svasdssvasds

"ไปอีก 1" ทีมวิจัยคณะประมง ม.เกษตร พบพะยูน เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ตัว ที่ จ.กระบี่

"ไปอีก 1" ทีมวิจัยคณะประมง ม.เกษตร พบพะยูน เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ตัว ที่ จ.กระบี่

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิด์ เปิดเผยว่า ทีมวิจัยคณะประมงได้ลงพื้นที่สำรวจหญ้าทะเล จ.กระบี่ แต่ต้องพบกับข่าวร้าย นั่นคือ มีพะยูนเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ตัว จากอาการหิวโซ ร่างกายผ่ายผอม คาดไม่มีหญ้าทะเลตกถึงท้อง

ราว 3 วันก่อน เราเพิ่งพบกับข่าวสุดช็อกนั่นคือ “ซากพะยูนไร้หัว” บริเวณในคลองทางเข้าท่าเรือบางโรง ม.3 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต  ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน พบว่า บริเวณมีร่องรอยของมีคม และส่วนหัวหายไป โดยคาดการณ์ว่าถูกลักลอบตัดเอาไปขาย จนกระทั่งวานนี้ (16 พ.ย. 67) ที่ทะเลตรังพบพะยูนตายเพิ่มอีก 1 ตัว

วันนี้ (17 พ.ย. 67) เวลาผ่านไปยังไม่ทันครบ 24 ชั่วโมงดี พบพะยูนตายเพิ่มอีก 1 ตัว เป็นพะยูนที่ จ.กระบี่ โดยข้อมูลนี้ ถูกเปิดเผยโดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเล

ระบุใจความว่า “ทีมวิจัยคณะประมงไปแปลงต้นพันธุ์ที่กระบี่ หญ้าสมบูรณ์ดีแต่มีข่าวเศร้าสุด เมื่อพะยูนอดผอมโซไปต่อไม่ไหว ตายต่อหน้าต่อตาทีมวิจัย แทบร้องไห้กันเลยครับ เธอเป็นพะยูนตัวที่ 5 ที่ตายในเดือนนี้ นับรวมทั้งปี 36 ตัว รวมสองปี 76 ตัว สภาพที่พบคือผอม โทรม เพรียงเกาะหลังเต็มไปหมด"

Credit Thon Thamrongnawasawat

“ผลชันสูตรต้องรอกรมทะเล แต่ดูก็พอเห็นว่าเธออดอยากสุดๆ หญ้าทะเลที่เกาะปูเกาะจำ เคยมีอยู่มากมายเป็นดงกว้างหลายพันไร่ มาบัดนี้โลกร้อนทะเลเดือดทำให้เหลือแต่ตอ อันที่จริงตอก็แทบไม่เหลือ น้องจึงไม่มีอะไรกิน”

5 ตัวใน 1 เดือนเป็นตัวเลขที่ผิดปกติ แถมน่าเป็นห่วงอย่างมาก อย่างไรก็ดี หากไม่นับการฆาตกรรมโดยมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ จะพบว่า ปัญหาโลกร้อนคือสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ประชากรพะยูนในไทยเริ่มล้มหายตายจาก เนื่องจากอาหารของพวกมันอย่าง “หญ้าทะเล” ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ซึ่งถ้าไม่มีฟื้นฟูอย่างจริงตัง คาดว่าท้องทะเลไทยจะไม่มีพะยูนให้พบเห็นอีก

Credit Thon Thamrongnawasawat

ก่อนหน้านี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เปิดเผยว่า พบพะยูนตาย 8 ตัวในช่วง 24 วันของเดือนตุลาคม 2567 โดยกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ ภูเก็ต 2 ตัว กระบี่ 1 ตัว ตรัง 2 ตัว สตูล 3 ตัว จากการชันสูตรพบสาเหตุการตาย 2 ลักษณะ ได้แก่ ร่างกายซูบผอม ขาดสารอาหาร สุขภาพไม่ดี และร่องรอยพันรัดจากเชือก และตั้งแต่ปี 2548-2565 พบพะยูนตายเฉลี่ย 13 ตัวต่อปี

ทั้งนี้ ในปี 2567 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ทำการสำรวจประชากรพะยูนในท้องทะเลไทย พบว่ามีอยู่ 240 ตัว กระจัดกระจายอยู่หลายจังหวัดบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขาดแคลนแหล่งอาหาร แถมการท่องเที่ยวก็มีส่วนทำให้พะยูนเสี่ยงเสียชีวิตเช่นกัน รวมไปถึงอุปกรณ์ประมงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับพะยูน

 

ที่มา: Thon Thamrongnawasawat

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related