Special Report คุยต้นตอภูเขาขยะแพรกษาใหม่ Ep.1 ชวนอ่านที่มาบ่อขยะแพรกษาใหม่ จุดหมายปลายทางของขยะจากทั้งสมุทรปราการ ปัญหาที่กัดกินชีวิตชาวบ้านในพื้นที่มากว่า 20 ปี
บ่อขยะแพรกษาใหม่คือจุดหมายปลายทางของขยะจากทั้งจังหวัดสมุทรปราการ โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ปี 2565 เปิดเผยว่า สมุทรปราการมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 3,120 ตันต่อวัน
และมีปริมาณขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องมากถึง 2,530 ตันต่อวัน นี่ทำให้จังหวัดสมุทรปราการกลายเป็นจังหวัดที่มีขยะมูลฝอยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า บ่อขยะแห่งนี้มีปริมาณขยะเข้ามาราว 2,329 ตันต่อวัน และมีปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างราว 1.2 ล้านตัน โดยทุกวันจะมีขยะ 500 ตัน
กว่า 20 ปีแล้ว ที่ชาวบ้านในพื้นที่แพรกษาใหม่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับกลิ่นเหม็นเน่าจากบ่อขยะ น้ำขยะที่ไหลเกลื่อนเปื้อนถนน เรื่อยไปจนถึงเขม่าควันไฟจากเหตุเพลิงไหม้ ที่ลอยเข้าสู่อาคารบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่
ความตลกร้ายคือภาครัฐปล่อยให้ประชาชนเผชิญกับปัญหานี้มาหลายสิบปี จนเกิดเป็น “ความเคยชิน”
บทความชิ้นนี้ สปริงนิวส์ชวนหาคำตอบ “บ่อขยะแพรกษาใหม่” บริษัทใดเป็นเจ้าของ พวกเขาให้ความช่วยเหลือประชาชนหรือไม่ พร้อมกับฟังเสียงจากก้นบึ้งของหัวใจชาวแพรกษา ในวันที่กองขยะกองสูงเท่าตึก 3 ชั้น กับความหวังที่ริบหรี่ลงทุกวัน
บ่อขยะแห่งนี้ บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด ตั้งอยู่ด้านหลัง อบต.แพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ มีเนื้อที่กว่า 321 ไร่ ในบริเวณดังกล่าวมีศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ราชการ สนามกีฬา รวมถึงหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่กว่า 20 โครงการ ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ราว 200 ครัวเรือน
บนหน้าเว็บไซต์ Easternenergyplus.com ระบุข้อความว่า “ขยะชุมชนของจังหวัดสมุทรปราการ 49% เป็นขยะเปียก ประเภทเศษอาหารที่บูดเน่าง่าย ส่งกลิ่นเหม็น ถ้าทุกคนแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ที่บ้าน แล้วใช้ประโยชน์มันให้หมดไป เพื่อให้มันไม่ต้องเข้ามาที่ลานฝังกลบขยะของบริษัท EEP หรือถ้าไม่สะดวกจะทำลายเอง ก็ขนส่งขยะเปียกที่แยกต่างหากมาแล้วให้เรา เพื่อที่เราจะได้กำจัดได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ความเหม็นจากขยะที่นี่ก็จะลดน้อยลง หรือแทบไม่มีเลย” อบีนาซ มาจี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EEP Group
นอกจากนี้ นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ราชบุรี-อีอีพี รีนิวเอเบิ้ล เอนเนอจี้ จำกัด ยังระบุไว้ด้วยว่ามีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่เกิดจากการประกอบกิจการขององค์กร
อย่างไรก็ตาม บริษัท EEP ได้ติดตั้งระบบตรวจจับกลิ่นที่เรียกว่า Electronic Nose หรือ E-nose ซึ่งจะช่วยวัดว่าจุดไหนที่กลิ่นรุนแรงเกินมาตรฐาน ซึ่งหากจุดในกลิ่นรุนแรงเกินค่ามาตรฐานจะมีการแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ของฝ่ายกำจัดกลิ่นของบริษัท และเจ้าหน้าที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาในทันที อ้างอิงจากสกู๊ปข่าวจากไทยพีบีเอส เมื่อปี 2565
จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ได้ข้อมูลว่าพื้นที่แพรกษาใหม่มีมาตั้งแต่ปี 2540 โดยจุดเริ่มต้นคือมีเจ้าของที่ดินขายที่ดินขุดหน้าดินขาย เมื่อดำเนินการเสร็จก็มีเปิดให้คนมาทิ้งขยะ จากนั้นจึงมีการเจรจาขายให้กับบริษัทเอกชน
ด้วยเหตุผลนี้ ประชาชนผู้มาทีหลังจึงต้องตกอยู่ในสภาวะไร้ทางเลือก และมีสิ่งเดียวที่ทำได้คือปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองและครอบครัวให้อาศัยอยู่ร่วมกับกลิ่นเหม็นเน่าจากบ่อขยะได้ หรือไม่ก็เก็บข้าวของย้ายออกไปอยู่ที่อื่น
