svasdssvasds

น้ำท่วมภาคเหนือ 2567 อาจไม่รุนแรงถึงเพียงนี้ หากเรามี "ป่าไม้"...?

น้ำท่วมภาคเหนือ 2567 อาจไม่รุนแรงถึงเพียงนี้ หากเรามี "ป่าไม้"...?

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีการพูดกันถึงสาเหตุที่พื้นที่ทางภาคเหนือเจอปัญหาน้ำท่วมหนักกว่าปกติ เป็นเพราะสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปนับแสนไร่ SPRiNG ชวนอ่านมุมมองจาก 2 ผู้เชี่ยวชาญว่าป่าไม้สำคัญต่อกับรับมือน้ำท่วมอย่างไร

วันนี้ (25 ก.ย. 67) ในงานเสวนาโลกรวนในโลกร้อน: ไต้ฝุ่นยางิ Monsoons และความท้าทายด้านภูมิอากาศในภูมิภาค ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปะแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาน้ำท่วมในภาคเหนือ และมีการพูดถึงความสำคัญของป่าไม้ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ทางด้านของ ผศ.ดร.สิตางค์ พิลัยหล้า จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมมีข้อติดขัดอยู่หลายประการ หนึ่งในนั้นคือการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งมีผลกระทบต่อการยึดหน้าดิน

ผศ.ดร.สิตางค์ พิลัยหล้า จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“น้ำท่วมในรอบนี้ไม่ใช่การท่วมแบบปกติ ชาวบ้านจะพูดว่าน้ำที่ไหลมามันขุ่น ไม่ใช่น้ำใส ๆ หรือแม้แต่พี่น้องชาวชาติพันธุ์ก็บอกว่าน้ำมันขุ่น แทบทุกพื้นที่ก็จะบอกกันว่าเป็นไม่มีป่าหรือเปล่า โคลนที่ไหลมาคือถูกกัดเซาะเอาหน้าดินมา จนเราไม่รู้ว่าน้ำท่วมเสร็จรอบนี้ระดับสูงต่ำของพื้นที่จะเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า”

น้ำท่วมภาคเหนือ 2567 อาจไม่รุนแรงถึงเพียงนี้ หากเรามี "ป่าไม้"...?

น้ำท่วมภาคเหนือ 2567 อาจไม่รุนแรงถึงเพียงนี้ หากเรามี "ป่าไม้"...?

ทั้งนี้ ผศ.ดร.สิตางค์ ได้ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย โดยระบุว่า ประเทศไทยมีป่าไม้อยู่ประมาณ 101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47% ของพื้นที่ในประเทศ ถือว่าลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ป่าไม้ที่ประเทศไทยตั้งเป้าเอาไว้คือ 40%

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขพื้นป่าไม้ของไทยก็จะผันผวนอยู่ที่ 32-33% ซึ่งข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรบอกว่าปี 66 ตัวเลขอยู่ที่ 31.47% ดังนั้นโอกาสที่ตัวเลขมันจะไปแตะ 40 แทบไม่มีเลยในช่วงชีวิตเรา มันลดลงเรื่อย ๆ”

น้ำท่วมภาคเหนือ 2567 อาจไม่รุนแรงถึงเพียงนี้ หากเรามี "ป่าไม้"...?

เมื่อสอบถามว่า ป่าไม้มีบทบาทสำคัญอย่างไรกับการรับมือน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทางภาคเหนือ ผศ.ดร.สิตางค์ ระบุว่า การมีป่าไม้ อย่างน้อยที่สุดช่วยชะลอการไหลของน้ำได้ เมื่อฝนตกลงมา กิ่งก้านสาขาใบไม้ ช่วยลดความแรงของฝนได้ในระดับนึง เมื่อตกลงมาถึงพื้นดิน ราก ก็ช่วยชะลอความเร็วได้ นอกจากนี้ ทั้งรากทั้งใบก็ช่วยดูดซับน้ำได้ ลดได้ทั้งเม็ดฝน ลดได้ทั้งน้ำท่า

