ชวนอ่านที่มา ทำไมนกยูงถึงกลายเป็นหนึ่งในสัตว์ประจำชาติอินเดีย มีความเชื่อมโยงกับสังคม วัฒนธรรม และศาสนาอย่างไร
จากกรณีที่ “Kondam Pranay” ยูทูปเบอร์ชาวอินเดียได้โพสต์วิดีโอชื่อว่า “แกงนกยูงแบบดั้งเดิม” ลงบนโซเชียลมีเดีย ทำให้มีคนหลั่งไหลเข้าไปประณามเป็นจำนวนมาก
ขณะที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์ได้เรียกร้องไปยังแพลตฟอร์ม YouTube ว่าเหตุใดถึงอนุญาตให้เผยแพร่คลิปดังกล่าวได้ และล่าสุด ชายชาวอินเดียผู้นี้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมแล้ว ด้วยเหตุนี้ SPRiNG ชวนอ่านสถานะ และบทบาทของ “นกยูง”ทำไมถึงกลายเป็นสัตว์ประจำชาติอินเดีย
นกยูงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Peafowl (ใช้เรียกสองเพศ) ปัจจุบัน อินเดียมีประชากรนกยูงราว 100,000 ตัว
ย้อนกลับไปในปี 1963 อินเดียได้ประกาศให้นกยูงเป็นหนึ่งในสัตว์ประจำชาติ และมีสถานะเป็นสัตว์คุ้มครองตามรัฐบัญญัติสงวนพันธุ์สัตว์ป่า ปี ค.ศ. 1972 แล้วนกยูงมีความสำคัญอย่างไร เรื่องนี้มีที่มา
หนึ่งตัวละครที่ต้องรู้จักคือ “พระขันธกุมาร” ผู้มีฉายาว่ามหาเทพนักรบแห่งสวรรค์ ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรบรรยายไว้ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสงครามในศาสนาพราหมณ์ เป็นโอรสของพระอิศวร กับพระแม่อุมาเทวี
ขณะที่คำฉันท์ดุษฎีสังเวยบรรยายถึงพระขันธกุมารไว้ว่าเป็นหนุ่มน้อยที่มีพระพักตร์หมดงดงาม พระวรกายสีขาวนวล มี 6 เศียร 12 กร มีอาวุธประจำกายคือหอก ธนู และศร และมีนกยูงชื่อ “ปราวาณี” เป็นยานพาหนะ
ดังนั้น ในภาพวาด งานปั้น หรือศิลปะแขนงใดที่ทำเกี่ยวกับพระขันธกุมารจะมีนกยูงคู่กายปรากฏอยู่ด้วยเสมอ กล่าวคือนกยูงกลายเป็นสัตว์ที่ยึดโยงอยู่กับศาสนา ความเชื่อ และฝังรากในสังคมอินเดีย เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นให้จินตนาการว่ามีคนไทยอัดคลิปกินสุนัขลงยูทูป
ที่มา: นามานุกรมวรรณคดีไทย, seaworld
ข่าวที่เกี่ยวข้อง