svasdssvasds

ภาษีรถติด หรือ ค่าธรรมเนียมรถติดในต่างประเทศคิดอย่างไร?

ภาษีรถติด หรือ ค่าธรรมเนียมรถติดในต่างประเทศคิดอย่างไร?

ส่องภาษีรถติด หรือ ค่าธรรมเนียมรถติด ในหลายประเทศทั่วโลก บางประเทศเคยเก็บมาหลายสิบปี บางประเทศเพิ่งเริ่มได้ไม่นาน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ช่วยลดปริมาณการจราจร แก้ปัญหารถติด และ บางประเทศช่วยลดมลพิษได้ด้วย

SHORT CUT

  • ส่องภาษีรถติด หรือ ค่าธรรมเนียมรถติดในต่างประเทศ ทั่วโลก เทียบกับไทย บ้านเขาคิดจากอะไรและผลลัพธ์ออกมาอย่างไร 
  • สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่คิดค่าธรรมเนียมรถติด เพื่อแก้ปัญหาจราจร ในเขตธุรกิจเก็บตามช่วงเวลา และ พื้นที่ที่การจราจรหนาแน่น ช่วยให้รถติดน้อยลงอย่างรวดเร็ว
  • ส่วนประเทศอื่นๆ มีไอเดียคล้ายๆ กันคือ เก็บในพื้นที่ที่การจราจรแออัด มีบางประเทศเก็บเพิ่มจากรถที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งก็ได้ผลนอกจากแก้ปัญหารถติด ช่วยลดมลพิษทำให้ประชาชนสุขภาพดีขึ้น และ นำเงินไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนได้ด้วย

ส่องภาษีรถติด หรือ ค่าธรรมเนียมรถติด ในหลายประเทศทั่วโลก บางประเทศเคยเก็บมาหลายสิบปี บางประเทศเพิ่งเริ่มได้ไม่นาน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ช่วยลดปริมาณการจราจร แก้ปัญหารถติด และ บางประเทศช่วยลดมลพิษได้ด้วย

ประเด็นเรื่องภาษีรถติด กลายเป็นหนึ่งในเรื่องร้อนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังกระทรวงคมนาคม ภายใต้การนำของสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ผุดไอเดียนี้ เพื่อหวังกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น

ข้อมูลที่ออกมาแล้ว คือ คาดว่า จะเก็บจากผู้ใช้รถ ที่ขับเข้าไปใจกลางเมือง เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนสีลม ถนนรัชดาภิเษก โดยคาดว่าจะเก็บในอัตรา 40-50 บาทต่อคัน เป้าหมายหลักๆ ก็คือ บรรเทาปัญหาการจราจร และ ยังช่วยลด PM 2.5 ด้วย

ภาษีรถติด หรือ ค่าธรรมเนียมรถติดในต่างประเทศคิดอย่างไร?

ไปดูที่ต่างประเทศกันบ้าง ประเทศที่เขาจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ได้ผลจริงไหม ช่วยอะไรได้บ้าง ต้องบอกก่อนว่า SPRiNG หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง เพราะแต่ละประเทศมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เหมือนกับเรา ทั้งจำนวนรถยนต์ ค่าครองชีพ ฯลฯ

ประเทศในอาเซียนเหมือนเรา คือ

สิงคโปร์

เป็นประเทศแรกที่เก็บภาษีรถติด เก็บมาตั้งแต่ปี 1975 เกือบ 50 ปีมาแล้ว เก็บในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัดในเขตธุรกิจ คิดค่าธรรมเนียมจากรถยนต์ที่เข้ามาในพื้นที่สำคัญ เป็นการเก็บตามช่วงเวลาจราจรหนาแน่นและสถานที่ ในอัตรา 12-150 บาท/ครั้ง ค่าใช้จ่ายจะแพงขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วน คือ 7 โมง ถึง 9 โมงเช้า ผลที่ได้คือ ลดการจราจรติดขัดได้ 45% ในช่วงข้ามคืน

สหราชอาณาจักร

ที่กรุงลอนดอนเริ่มจัดเก็บมาตั้งแต่ปี 2003 มีเป้าหมายเพื่อแก้รถติดและลดมลพิษทางอากาศ คิดค่าใช้จ่ายวันละ 660 บาท จากรถที่เข้าเมืองช่วง 7 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม และ บวกเพิ่มสำหรับรถที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกคันละ 550 บาท แต่คนที่อยู่ในเมืองอยู่แล้วจะได้ส่วนลดนะคะ วิธีนี้ ลอนดอนลดปัญหาจราจรได้ 30% อากาศดีขึ้น 12% และสามารถนำรายได้ไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนกว่า พันล้านปอนด์

อิตาลี

ที่มิลานเริ่มใช้ระบบเก็บค่าธรรมเนียมรถติดตั้งแต่ปี 2012 เพื่อลดปริมาณรถยนต์สนเมือง ลดมลพิษทางอากาศ โดยจัดเก็บในอัตรา 190 บาทต่อวันสำหรับพื้นที่จำกัดการจราจรใจกลางเมือง ในช่วงวันธรรมดาระหว่างเวลา 07.30-19.30 น.ผลปรากฏว่า ช่วยลดการจราจรในเขตเมือง ได้ 30% และมิลานไม่อนุญาตให้รถยนต์เก่าที่ปล่อยมลพิษเข้าพื้นที่ระหว่างเดือนต.ค.ถึงเม.ย.ด้วย โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมนำไปส่งเสริมนโยบายลดมลพิษทางอากาศ และ พัฒนาระบบขนส่งมวลชน

สวีเดน

ที่สตอกโฮล์ม เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2007 เก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 40-160 บาท/ครั้ง ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและฤดูกาล โดยเวลาที่แพงที่สุดอยู่ระหว่าง 7.30-9.00 น. ค่าธรรมเนียมลดลงระหว่างวัน ไม่เก็บช่วงกลางคืนตั้งแต่หกโมงเย็นถึงหกโมงเช้า กรุงสต็อกโฮล์มต้องการรักษาคุณภาพอากาศด้วย ปรากฏว่า การเก็บภาษีรถติดช่วยลดปริมาณรถบนท้องถนนได้ 20-25%ลดคาร์บอนได้ 20% แถมยังช่วยให้คนป่วยโรคหอบหืดน้อยลงกว่าครึ่ง

นอร์เวย์

ที่ออสโล และ เบอร์เกน ปรับราคาตามช่วงเวลาและวันทำงาน คิดค่าธรรมเนียมรถติดในอัตรา 55 บาทต่อการผ่านหนึ่งครั้ง และราคาจะสูงขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วน ผลที่ตามมา คือ ช่วยลดจำนวนรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ นำรายได้ไปปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน

สหรัฐอเมริกา

ในมหานครนิวยอร์ก จัดเก็บจากรถยนต์ที่เข้าไปในเขตแมนฮัทตัน ศูนย์กลางของเมือง โดยค่าธรรมเนียมอยู่ระหว่าง 330-840 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและวันทำงาน เพื่อช่วยลดปัญหาจราจรและนำรายได้ไปปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะในเมือง

related