svasdssvasds

แรงงานอินเดีย! ชีวิตที่เลือกไม่ได้ เลิกไม่ได้ อากาศร้อนก็ต้องทำงานแลกเงิน

แรงงานอินเดีย! ชีวิตที่เลือกไม่ได้ เลิกไม่ได้ อากาศร้อนก็ต้องทำงานแลกเงิน

เมืองจัมมู ประเทศอินเดีย มีอุณหภูมิสูงทะลุ 43 องศาเป็นเรื่องปกติ ทว่า แรงงานที่ทำงานคัดแยกขยะอยู่ในหลุมฝังกลบของเมืองกลับต้องยอมสูดดมมลพิษ และอากาศร้อน เพื่อแลกกับเงิน 140 บาท

SHORT CUT

  • เมืองจัมมู ประเทศอินเดีย มีจุดฝังกลบขยะขนาดมหึมา เป็นแหล่งซึ่งรวบรวมขยะหลากหลายชนิด อาทิ พลาสติก อุตสาหกรรม ทางการแพทย์
  • มีรายงานว่าแรงงานต้องกลั้นใจสูดดมมลพิษ ความร้อนที่หายใจไม่ออก และก้มหน้าก้มตาคัดแยกขยะเพื่อแลกกับค่าแรงประมาณ 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (147 บาท)
  • อุณหภูมิในเมืองจัมมูพุ่งแตะ 43 องศาจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ไม่นานมานี้ ก็เพิ่งมีการรายงานว่ามีคนเสียชีวิตจากอากาศร้อน และมีการยืนยันว่าผู้เสียชีวิตคือ “คนเก็บขยะ”

เมืองจัมมู ประเทศอินเดีย มีอุณหภูมิสูงทะลุ 43 องศาเป็นเรื่องปกติ ทว่า แรงงานที่ทำงานคัดแยกขยะอยู่ในหลุมฝังกลบของเมืองกลับต้องยอมสูดดมมลพิษ และอากาศร้อน เพื่อแลกกับเงิน 140 บาท

สำหรับบางคนอากาศร้อนก็แค่เปิดแอร์ แต่สำหรับแรงงานกลางแจ้ง ที่ต้องใช้พละกำลังไปแลกเปลี่ยนเป็น “เงิน” เพื่อหาเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัว อากาศจะร้อนแค่ไหน สิ่งเดียวที่พวกเขาเหล่านี้ทำได้คือท่องให้ขึ้นใจว่า “ทนหน่อย เดี๋ยวก็ผ่านไป” เราไม่มีวิธีใดช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้เลยงั้นหรือ

สปริงนิวส์พาไปดูกรณีของแรงงานอินเดีย ที่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนกลิ่นเหม็นเน่าจากกองขยะ และสูดดมมลพิษเข้าร่างกายทุกวัน ๆ แม้อยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้

เมืองจัมมู ประเทศอินเดีย Credit wikipedia

ขอพาทุกคนไปที่เมืองจัมมู ประเทศอินเดีย เมืองแห่งนี้มีจุดฝังกลบขยะขนาดมหึมา เป็นแหล่งซึ่งรวบรวมขยะหลากหลายชนิด อาทิ พลาสติก อุตสาหกรรม ทางการแพทย์ ขยะเหล่านี้เกิดจากประชากรในเมืองจัมมูราว 7.4 แสนคน

ขยะคือขุมทรัพย์ของแรงงานในเมืองจัมมู มีรายงานว่าแรงงานต้องกลั้นใจสูดดมมลพิษ ความร้อนที่หายใจไม่ออก และก้มหน้าก้มตาคัดแยกขยะเพื่อแลกกับค่าแรงประมาณ 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (147 บาท)

“เมื่ออากาศร้อนมาก ๆ บางครั้งเราก็หยุดพักสักสองสามนาที แต่ส่วนใหญ่เราก็ทำกันต่อจนกว่าจะไม่ไหว เพราะถ้าเราไม่ทำ เราก็จะไม่มีเงินกินข้าว” อุสมาน เชค แรงงานวัย 65 ปี กล่าว

ค่าแรงของอินเดียเป็นปัญหามายาวนาน มีรายงานว่าตั้งแต่ปี 2017 เพดานค่าแรงระดับชาติของอินเดียไม่คงที่ อาจเป็นเพราะว่ารัฐขาดความสามารถในการบังคับใช้ จนนำไปสู่ปัญหานายจ้างที่จ่ายเงินลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

อุณหภูมิในเมืองจัมมูพุ่งสูง 43 องศา Credit AFP

อีกหนึ่งเหตุผลคือสภาพอากาศที่ร้อนระอุ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย ระบุว่า อุณหภูมิในเมืองจัมมูพุ่งแตะ 43 องศาจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ไม่นานมานี้ ก็เพิ่งมีการรายงานว่ามีคนเสียชีวิตจากอากาศร้อน และมีการยืนยันว่าผู้เสียชีวิตคือ “คนเก็บขยะ”

หลุมฝังกลบอันตรายกับแรงงานในพื้นที่มากแค่ไหน?

อีกหนึ่งประเด็นที่อยากนำเสนอให้ผู้อ่านได้รับรู้ต่อเนื่องจากปัญหาด้านบนคือ “อันตรายในหลุมฝังกลบ”

ในช่วงฤดูร้อน หลุมฝังกลบจะปล่อยก๊าซ (มีเทน, คาร์บอน) ออกมามากขึ้นกว่าปกติ และบริเวณนั้นจะมีออกซิเจนต่ำ ด้วยเงื่อนไขนี้ แรงงานมีความเสี่ยงสูงมากต่อระบบหายใจ และในวันที่อากาศร้อนมาก ๆ อาจโหมให้ไฟลุกได้ ไฟไหม้เมื่อไหร่ ก็ตัวใครตัวมัน

คนงานกองขยะเสี่ยงอากาศร้อน และมลพิษ Credit AFP

ในปี 2016 อินเดียออกกฎหมายให้แยกขยะอันตรายก่อนนำไปส่งที่หลุมฝังกลบ แต่มีรายงานว่ามีการบังคับใช้อย่างหละหลวม และไม่จริงจัง ท้ายที่สุด ขยะอันตรายก็เล็ดรอดจนอาจไปสร้างอันตรายให้กับคนเก็บ หรือคัดแยกขยะได้

“กองขยะ หรือหลุมฝังกลบ” ในมุมหนึ่งเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ หากมีระบบบริหารจัดการที่ดีมากพอ แต่ถ้าหน่วยงานละเลย และไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของแรงงานเก็บขยะ บางทีแหวกกองขยะออกมาอาจเจอศพแรงงานนอนแน่นิ่งอยู่ก็ได้

 

ที่มา: AP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related