“น้ำที่ไหลลงมาโดยไม่มีป่าช่วยชะลอนั้น แรงและเร็วมาก อำนาจการทำลายล้างสูง ยิ่งพื้นดินไม่มีอะไรปกคลุม ยิ่งชะเอาหน้าดินลงมา เห็นได้จากน้ำที่ไหลท่วมในคราวนี้ ไม่ใช่น้ำฝนใสๆ แต่เป็นดินโคลนที่ชะเอาหน้าดินลงมาด้วย”

“แม้ว่าปัจจุบัน ฝนที่ตกจะเกินศักยภาพที่ดินจะอุ้มน้ำไว้ได้ แต่เรื่องการดูดซับน้ำบางส่วนและชะลอความเร็วการไหล เป็นเรื่อง เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องจินตนาการ”

ขณะที่ ดร.เจน ชาญนรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานมูลนิธิอานันทมหิดล และผู้ก่อตั้ง FB Page ฝ่าฝุ่น เผยว่า ดูปริมาณน้ำฝนอย่างเดียวไม่ได้ อีกปัญหาที่เกิดขึ้นคือดินในภาคเหนือสูญเสียประสิทธิภาพในการรับน้ำ

ดร.เจน ชาญนรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานมูลนิธิอานันทมหิดล และผู้ก่อตั้ง FB Page ฝ่าฝุ่น

“ฝนที่ตกในภาคเหนือถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีผิดปกติเล็กน้องในบางเวลา หรือบางพื้นที่ แต่ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องสภาพดิน ในเมื่อฝนตกตามปกติ ทำไมดินถึงถล่มลงมาอย่างหนักหน่วง”

“สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นคือเราเผาป่ากันเยอะมาก ปี 2566 เราเผาป่ากันไปทั้งหมด 9 ล้านไร่ ทุกครั้งที่เกิดไฟป่า มันไม่ได้ไหม้แค่ขอนไม้หรือใบไม้ แต่มันเผาไบโอแมสไปด้วย”

“เมื่อไบโอแมสเหล่านี้ถูกเผา ก็จะซึมลงใต้ชั้นขี้เถ้าประมาณ 1-2 นิ้ว ผลที่ตามมาคือดินบริเวณนั้นจะมีคุณสมบัติที่เรียกว่าผลักน้ำ กล่าวคือมันจะทำหน้าที่เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน ไม่ยอมซึมลงใต้ดิน เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อฝนตก หรือน้ำท่วม น้ำมันก็ไม่สามารถซึมลงข้างใต้ ดินมันเลยไถลไปกับน้ำแบบที่เห็น“

น้ำท่วมภาคเหนือ 2567 อาจไม่รุนแรงถึงเพียงนี้ หากเรามี "ป่าไม้"...?

นอกจากนี้ ดร.เจน ยังเปิดเผยอีกว่า หากไม่อยากเจอปัญหาน้ำท่วม ดินถล่มแบบนี้อีก ควรมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งย้ำว่าไม่ควรไปยุ่งกับป่าไม้ หรือลักลอบเผาอีก

“ถ้ายังเผาป่ากันมากถึง 9 ล้านไร่ จะไม่ให้ดินถล่มมันเป็นไปไม่ได้ วิธีดูแลป่าที่ดีที่สุดคืออย่าไปกวนเค้า ถ้าเราจะใช้ป่าตรงไหนก็ยังใช้ได้ แต่ต้องควบคุมไฟให้อยู่ ไม่ใช่ปล่อยให้ลามไปทั่ว เราต้องดูแลป่าให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อเป็นทางออกสำหรับทุกคน“

“ถ้ายังเผาป่ากันมากถึง 9 ล้านไร่ จะไม่ให้ดินถล่มมันเป็นไปไม่ได้ วิธีดูแลป่าที่ดีที่สุดคืออย่าไปกวนเค้า ถ้าเราจะใช้ป่าตรงไหนก็ยังใช้ได้ แต่ต้องควบคุมไฟให้อยู่ ไม่ใช่ปล่อยให้ลามไปทั่ว“

 

ที่มา: งานสัมมนา โลกรวนในโลกร้อน: ไต้ฝุ่นยางิ Monsoons และความท้าทายด้านภูมิอากาศในภูมิภาค

จัดโดย: Bangkok Tribune Online News Agency, Decode.plus, Thai PBS, The Thai Society of Environmental Journalists (Thai SEJ), SEA-Junction

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related