svasdssvasds

งานวิจัยเผย ขยะพลาสติกบนชายหาด สามารถมองเห็นได้จากอวกาศ

งานวิจัยเผย ขยะพลาสติกบนชายหาด สามารถมองเห็นได้จากอวกาศ

นักวิจัยเผย ขยะพลาสติดบริเวณชายหาดทั่วโลก สามารถมองเห็นได้จากอวกาศ และพวกเขาจะใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อหาวิธีกำจัดขยะเหล่านั้นอย่างยั่งยืน

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า โลกผลิตพลาสติกประมาณ430 ล้านเมตริกตันในแต่ละปี โดยสองในสามของพลาสติกเหล่านี้ถูกใช้งานเพียงช่วงสั้นๆ ก่อนจะกลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว และนอกจากนี้ พลาสติกยังเป็นขยะในทะเลที่อันตรายและคงอยู่ยาวนานที่สุด โดยคิดเป็นอย่างน้อย85% ของขยะทะเลทั้งหมด ซึ่งหากไม่มีการดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่มหาสมุทรในแต่ละปีอาจเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าภายในปี 2040

ล่าสุด ทีมนักวิจัยชาวออสเตรเลียพบว่าปริมาณของขยะพลาสติกเหล่านี้ โดยเฉพาะส่วนที่ถูกพัดไปเกยตื้นบริเวณชายหาด มีจำนวนมากจนเราสามารถมองเห็นพวกมันได้ 'จากอวกาศ' ผ่านการใช้ดาวเทียมสำรวจโลก แม้จะเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ก็ทำให้พวกเขามองเห็นหนทางในการแก้ปัญหานี้เช่นกัน

ภาพถ่ายดาวเทียมที่ทำให้นักวิจัยสามารถตรวจจับขยะได้อย่างแม่นยำ ภาพโดย RMIT

ทีมวิจัยได้พัฒนาวิธีใหม่ในการตรวจจับขยะพลาสติกบนชายหาด โดยใช้เครื่องมือถ่ายภาพดาวเทียมที่สามารถแยกแยะระหว่างทราย น้ำ และพลาสติก ด้วยการพิจารณาจากลักษณะการสะท้อนแสงที่แตกต่างกัน เครื่องมือนี้สามารถตรวจจับพลาสติกบนชายฝั่งได้จากระดับความสูงมากกว่า 600 กิโลเมตร ซึ่งสูงกว่าวงโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พวดเขาเรียกมันว่า ดัชนีตรวจจับพลาสติกบนชายหาด หรือ BPDI (Beached Plastic Debris Index)

พวกเขาคาดว่าผลงานชิ้นนี้ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับพลาสติกบนชายหาดทั่วโลก เพื่อศึกษารูปแบบ ปริมาณ และแหล่งที่มาของพวกมัน เพื่อนำไปสู่การค้นหาวิธีกำจัดและลดการสร้างขยะพลาสติกอย่างเหมาะสมได้ในอนาคต

การทอดทิ้งขยะจำนวนมากให้อยู่บนชายหาดไม่เพียงแต่ทำลายสิ่งแวดล้อมและความงดงามของธรรมชาติเท่านั้น แต่ในสานตาของสัตว์ต่างๆ พวกมันอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร หรืออาจถูกพลาสติกพันติดร่างกายจนเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ทั้งยังกระทบต่อการประมงและการท่องเที่ยวด้วย

หนึ่งในทีมวิจัยยังกล่าวว่า งานศึกษาชิ้นนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น เนื่องจากจนถึงขณะนี้ เรายังไม่มีเครื่องมือสำหรับตรวจจับพลาสติกในสภาพแวดล้อมชายฝั่งจากอวกาศเลย ซึ่งข้อดีของวิธีนี้คือสามารถจับภาพพื้นที่ขนาดใหญ่และห่างไกลได้ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจว่ามีเศษขยะพลาสติกสะสมอยู่ที่ใด สอดคล้องกับเป้าหมายการวางแผนปกป้องและฟื้นฟูมหาสมุทรอย่างยั่งยืน