SHORT CUT
หยุดเขื่อน เท่ากับ หยุดทำร้ายมรดกโลก ชาวบ้านคลองมะเดื่อไม่ทน จัดเวทีเสวนาต่อต้านคัดค้านการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่ามรดกโลก เขาใหญ่-ดงพญาเย็น ชี้ มีผลเสียมากกว่าผลดี
วันที่ 11 มีนาคม 2567 ชาวบ้านพื้นที่ จ .นครนายก และนักอนุรักษ์ 29 องค์กร ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อน อันจะส่งผลต่อการทำลายพื้นที่ธรรมชาติ ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เนื่องในวันเขื่อนโลก โดยชาวบ้านและนักอนุรักษ์มองว่า โครงการสร้างเขื่อนกว่า 10 แห่งรอบเขาใหญ่ มีผลเสียมากกว่าผลดี
ในวันดังกล่าว ชาวบ้านคลองมะเดื่อ กลุ่มรักษ์คลองมะเดื่อ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมพลเมืองนครนายก กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ และกลุ่มอนุรักษ์รวม 29 กลุ่ม ร่วมกันออกแถลงการณ์ให้หยุดสร้างเขื่อนในเขตป่ามรดกโลก ดงพยาเย็น-เขาใหญ่ จ.นครนายก
นางสาวอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยว่า สถิติข้อมูลจากกรมป่าไม้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563-2566 พื้นที่ป่าของประเทศไทยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หายไปประมาณปีละ 1 แสนกว่าไร่และปัจจุบัน เพียงปีเดียวป่าหายไปแล้วมากถึง 317,819.20 ไร่
ขณะที่นโยบายป่าไม้แห่งชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับปัจจุบัน บอกว่า ประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ดังนั้น เราต้องมีพื้นที่ป่าทั้งหมด 129 ล้านไร่ แต่หากนับจำนวนป่าที่เหลือในปัจจุบันแล้ว เราต้องเพิ่มป่าให้ได้อีก 27 ล้านไร่ ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมาก จึงจะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้
โครงการเขื่อนคลองมะเดื่อจะทำให้พื้นที่ป่าหายไป ซึ่งหากคำนวนตามแผนการสร้างคร่าว ๆ หากก่อสร้างเขื่อนบนพื้นที่ 1,800 ไร่ เป็นผืนป่าเขาใหญ่ที่มีประมาณ 1,100 ไร่ และพื้นที่ชุมชนอีก 600 ไร่ นอกจากนี้ยังมีเขื่อนอื่น ๆ อีก 7 แห่ง หากสร้างเขื่อนทั้งหมดนี้ในผืนป่าดงพยาเย็น-เขาใหญ่ พื้นที่ป่าไทยจะหายไปอีก 20,000 ไร่ สวนทางกับยุทธศาสตร์ป่าไม้แห่งชาติ
การสร้างเขื่อน อาจเพิ่มระดับของการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าไทย เมื่อป่าไทยมีแต่เขื่อน เมื่อน้ำท่วมพื้นที่ป่า ผลกระทบต่อมาคือ สัตว์ป่า
ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หายาก อาทิ เสือโคร่ง วัวแดง กระทิง และยังเป็นแหล่งรองรับและฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งเป็นอันดับ 2 รองจากผืนป่าตะวันตก
นายโสภณัฐ์ต์ กิ่งผา หนึ่งในแกนน้ำกลุ่มรักษ์คลองมะเดื่อ เล่าว่า ชาวบ้านจัดงานนี้ขึ้น เพราะกรมชลประทานไม่ล้มเลิกหรือระงับโครงการก่อสร้างเขื่อน 7+3 แห่ง ในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตามคณะกรรมการมรดกโลกร้องขอ แต่กลับเร่งให้เร็วขึ้น
“ทำไมจังหวัดเล็ก ๆ อย่าง นครนายก จึงต้องมีเขื่อนใหญ่ ๆ 2 เขื่อน ที่อยู่ห่างกันไม่ถึง 10 กิโลเมตร เกิดขึ้น คือ เขื่อนขุนด่านปราการชล ที่สร้างเสร็จไปนานแล้ว และเขื่อนคลองมะเดื่อ ที่กรมชลเร่งสร้าง เรามีความจำเป็นขนาดนั้นหรือ”
“สิ่งสำคัญของคลองมะเดื่อคือ ป่า ที่มีนิเวศลำธารแห่งสุดท้ายของนครนายกเหลืออยู่ เมื่อสร้างเขื่อน น้ำจะท่วมเข้าไปในป่าอุทยานเขาใหญ่ กว่า 2,000 ไร่ และทำลายป่าคลองมะเดื่อ ซึ่งกรมชลฯและรัฐบาลไม่สามารถสร้างระบบนิเวศแบบนี้ขึ้นมาได้อีก และชาวบ้านเองจะไม่ยอมละทิ้งทรัพย์สินและที่ดินเพื่อสร้างเขื่อนแน่นอน”
นอกจากนี้ แกนนำกลุ่มรักษ์คลองมะเดื่อยังชี้ให้เห็นว่า EIA ที่ได้ทำก็ไม่ได้มีการทำจริง เอาข้อมูลเก่ามาใช้ คนตายไปแล้ว 10-50 ปี ยังมีรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบจริงกลับไม่มีรายชื่อ และที่สำคัญคือทึกทักไปเองว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง
ด้านผู้ใหญ่บ้าน นายไพบูลย์ จิตเสงี่ยม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.สาริกา นครนายก กล่าวว่า มีความกังวลว่า ถ้าสร้างเขื่อนขึ้นมาจริง จะให้ช้างป่าเสียพื้นที่ราบกว้างใหญ่ รวมถึงแนวชายป่าหากิน ซึ่งเมื่อไร้อาหาร พวกมันก็จะพากันมาที่หมู่บ้านและสวนผลไม้ของชาวบ้านมากขึ้น หรืออาจไปไกลถึงตัวเมือง และเกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างที่รุนแรงขึ้น
ส่วนเรื่องค่าชดเชยความเสียหายและการฟื้นฟูระบบนิเวศ หน่วยงานมักกล่าวอ้างก่อนการสร้างเขื่อน ซึ่งตนมองว่า เห็นมาหลายเขื่อนแล้ว สร้างเสร็จไม่มีการฟื้นฟูสักตารางนิ้วเดียว
นางระตะนะ ศรีวรกุล ที่ปรึกษาสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี จำกัด เสริมว่า จากประสบการณ์ของเขื่อนในจังหวัดปราจีนบุรี เกษตรกรมักจะถูกนำไปใช้เป็นเหตุผลในการสร้างเขื่อน แต่ปัจจุบัน เกษตรกรเหล่านั้นยังไม่ได้ใช้น้ำเลย ซึ่งที่นครนายกก็เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เวทีนี้คือเวทีเสียงของชาวบ้านที่มองว่า สิ่งสำคัญสุดคือโอกาสในชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาเพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน สร้างจนเป็นเจ้าของสวนผลไม้ ทำรีสอร์ทง่ายเพื่อท่องเที่ยวเชิงนิเวศยั่งยืน ชาวบ้านจะไม่ย้ายไปไหน ถ้าไปที่อื่นเราอาจกลายเป็นผู้ใช้แรงงาน ค่าแรกถูก ๆ ซึ่งชาวบ้านไม่ยอมแน่นอน ดังนั้น เราต้องเคารพสิทธิของชาวบ้านและไม่ละเมิดสิทธิสัตว์ ต้นไม้ และชีวิตน้อยใหญ่ที่พูดไม่ได้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง