svasdssvasds

ย้อนไทม์ไลน์ "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ผ่านมา 34 ปี ทำไมไม่เคยเกิดขึ้นจริง?

ย้อนไทม์ไลน์ "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ผ่านมา 34 ปี ทำไมไม่เคยเกิดขึ้นจริง?

กว่า 34 ปี ที่ชุมชนสะเอียบต่อสู้หัวชนฝา เพื่อคัดค้านไม่ให้โปรเจกต์สร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" เกิดขึ้นจริง แต่พวกเขาทำเช่นนั้นไปเพื่ออะไร และเมกะโปรเจกต์นี้ ที่ว่ากันว่าจะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้เป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ ณ ปี 2024 สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป?

ภูมิธรรม เผย เตรียมปัดฝุ่นโปรเจกต์ "เขื่อนแก่งเสือเต้น"

เป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้งเมื่อนายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่ จ.ชัยนาท เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าเตรียมปัดฝุ่นพูดคุยโปรเจกต์ “เขื่อนแก่งเสือเต้น” อีกครั้ง

โดยจุดประสงค์คือต้องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไว้ป้องกันน้ำท่วม ทั้งนี้ โปรเจกต์ดังกล่าวถูกออกเสียงคัดค้านมาโดยตลอดทั้งจากนักอนุรักษ์ นักวิชาการ และกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมากที่สุดคือ “ชุมชนสะเอียบ” อ.สอง จ.แพร่

SPRiNG ชวนย้อนมหากาพย์การต่อสู้อันยาวนานของชุมชนชาวสะเอียบ จุดเริ่มต้นการสร้างเขื่อนแก่นเสือเต้น จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือ หากโปรเจกต์นี้ได้รับไฟเขียว ใครบ้างที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ และทำไมเขื่อนแก่งเสือเต้นถึงไม่เคยเกิดขึ้นจริง

เขื่อนแก่งเสือเต้น Credit Thailand Tourism Directory

สรุปไทม์ไลน์ “เขื่อนแก่งเสือเต้น”

  • ปี 2516 โปรเจกต์เขื่อนแก่งเสือเต้นเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ (ถูกคัดค้าน)
  • ปี 2523 โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นถูกผลักดันภายใต้ความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ถูกคัดค้าน)
  • ปี 2532 รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อนุมัติงบก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น (ถูกคัดค้าน)
  • ปี 2538 รัฐบาลบรรหาร ศิลปะอาชา อนุมัติงบก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น (ถูกคัดค้าน)
  • ปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร อนุมัติงบก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น (ถูกคัดค้าน)

เขื่อนแก่งเสือเต้น Credit Thailand Tourism Directory

รายละเอียดโปรเจกต์เขื่อนแก่งเสือเต้น

ต้องบอกว่าการผลักดันโปรเจกต์นี้ของแต่ละรัฐบาลมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ในแง่การศึกษาผลกระทบ ผลที่คาดว่าจะได้รับ มูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือการเยียวยาชุมชน แต่สปริงนิวส์ชวนดูต่อว่าหาก “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ถูกสร้างขึ้นจริงจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

  • เขื่อนแก่งเสือเต้นหัวงานตั้งอยู่ที่ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีความจุเก็บกัก 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร
  • เขื่อนแก่งเสือเต้นปิดกั้นแม่น้ำยมเหนือจุดบรรจบแม่น้ำงาวกับแม่น้ำยมประมาณ 7 กิโลเมตร ในเขต ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
  • ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำฝน 3,583 ตารางกิโลเมตร
  • มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 66.78 ตารางกิโลเมตร หรือ 41,738 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 774,200 ไร่
  • ลดน้ำหลากของลุ่มน้ำยม ได้ร้อยละ 13-25 ลดภัยแล้งได้ร้อยละ 27.2 ของความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง

*หมายเหตุ อ้างอิงข้อมูลจากโปรเจกต์สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นของรัฐบาลของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร เมื่อปี 2555

เขื่อนแก่งเสือเต้น Credit Thailand Tourism Directory

เขื่อนแก่งเสือเต้น: ผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม

หากเขื่อนแก่งเสือเต้นถูกสร้างขึ้นจริง มี 4 หมู่บ้านที่ต้องอพยพ ได้แก่ บ้านดอนชัย หมู่ 1, บ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9, บ้านแก้ว หมู่ 6 และบ้านแม่เต้น หมู่ 5 อ.สะเอียบ จ.แพร่ ทั้งหมดรวมกัน 2,700 ครัวเรือน

แม้ภายหลังมีการศึกษาว่าการสร้างเขื่อนยมบน-ยมล่าง สามารถป้องกันไม่ให้หมู่บ้านถูกน้ำท่วมได้ แต่ป่าก็มิวายถูกน้ำท่วมอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้ใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม กว่า 52.85 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นป่าเบญจพรรณ ที่เฟื่องไปด้วยต้นสักทอง รวมถึงพืชสมุนไพรกว่า 135 ชนิดอาจต้องสูญหายไป

ทั้งนี้ รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุว่าการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กล่าวคืออุณหภูมิจะเปลี่ยน ความชื้น และรูปแบบการตกของฝน

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือข้อมูลเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ล่าสุดนักอนุรักษ์ได้ออกมาส่งสัญญาณว่าหากจะปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้ง รัฐบาลต้องทำการศึกษาใหม่ทั้งหมด สังคมเคลื่อน เศรษฐศาสตร์เคลื่อน รวมถึงระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว และที่สำคัญมรดกความรู้ที่กล่าวมานี้ชุมชนชาวสะเอียบรับรู้รับทราบเป็นอย่างดี

 

ที่มา: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, thaipublica

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related