ทีมข่าว SPRiNG ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของประชาชนแพรกษาใหม่ว่าพวกเขาได้รับผลกระทบจากบ่อขยะอย่างไร พร้อมทั้งสอบถามวิธีปรับตัวให้อยู่รอดได้ท่ามกลางมลพิษในลมหายใจ
*หมายเหตุ: วัน และช่วงเวลาที่ทีมข่าวสปริงนิวส์ได้ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านแพรกษาใหม่นั้นเป็นโมงยามหลังฝนตก ช่วงเวลาเที่ยงวัน
ใหม่ (นามสมมติ) ผู้ประกอบการใน ซ.ขจรวิทย์ ใกล้กับกองป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ ได้เปิดเผยกับทีมข่าว SPRiNG ว่า เธอเพิ่งย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ไม่นาน ช่วงแรก ๆ ก็กังวลเรื่องกลิ่นเล็กน้อยว่าจะเป็นปัญหาไหม แต่ถือว่าโชคดีเพราะลมพัดกลิ่นจากบ่อขยะไปทางอื่นหมด
“คนอยู่ใกล้จึงค่อยได้กลิ่น แต่ในช่วงฤดูฝนช่วงที่อากาศอึมครึมแบบนี้ อาจจะมีกลิ่นลอยมาเตะจมูกบ้าง แต่พอทนได้”
ขณะที่ กลิ่น (นามสมมติ) ชาวบ้านใน ซ.ขจรวิทย์ เปิดเผยว่าสมัย 10 กว่าปีที่แล้ว กลิ่นขยะรุนแรงกว่านี้มาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีกลิ่นแล้ว เพราะมีการใช้สเปรย์อะไรสักอย่างฉีดไปที่ขยะ มันเลยไม่มีกลิ่นมารบกวนเท่าไร
หลังจากพูดคุยกับชาวบ้านบริเวณ ซ.ขจรวิทย์ ทีมข่าวสปริงนิวส์เดินทางไปยัง “พฤกษาวิลเลจ” โครงการบ้านจัดสรร ซึ่งอยู่ห่างจากบ่อขยะแพรกษาใหม่ราว 1-2 กิโลเมตร แหล่งข่าวเปิดเผยกับสปริงนิวส์ว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในโครงการนี้ได้รับผลกระทบจากเรื่องกลิ่นมากที่สุด
พฤกษาวิลเลจถูกล้อมรอบด้วยรั้วคอนกรีต ความสูงประมาณ 1 เมตร ทว่า ชาวบ้านในโครงการนี้ยังสามารถมองเห็นภูเขาขยะแพรกษาใหม่ได้อย่างชัดเจน
ฉุน (นามสมมติ) ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพฤกษาวิลเลจมา 4-5 ปี เปิดเผยว่า ซื้อบ้านหลังนี้มาโดยไม่รู้มาก่อนว่ามีบ่อขยะอยู่ใกล้ ๆ ช่วงแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่ ก็คิดเลยว่าน่าจะอยู่ไม่ได้
“กลิ่นมันเหม็นมากครับ ยิ่งช่วงนี้ฝนตกกลิ่นมันจะยิ่งแรงมาก แต่วันธรรมดาที่ฝนไม่ตกกลิ่นก็ลอยมาบ่อยนะครับ วัน ๆ ก็ต้องมาคอยดูทิศทางลม แล้วลุ้นว่าขออย่าให้ลมพัดมาทางนี้”
“ก่อนหน้านี้ก็มีหน่วยงาน (เทศบาล) เข้ามาถามเหมือนกันว่าเจอปัญหาอะไรบ้าง แต่เขาก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไร ถามว่ารู้สึกยังไงกับกลิ่นเหม็นพวกนี้ ผมคิดว่าตัวผมและคนระแวกนี้น่าจะคิดเหมือนกันคือชินแล้วครับ”
“ผมเลยแก้ปัญหาด้วยการซื้อเครื่องฟอกอากาศมาไว้ในบ้าน ผมว่าแถวนี้เขาน่าจะมีเครื่องฟอกอากาศกันทุกบ้านนะ แต่มันก็กินเงินเราไปเยอะเหมือนกัน อย่างบ้านผมค่าไฟต่อเดือนประมาณ 4 – 5 พันบาท”
ชิน (นามสมมติ) ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพฤกษาวิลล์มา เปิดเผยว่า แม่ของเขาได้ซื้อบ้านหลังนี้เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว และไม่ทราบว่าบริเวณนี้อยู่ใกล้กับบ่อขยะ เฉกเช่นคนอื่น ๆ ที่ซื้อบ้านในโครงการนี้
“แต่เราจะทำอะไรได้ บ้านก็ซื้อไปแล้ว จะย้ายก็ไม่ได้ ก็ต้องทนอยู่ไปแบบนี้ จากสมัยก่อนที่มาแค่มากลิ่น แต่ตอนนี้เรามองเห็นเป็นวิวหน้าบ้านเลย โชคดีหน่อย ทุกวันนี้ที่มีต้นไม้มาบังไว้ให้”
“เวลากลิ่นมาผมก็จะปิดประตู ปิดกระจก แต่พอเปิดออกมากลิ่นมันตีหน้าเข้ามาเลย หรือบางทีห้องแม่ผมที่ชั้นสองปิดหน้าต่างอย่างดี คิดว่าไม่มีช่องให้กลิ่นเข้ากลิ่นมาได้แล้ว มันก็ยังโชยเข้ามาได้”
“มีครั้งหนึ่งแม่ผมเขานึกว่าลืมปิดประตูบ้าน แต่พอเดินไปดูมันก็ปิดแล้วนี่หว่า มันเอาไม่อยู่อ่ะครับ บ้านผมเลยแก้ปัญหาด้วยการมีสเปรย์หอมเสียบปลั๊กติดเอาไว้ทุกมุมของบ้านเลย”
“จริง ๆ ก็อยากให้มันหายไปนะ แต่นี่มันคือบ่อขยะของคนทั้งสมุทรปราการ โจทย์มันยาก อย่างที่บอกไปว่าช่วง 10 ปีก่อน มันยังเป็นบ่อขยะเล็ก ๆ แต่ตอนนี้มันกองสูงขนาดนี้แล้ว พี่คิดว่าความหวังของผมมันจะเหลืออยู่สักเท่าไหร่”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง