SHORT CUT
คุณว่าอะไรน่ากลัวกว่าผี? เทศกาลฮาโลวีนในพรุ่งนี้ (31 ต.ค. 67) มาร่วมเทศกาลแบบไม่เกิดขยะกันเถอะ SPRiNG ชวนคุยเฟื่องเรื่องขยะ วันปล่อยผีแบบนี้ มีขยะมากแค่ไหน?
เทศกาลฮาโลวีน (Halloween) จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 31 ต.ค. ของทุกปี ถือเป็นเทศกาลเก่าแก่ที่มีมายาวนานนับ 2,000 ปี ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากเทศกาล Samhain ของชาวเคลต์ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว
หรือคนไทยอาจเรียกติดปากว่า “วันปล่อยผี” ทั้งนี้ เทศกาลนี้ไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศฝั่งเอเชียเท่าไร แต่เป็นที่นิยมมากในกลุ่มประเทศฝั่งยุโรป ซึ่งเป็นต้นธารเทศกาลนี้
สำหรับในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ข้องเกี่ยวอะไรกับวันปล่อยผีนี้มากนัก แถมเรื่องผีของเราก็เข้มข้นไม่แพ้ฝั่งนู้น แต่สิ่งที่เราพอจะร่วมเอนจอยได้คือ แต่งตัวเป็นผี การละเล่น Trick or Treat ตกแต่งบ้านด้วยฟักทอง เป็นต้น แต่วันนี้ SPRiNG จะพาข้ามโลกไปฝั่งยุโรป ซึ่งเป็นทวีปที่เอาจริงเอาจังกับฮาโลวีนมาก พร้อมไปดูว่าเหตุใด “ขยะ” จึงกลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าผี
ไหน ๆ ก็พูดถึงฮาโลวีน วันนี้เราไปดูเรื่องขยะที่ประเทศอังกฤษ อันเป็นจุดเริ่มต้นของ Jack O Lantern กันหน่อยดีกว่า ขยะอย่างแรก ๆ ที่พบเห็นเยอะมากหลังจบเทศกาลคือ ฟักทอง
รู้หรือไม่ ในแต่ละปี ฟาร์มฟักทองทั่วอังกฤษสามารถผลิตได้ฟักทองได้ราว 1,000,000 ลูก เพื่อให้ชาวอังกฤษนำไปแกะสลัก ตบแต่งบ้าน เว็บไซต์ yougov เสนอว่า คนอังกฤษไม่ค่อยนิยมแต่งตัวออกไปนอกบ้านเท่าไร แต่จะเน้นตกแต่งบ้านให้เข้ากับบรรยากาศเท่านั้น เพราะมีบางส่วนที่คิดว่าฮาโลวีนคือเทศกาลบูชาซาตาน
ยังไม่หมดเท่านี้ ข้อมูลจาก World Economic Forum เปิดเผยว่า คนอังกฤษทิ้งฟักทองราว 8,000,000 ลูก หรือจำนวน 18,000 ตัน ในช่วงเทศกาลฮาโลวีน และท้ายที่สุด ฟักทองเหล่านี้ก็จะถูกส่งไปที่หลุมฝังกลบ มีเพียง 19% ที่นำไปต่อยอดทำเป็นเมนูอาหาร หรือนำไปทำเป็นปุ๋ย
แม้จะเกิดขยะมากมาย แต่ปฏิเสธเม่ได้ว่า ฮาโลวีนคือเทศกาลที่ได้รับความนิยมสูงมาก ในกรณีของอังกฤษ รายงานจาก Mintel Store ระบุว่า มีการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลฮาโลวีนมากถึง 1 พันล้านปอนด์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ซื้ออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน หรือไม่ก็ขนมหวาน น้ำ เครื่องดื่ม เพื่อนำมาเฉลิมฉลองกัน
มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก Hubbub ซึ่งทำการสำรวจเกี่ยวกับขยะที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลฮาโลวีน โดยระบุว่า ชุดฮาโลวีนกลายเป็นขยะราว 7 ล้านชุดต่อปี และ 85% ทำมาจากพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งมีความหมายว่า ชุดเหล่านี้ต้องถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบ เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ ชุดเหล่านี้ก็คือพลาสติกประมาณ 2,000 ตัน หรือเทียบเท่าขวดพลาสติกประมาณ 83 ล้านขวด
และการสำรวจนี้ลงลึกถึงขั้นรู้ว่า วัสดุที่ใช้ผลิตชุดฮาโลวีน ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกพอลีเมอร์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20-200 ปี ในการย่อยสลาย ดังนั้น หากเราไปดูหลุมฝังกลบในประเทศที่นิยมเทศกาลฮาโลวีน จะเห็นชุดฮาโลวีนกองเฟื่องเต็มไปหมด
ในบางประเทศมีกฎระบุไว้ว่า สามารถส่งฟักทองที่เหลือจากเทศกาลฮาโลวีนไปที่สวนสัตว์ใกล้บ้านได้ สัตว์จำพวกวัว หมู หรือแม้แต่ไก่ง่วง ชอบกินฟักทองมาก สำหรับชุดฮาโลวีน ที่ซื้อใส่ครั้งเดียวแล้วทิ้ง วิธีที่ง่ายที่สุดคือ เก็บไว้ใส่ปีต่อไป นำไปส่งต่อ หรือใครขยันหน่อยอาจลองทำชุดใส่เองก็ได้เหมือนกัน
สำหรับขยะพลาสติก อันนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ควรทำในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพียงแค่เราไม่ทิ้งขว้าง จัดการพลาสติก จากทั้งขวดน้ำ หรือเปลือกขนม ให้ถูกทิ้งอย่างถูกต้อง เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว หากปฏิบัติตามนี้ “ขยะ” ก็จะไม่ใช่ผีที่น่ากลัวที่สุดอีกต่อไปแล้ว
ที่มา: Yougov, The Guardian, Library Congress
ข่าวที่เกี่ยวข้อง