svasdssvasds

หอการค้าฯ เผย น้ำท่วมทำเจ็บหนัก เสียหาย 3 หมื่นล้าน พร้อมเสนอ 6 แนวทางฝ่าวิกฤต

หอการค้าฯ เผย น้ำท่วมทำเจ็บหนัก เสียหาย 3 หมื่นล้าน พร้อมเสนอ 6 แนวทางฝ่าวิกฤต

ขณะนี้ 33 จังหวัดทั่วประเทศไทยประสบภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างหนักหน่วง ทางหอการค้าฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย เสียหายประมาณ 3 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งเสนอ 6 แนวทางสำคัญช่วยไทยฝ่าวิกฤต และรับมือกับน้ำท่วมได้ดียิ่งขึ้น

วันนี้ (30 ก.ย. 67) สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขยายวงกว้างไปยัง 33 จังหวัดทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ติดตามอย่างใกล้ชิดและประเมินมูลค่าความเสียหายแล้ว ประมาณ 29,845 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.17% ของ GDP ซึ่งภาพรวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็น พื้นที่การเกษตร 1,166,992 ไร่  และพื้นที่อื่นๆ 1,826,812 ไร่

น้ำท่วม 2567 เสียหาย 3 หมื่นล้านบาท

นอกจาก นี้ หอการค้าไทยได้ประเมินว่าภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมถึง 24,553 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 82.3% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 5,121 ล้านบาท ส่วนภาคอุตสาหกรรมเสียหายราว 171 ล้านบาท

สำหรับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบและมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 6,412 ล้านบาท รองลงมาคือ พะเยา 3,292 ล้านบาท สุโขทัย 3,042 ล้านบาท

น้ำท่วม 2567 เสียหาย 3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ วิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ที่เกิดขึ้นถี่และขยายวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของภาคการเกษตรที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ดังนั้น หอการค้าฯ จึงเห็นว่าประเทศไทยควรมีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ โดยได้จัดทำข้อเสนอทั้งเชิงนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ 6 ข้อ ดังนี้

1.ศึกษาปัญหาอุปสรรคด้านการบริหารจัดการน้ำในส่วนภูมิภาค

 สำรวจปัญหา/อุปสรรคและข้อเสนอแนะด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปยังหอการค้าจังหวัดในแต่ละมิติ เช่น เครื่องมือ/อุปกรณ์การบริหารจัดการน้ำ ระบบบริหารจัดการ การซ่อมบำรุง และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสะท้อนแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างครอบคลุม

2. จัดกิจกรรมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ฐานข้อมูลด้านน้ำ

เพื่อเป็นแนวทางวางแผนและบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ (น้ำท่วม/น้ำแล้ง) จัดกิจกรรมอบรมการใช้งาน Application หรือ website เกี่ยวกับฐานข้อมูลน้ำ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

3. จัดตั้ง War Room ของรัฐบาลเพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ

ภาคเอกชนสนับสนุนแนวทางที่รัฐบาลได้จัดตั้ง War Room เพื่อทำการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำโดยเฉพาะในพื้นซึ่งมีความเสี่ยงต่ออุทกภัย ตลอดจนการคาดการณ์ การแจ้งเตือน เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

4. สนับสนุนมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ภาคเอกชนสนับสนุนการออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน และผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

5. บูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ใช้แนวทางการบริหารจัดการลำน้ำ/แม่น้ำร่วม ดังนั้น ควรใช้กลไกทางการเมือง การทูต เข้าไปบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงให้มีการจัดระเบียบของเมืองทางกายภาพ วางแนวทางน้ำไหลตามระดับสูงต่ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งจัดทำคลองระบายน้ำและคลองส่งน้ำร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำแบบบูรณาการทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน

6. ทบทวนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำ

ภาครัฐทบทวนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ตลอดจน วางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวเพื่อเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณในการป้องกันภัยพิบัติ การเตรียมการกักเก็บน้ำ รวมถึงการเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำเพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำในช่วงขาดแคลน รวมทั้งแนวทางอนุรักษ์น้ำรองรับการอุปโภค บริโภค

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related